การดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และสุขนิสัย ในเด็กแรกเกิด ถึง ช่วงอายุ 5 ขวบ เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ และใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก… มาดูกันเลยว่า วิธีดูแลเด็ก 1-5 ปี มีอะไรที่พ่อแม่ควรรู้ และมีวัคซีนอะไรบ้างที่เด็ก ๆ ควรได้รับในแต่ละวัย ข้อมูลโดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
วิธีดูแลเด็ก อายุ 1 ขวบ
การเลี้ยงดู
– รัก ดูแลใกล้ชิด เอาใจใส่ต่อตัวเด็ก สังเกต และตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม ไม่ตามใจ
– จัดการปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย และฝึกวินัยเชิงบวกให้แก่เด็กโดยไม่ใช้วิธีรุนแรงในการลงโทษเด็ก ให้เบี่ยงเบนความสนใจการฝึกให้เด็กสงบ และชมเชยเมื่อเด็กทำดี
– เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเล่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับวัย ให้เด็กมีโอกาสออกไปเล่น หรือพบปะกับเด็กอื่น ๆ โดยที่จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อการเล่น และเรียนรู้ของเด็ก
– ฝึกให้เด็กทำตามกติกาง่าย ๆ ภายในครอบครัว และทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เช่น การกิน การนอน กำหนดเวลาสำหรับการเล่น เป็นต้น หลีกเลี่ยงการให้เด็กดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกม แต่ควรเสริมกิจกรรมการเล่น ที่มีการพูดคุยกัน และการอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง
– การที่เด็กกลัวคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องปกติ และจะกลัวลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น แสดงความต้องการของตัวเองมากขึ้น
ส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี
– ฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันเป็นเวลา เช่น เข้านอน กินอาหาร เป็นต้น ให้เลิกนมในเวลากลางคืน
– ให้อาหารหลัก 3 มื้อต่อวัน ควรเป็นอาหารนิ่ม ชิ้นเล็ก เคี้ยวง่าย ไม่บดละเอียด เพื่อให้เด็กฝึกเคี้ยว อาหารมีหลากหลาย มีธาตุเหล็กเพียงพอ และนม 2-3 มื้อต่อวัน ถ้ายังกินนมแม่ควรให้กินต่อ ถ้ากินนมผสมเด็กวัยนี้ สามารถใช้ได้ทั้งนมสูตรต่อเนื่อง หรือนมผงครบส่วน ให้เด็กใช้ช้อนตักอาหารเอง ดื่มน้ำจากแก้วเอง ไม่ควรบังคับเด็กให้กิน
– ดูแลสุขภาพฟัน ใช้แปรงสีฟันขนนิ่ม แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ควรแปรงด้วยน้ำเปล่า ยังไม่ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และควรหลีกเลี่ยงนมรสหวาน
ป้องกันอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยง
ระวังเรื่องพลักตกจากที่สูง การกระแทก และการล้ม โต๊ะ ทีวี ตู้วางของต้องวางบนพื้นราบ มั่นคง ควรใส่อุปกรณ์กันกระแทกที่มุมขอบทุกมุม
– ควรมีประตูกั้นที่บันได ซึ่งสามารถเปิดเข้าหาตัวได้ทิศทางเดียว และใส่กลอนไว้เป็นประจำ เพื่อป้องกันเด็กไม่ให้ปีนป่ายบันได หากราวบันไดมีช่องห่างเกิน 9 เซนติเมตร ควรทำที่กั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กลอดผ่านได้
– ระวังอันตรายจากน้ำร้อนลวกและไฟฟ้า โดยอย่าวางของร้อนบนพื้น เช่น หม้อน้ำแกง ควรมีประตูกั้น เพื่อมิให้เด็กเข้าไปในบริเวณห้องครัว ติดตั้งปลั๊กไฟสูง 1.5 เมตร หรือใช้อุปกรณ์ปิดปลั๊กไฟ
– ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่นที่มีขนาดเล็ก หรือของเล่นประเภทลูกบอลเล็ก ลูกแก้ว เชือกยาว
– ไม่ควรให้เด็กกินอาหารแข็งชิ้นเล็ก เช่น ถั่ว ลูกอม เป็นต้น เก็บสารต่าง ๆ ในบ้านที่อาจก่อพิษแก่เด็กให้มิดชิด
– ห้ามให้เด็กนั่งเล่นน้ำโดยลำพังในอ่างน้ำ กั้นรั้ว กั้นประตูไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
– การโดยสารรถยนต์อย่างปลอดภัย ควรใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะกับอายุ โดยติดตั้งที่เบาะหลัง อย่าทิ้งเด็กไว้ในรถคนเดียว เพราะความร้อนภายในรถจะทำให้เกิดอันตรายได้ เด็กที่โดยสารรถจักรยาน ควรมีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก และเด็กควรสวมใส่หมวกนิรภัย
วัคซีนสำหรับเด็กวัย 18 เดือน
– ฉีดวัคซีน คอตีบ โปลิโอ บาดทะยัก (DPT4, OPV4) และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี เข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ (หากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 1 ปี)
– สำหรับวัคซีนเสริม อาจให้วัคซีนคอตีบ-ไอกรนชนิดไร้เซลล์-บาดทะยัก วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนป้องกันโรคสุกใสเข็มที่ 1 (หากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 1 ปี) วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งปกติจะให้ปีละครั้ง โดยในปีแรกฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์)
– อาจให้ยาลดไข้ เพราะวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก มีผลข้างเคียงให้เกิดไข้ และร้องกวนได้
- วัคซีนเด็ก ไขข้อข้องใจทุกเรื่องที่พ่อแม่อยากรู้
- โรคไอกรน โรคที่พ่อแม่ต้องรู้ อันตรายถึงชีวิตลูกน้อย!
