ไอมีเสมหะ เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย และพบบ่อยมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง วันนี้ GED good life จะพาไปทำความรู้จักกับอาการไอชนิดมีเสมหะให้มากขึ้น ว่ามีสาเหตุ อาการ และวิธีกำจัดเสมหะอย่างได้ผล!
- อาการไอหลังกินข้าว ทั้งไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ เกิดจากสาเหตุอะไร?
- ระวัง! ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย มีไข้ อาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดลมอักเสบ
- ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง (ไม่มีเสมหะ) แตกต่างกันอย่างไร?
อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ (Cough) เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนและล่างได้รับสิ่งกระตุ้น หรือมีสารระคายเคืองไปรบกวนที่ตัวรับสัญญาณการไอ* ทำให้มีการส่งสัญญาณไปที่สมองบริเวณเมดุลลา (Medulla) ส่วนควบคุมการไอ และส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกระบังลม เกิดการตีบแคบของหลอดลม จึงเกิดอาการไอขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ และสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ
*ตัวรับสัญญาณการไอ (Cough receptor) ได้แก่ ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู, จมูก, โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส, โพรงหลังจมูก, คอหอย, กล่องเสียง, หลอดลม, ปอด, กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด
เสมหะ คืออะไร?
เสมหะ หรือ เสลด (Phlegm) // เสมหะในคอ (Chronic secretion in the throat) คือ สารคัดหลั่ง ข้นเหนียวเหมือนเมือก ที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
เสมหะ ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 1 ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอินทรีย์ (inorganic)
ไอมีเสมหะ เกิดจากสาเหตุใด?
อาการไอมีเสมหะ เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้มากมายเลยทีเดียว เพราะโรคของระบบทางเดินหายใจและปอด แทบทุกโรคทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งสิ้น โดยอาการไอสามารถแยกสาเหตุ ได้ดังนี้
– เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษ หรือ PM2.5 มาก รวมถึงการใช้เสียงผิดวิธีก็สามารถสร้างเสมหะในคอได้
– เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่น เชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ จนเกิดเสมหะขึ้นมาได้
– เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
– เกิดจากอาชีพ เช่น อาชีพที่ต้องสัมผัสสารเคมีเป็นประจำ อาชีพที่ต้องสัมผัสกับควันธูป ควันรถเป็นประจำ
– เกิดจากการใช้ยา เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (ACE inhibitor)
สีของเสมหะ อาจนำมาใช้วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ในเบื้องต้น ได้ดังนี้
เสมหะสีใส – โรคภูมิแพ้ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ
เสมหะสีขาว – โรคหลอดลมอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว
เสมหะสีเขียว หรือเหลือง – โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ
เสมหะสีแดง – เป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งปอด โรคฝีในปอด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และวัณโรค
เสมหะสีน้ำตาล – อาจมีเลือดเก่าที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย ได้ปะปนออกมาพร้อมกับเสมหะ อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคพยาธิในปอด โรคฝีในปอด และโรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) ที่เกิดจากการหายใจนำเอาฝุ่นเข้าไปในปอดเป็นจำนวนมาก
เสมหะสีดำ – โรคฝีในปอด โรคฝุ่นจับปอด โรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา รวมถึงการสูบบุหรี่
หากไอมีเสมหะรุนแรงกว่าปกติ เช่น ไอมีเลือดออกมาพร้อมเสมหะ ไอจนนอนไม่หลับ เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที
การกำจัดเสมหะด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างได้ผล
การกำจัดเสมหะด้วยอาหาร
1. กินอาหารให้เหมาะสม
