ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่มีความสุขเวลาที่เห็นลูกตัวเองดื้อ พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง แต่ด้วยวัยที่ยังควบคุมตัวเอง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เมื่อลูกดื้อขึ้นมา คงต้องหาทางปรับพฤติกรรมลูกให้เข้าร่องเข้ารอย หนึ่งในวิธีที่หลายคนงัดออกมาใช้ ลองทำกันดู คือ การทำ Time Out แต่การทำ Time Out ที่ถูกต้องนั้นมีขั้นตอน และมีเทคนิคอย่างไรให้ได้ผล มาลองดูกัน
การทำ Time Out คืออะไร?
วิธีการใช้ Time Out หรือการเข้ามุมกับลูก เป็นหนึ่งในวิธีการปรับพฤติกรรมลูกที่มีพฤติกรรมรุนแรง เรียกร้องความสนใจ โดยหากลูกมีพฤติกรรมคุกคาม ก้าวร้าวรุนแรง การทำ Time Out คือพ่อแม่ต้องเพิกเฉยกับพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจนั้น ให้ลูกสงบสติอารมณ์โดยไม่สนองตอบต่อลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจนี้ไม่ได้ผล
ระวังการใช้ Time Out
การปรับพฤติกรรมแบบ Time Out อาจจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต้องจำไว้ว่าTime Out ไม่ใช่การ “ลงโทษ” หรือปล่อยลูกให้โดดเดี่ยวจากสังคม แต่เป้าหมายของการทำ Time Out คือการพาลูกออกไปจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ที่รู้สึกสับสนจัดการอารมณ์ไม่ได้ เพื่อให้ลูกสงบสติอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง
บ่อยครั้งลูกไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก้าวร้าวได้ แต่เคยชินกับการทำ Time Out เมื่อเวลาทำผิดก็เดินเข้ามุม แต่ไม่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำผิดอะไร เพราะพ่อแม่ยังไม่จริงจังกับการทำ Time Out หรือมีคนในบ้าน ปู่ย่าตายายคอยโอ๋ ทำให้ทำ Time Out ไม่สำเร็จสักที
การแยกลูกออกไปต้องไม่ให้เด็กอยู่คนเดียว แต่ต้องเป็นจุดที่ยังมองเห็นกัน และกันได้ และเป็นที่ที่ปลอดภัยกับลูก เพราะถ้าลูกโดนทิ้งไว้ในห้องคนเดียวอาจทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกหวาดกลัวว่าจะโดนทอดทิ้งได้
5 ขั้นตอน Time Out อย่างไรให้ได้ผล
1. เลือกช่วงอายุให้เหมาะสม การทำ Time Out สามารถเริ่มใช้ได้กับเด็กเล็กตั้งแต่ 9 เดือน เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ตีแม่ ขว้างปาข้าวของ แต่ส่วนใหญ่เราอาจจะใช้กับเด็กที่พอฟัง เข้าใจภาษาบ้างแล้วคืออายุประมาณ 1-2 ขวบขึ้นไป
2. แยกลูกเข้ามุมสงบ เมื่อลูกทำผิด หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่เชื่อฟัง ให้พ่อแม่ใช้คำพูดประโยคสั้น ๆ เช่น “ทำร้ายคนอื่น Time Out” “ขว้างปาของเล่น Time Out” แล้วพาลูกแยกลูกเข้ามุมสงบ ถ้าเด็กเล็กให้อยู่ในคอกกั้นเด็ก แต่ถ้าโตแล้วให้นั่งที่เก้าอี้ รอจนกว่าลูกจะหยุดร้อง โวยวาย หรือสงบลงได้
3. ห่างกันสักพัก แยกให้ลูกนั่งในบริเวณที่ยังเห็นพ่อแม่อยู่ ไม่ใช่ทิ้ง หรือขังให้อยู่ในห้องอื่นคนเดียว ต้องเป็นจุดที่พ่อแม่ยังต้องมองเห็นลูกได้ตลอดเวลา ส่วนพ่อแม่ควรสงบนิ่ง ไม่บ่น โวยวาย ไม่แสดงอารมณ์โกรธออกมา แต่ทำกิจวัตรประจำวันปกติ
การแยกลูกออกไปไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกสงบสติอารมณ์เท่านั้น เป็นการช่วยให้พ่อแม่ควบคุมระงับอารมณ์ด้วย เพราะบางครั้งพ่อแม่ก็คุมตัวเองไม่อยู่เหมือนกัน ดังนั้นขอเวลาห่างกันสักพักคงจะดี
4. รออารมณ์สงบ เมื่อหยุดโวยวายสักพักถึงจะเรียกให้เรียกลูกออกมาได้ บอกว่า “ลูกอารมณ์ดีแล้วใช่ไหม ออกมากอดกับแม่หน่อย” เพราะการนิ่ง การสงบแสดงว่าลูกระงับอารมณ์ คุมสติตัวเองได้แล้ว
5. Time-in โอบกอด พูดคุยด้วยเหตุผล เมื่อลูกควบคุมอารมณ์ได้แล้ว ให้พ่อแม่โอบกอดลูก แล้วคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที เพื่อเป็นการสะท้อนอารมณ์ ใช้น้ำเสียงท่าทางอย่างอ่อนโยน ไม่เสียดสี ไม่ประชดประชัน คุยกันด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่พ่อแม่ก็ยังรักหนูเสมอ พ่อแม่อยากให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะได้เป็นเด็กที่น่ารักสำหรับทุกคน
“Expert ดีดี” ไอ หวัด ปวดท้อง อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!