- ไข้หวัดใหญ่ อันตรายใกล้ตัวของคนไทย!
วิธีดูแลเด็ก อายุ 2 ขวบ
การเลี้ยงดู
– รัก เอาใจใส่ต่อตัวเด็ก ตอบสนองพอเหมาะ ไม่ตามใจ เน้นการช่วยเหลือตนเอง สร้างกฎเกณฑ์กติกาให้เหมาะสมตามวัย และจัดระเบียบวินัยในกิจวัตรประจำวัน
– สร้างความเข้าใจเรื่องพื้นฐานอารมณ์ และการแสดงออกทางพฤติกรรม เพราะเด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น แต่พูดได้ไม่ดีนัก จึงทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย มีโอกาสแสดงพฤติกรรมกรีดร้อง ดิ้นกับพื้นเมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการ
ส่งเสริมทักษะสำคัญ
– ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านโดยเฉพาะทางด้านภาษา ผ่านการเล่น การเล่า อ่านิทานรูปภาพ เน้นให้ช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด และช่วยให้เด็กหัดพูดบอกความต้องการแทนการอาละวาด ฝึกให้รับผิดชอบตนเอง และทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น เช่น กินอาหาร อาบน้ำ นั่งกระโถน แต่งตัว เป็นต้น
– ฝึกระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต โดยกำหนดเวลากินอาหาร นอน เล่นให้เป็นเวลา เมื่อเด็กทำได้ ควรชื่นชม การลงโทษควรใช้วิธีเพิกเฉย หรือตัดสิทธิ์ และหลีกเลี่ยงการตี
ส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 10-12 ชั่วโมงต่อวัน
– แนะนำเรื่องอาหารที่เหมาะสมกับวัย โดยเน้นอาหาร 5 หมู่ เป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ร่วมกับดื่มนมรสจืดเป็นอาหารเสริมมื้อละ 6-8 ออนซ์ วันละ 2-3 มื้อ นำเสนออาหารหลากหลายที่มีคุณค่า โดยให้เด็กได้เลือกเอง
– ดูแลสุขภาพฟัน โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน หัดดื่มนม หรือน้ำจากถ้วย แปรงฟันด้วยยาสีฟัน วันละ 2 ครั้ง
– ฝึกให้ขับถ่ายให้นั่งกระโถน โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจ
ป้องกันอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยง
– กำหนดเวลาดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ และจอทุกประเภท ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน โดยเลือกรายการให้เหมาสมกับวัย ควรนั่งดูร่วมกับเด็ก มีการพูดคุยชี้แนะ และควรใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน
– ป้องกันอันตรายจากการพลัดตกหกล้ม การชนกระแทก การจมน้ำ สัตว์กัด น้ำร้อนลวก อันตรายจากไฟฟ้า อุบัติเหตุจราจร ถ้ามีสารพิษ ควรเก็บให้พ้นสายตาเด็ก
– เริ่มสอนให้เด็กรู้จักอันตราย และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้แหล่งน้ำ
– จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น โต๊ะทีวี ตู้วางของต้องวางมั่นคง ไม่ล้มง่าย เมื่อเด็กโหน หรือปีนป่าย ตรวจสอบความมั่นคงของประตูรั้วบ้าน ประตูเลื่อนซึ่งมีขนาดใหญ่
– ไม่ให้เล่นกับสุนัขจรจัด ลุนัขเลี้ยงที่ไม่รู้จัก และลูกสุนัขแรกเกิดที่มีแม่อยู่ด้วย ไม่ให้รังแกสัตว์ เช่น ดึงหู ดึงหาง แย่งจานอาหาร และของเล่นของสัตว์
วัคซีนสำหรับเด็กวัย 2 ขวบ
– ฉีดวัคซีน วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี เข็มที่ 3 ถ้าเด็กได้เข็มแรกเมื่ออายุ 1ขวบ
– สำหรับวัคซีนทางเลือก อาจให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สุกใส นิวโมคอคคัส (หากยังไม่ได้รับ)
- สอบถามปัญหาสุขภาพลูกน้อย
- รีวิว วิตามินรวมนูโทรเพล็กซ์ ยืนหนึ่งในใจแม่ ตัวช่วยเมื่อลูกกินยาก มีปัญหาขับถ่าย
วิธีดูแลเด็ก อายุ 3 ขวบ
การเลี้ยงดู
– ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน รัก ใกล้ชิด และไม่ตามใจ เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก สื่อสารเชิงบวก ไม่พูดคำหยาบคาย สอนให้ใจเย็น รอคอย ควบคุมอารมณ์ได้ หากไม่พอใจ