ผู้ที่มีเสมหะภายในลำคอมาก ควรเลือกกินอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน เช่น แกงส้ม ต้มยำ แกงเลียง แกงแค ส้มตำ ยำ หรือน้ำพริก เนื่องจากความเผ็ดร้อนจากเครื่องสมุนไพรไทยที่นำมาประกอบอาหาร มีฤทธิ์ช่วยขับเสมหะ และช่วยให้ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารมัน ๆ ทอด ๆ เพราะจะกระตุ้นให้ยิ่งมีเสมหะ และมีอาการไอหนักรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้หลีกเลี่ยงขนมหวานต่าง ๆ เช่น เค้ก ไอศกรีม โดนัท ช็อกโกแลต กะทิ ครีมเทียม อาหารที่มีส่วนผสมจากน้ำตาล และไขมัน
2. กินอาหารที่ให้วิตามินซีสูงเพิ่มภูมิต้านทาน
การที่เรามีเสมหะ หรือมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นหวัด ภูมิแพ้อากาศ เพราะภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอ ควรเลือกกินอาหารที่ให้วิตามินซีสูงจากผักผลไม้รสเปรี้ยว หรือวิตามินซีเม็ดเสริมแทน เพื่อเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจทำให้เป็นหวัดได้สูงขึ้น
การกำจัดเสมหะด้วยสมุนไพร
1. จิบน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งอุ่น ๆ เป็นประจำ
น้ำผึ้งมีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ คุณค่าจากน้ำผึ้ง และน้ำมะนาวมาผสานตัวรวมกันมีฤทธิ์กลายเป็นยา ช่วยบรรเทาอาการไอ สามารถต่อต้านการสะสมเชื้อแบคทีเรีย ช่วยฆ่าเชื้อ และลดอาการอักเสบระคายเคืองคอ สารจากน้ำผึ้งยังมีส่วนช่วยให้เสมหะอ่อนตัวง่าย การขับเสมหะก็จะยิ่งง่ายขึ้นด้วย
2. สูดไอน้ำที่ผสมน้ำมันหอมระเหย
ต้มน้ำเดือดมาเทลงในชามใหญ่ หยดน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงไป เช่น กลิ่นคาโมมายล์ กลิ่นมะนาว ส้มหรือยูคาลิปตัส ฯลฯ คลุมศีรษะด้วยผ้าผืนใหญ่แล้วอังหน้าบนชามร้อน ๆ นั้น พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ เพื่อให้กลิ่นไอของน้ำมันหอมระเหยได้เข้าไปยังหลอดลม จะช่วยกระตุ้นให้ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น เสมหะก็จะละลายง่าย และถูกขับออกมาง่ายยิ่งขึ้นด้วย
3. อบด้วยสมุนไพรไทย
การอบด้วยสมุนไพรไทย หรือสูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากตัวสมุนไพรเข้าสู่ปอด จะช่วยให้ระบบทางเดินทางใจโล่งขึ้น ใช้เวลาอบนาน 5-10 นาที นั่งพักให้ตัวเย็นแล้วจึงกลับเข้าไปนั่งอบใหม่ ให้ทำ 3 รอบ หลังจากอบเสร็จแล้วให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว เพื่อให้เกิดอาการไอ และขับเอาเสมหะออกมา ก็จะทำให้หายใจโล่งขึ้น
การกำจัดเสมหะด้วยยา
กลุ่มยาที่ใช้ในการกำจัดเสมหะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
เป็นยาที่ใช้เพื่อออกฤทธิ์ทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวอยู่กับมูก เสมหะจึงมีลักษณะเหนียวข้นน้อยลง ฤทธิ์ของยาจะเข้าไปย่อยโปรตีน หรือมีปฏิกิริยาทางเคมีที่จะช่วยทำลายเสมหะเหนียวข้นกระทั่งเปลี่ยนให้ใสขึ้นได้ อีกทั้งความเหนียวหนืดก็จะลดลงจนทำให้การขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. ยาขับเสมหะ (Expectorants)
เป็นยาที่ออกฤทธิ์เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมูก เสมหะจึงมีลักษณะเหนียวข้นลดน้อยลง รวมทั้งยังช่วยให้การขับเสมหะออกจากร่างกายในระหว่างที่ไอได้ง่ายยิ่งขึ้น
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดเสมหะ
“เสมหะ” แม้ไม่รุนแรงแต่ก็สร้างความรำคาญในการดำเนินชีวิตในประจำวันได้ มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นผักผลไม้ที่ให้วิตามิน ดื่มน้ำอย่างเพียงพอวันละ 8-10 แก้ว ออกกำลังกายอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และควรหาสาเหตุของอาการไอให้เจอ แล้วแก้ไขที่สาเหตุ จะเป็นการรักษาอาการไอที่ดีที่สุด
อาการไอที่ควรไปพบแพทย์
อาการไอบางชนิดอาจแสดงถึงโรคร้าย หรือเป็นอันตรายรุนแรงได้ ควรปรึกษาแพทย์ เช่น
- ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก ไอจนนอนไม่หลับ
- การไอร่วมกับอาการหายใจวี้ด (โรคหืด)
- อาการเหนื่อยเจ็บแน่นหน้าอก (หัวใจล้มเหลว)
- อาการไข้ และเสมหะมีเลือด (วัณโรค)
- อาการจุกเสียดแน่นท้อง และปวดท้อง หรืออาการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วผิดปกติ
- ไอติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์
อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1/2 2. รพ.กรุงเทพ 1/2