– ส่งเสริมให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีส่วนร่วมในการคิด เลือก และตัดสินใจในบางเรื่อง ให้เรียนรู้ โดยใช้วิธีลองผิดลองถูก
– สร้างกติกาให้เหมาะสมตามวัย และจัดระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน การลงโทษ ควรใช้วิธีเพิกเฉย หรือตัดสิทธิ์ และหลีกเลี่ยงการตี
ส่งเสริมทักษะสำคัญ
– ส่งเสริมการอ่านหนังสือนิทาน ทำกิจกรรมวาดรูป เล่นร่วมกับคนอื่น และออกกำลังกายกลางแจ้ง
– ฝึกควบคุมอารมณ์โกรธเบื้องต้น ส่งเสริมให้พี่น้องเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน ปรับตัวเข้าหากัน
– ฝึกให้ช่วยเหลืองานบ้านง่าย ๆ เช่น เก็บของเล่น ของใช้ ให้รับผิดชอบตนเอง
– ฝึกระเบียบวินัยในกิจวัตรประจำวัน เช่น กำหนดเวลากิน นอน เล่นให้เป็นเวลา
ส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
– ให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันเด็กอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง และผู้ปกครองควรแปรงซ้ำอีกรอบ
– ฝึกให้ขับถ่ายเป็นเวลา ฝึกเด็กให้มีส่วนร่วมช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด
– เน้นการออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
– ให้อาหาร 5 หมู่ เป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ร่วมกับ ดื่มนมรสจืดเป็นอาหารเสริม วันละ 2-3 แก้ว และหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน
– ให้เลิกดูดขวดนม สร้างวินัยในการกิน และหัดให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง จัดสิ่งแวดล้อมในการกินที่ดี
ป้องกันอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยง
– ใช้สื่อผ่านจอทุกชนิด รวมแล้วไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ควรเลือกรายการให้เหมาะกับเด็ก และนั่งดูร่วมกัน เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ชี้แนะ ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก
– ให้พ่อแม่อยู่ใกล้ชิด จัดบ้าน และบริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากการพลัดตกตกล้ม ชน กระแทก จมน้ำ สารพิษ สัตว์กัด ความร้อนลวก และอันตรายจากไฟฟ้า เก็บสิ่งของอันตราย เช่น ปืน สารเคมี ยา ในที่ปลอดภัยให้พ้นสายตา และมือเด็ก
– สอนให้ระวังภัยจากคนแปลกหน้า และวิธีแก้ไขสถานการณ์ง่าย ๆ
– ควรใช้หมวกนิรภัย และที่นั่งนิรภัย เมื่อต้องโดยสารยานพาหนะ
วัคซีนสำหรับเด็กวัย 3 ขวบ
สำหรับวัคซีนทางเลือกอาจให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สุกใส ตับอักเสบเอ (หากยังไม่ได้รับ)
- ลูกกินน้อย กินยาก ไม่กินผัก Nutroplex วิตามินรวมสำหรับเด็กช่วยได้
- รวมวิธีฝึกลูกน้อยให้ใช้ เทคโนโลยี แต่พอดี : โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
วิธีดูแลเด็ก อายุ 4 ขวบ
การเลี้ยงดู
– ใกล้ชิด และให้เวลากับเด็ก เพื่อเพิ่มโอกาสในการที่เด็กจะซึมซับพฤติกรรม ค่านิยม และจริยธรรมจากพ่อแม่
– ตอบสนองพฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็ก โดยการสร้างแรงจูงใจ และแรงเสริม
– การกำหนดตารางเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน จะช่วยให้เด็กปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น และพ่อแม่ควรคาดหวังอย่างเหมาะสมตามวัยของเด็ก
ส่งเสริมทักษะสำคัญ
– เตรียมความพร้อมเพื่อไปโรงเรียน ช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การเข้าห้องน้ำ การแต่งตัว
– ได้เล่นกับเด็กอื่น ๆ และออกกำลังกาย / วิ่งเล่นทุกวัน
– ใช้มือ – ตา ในการทำงานประสานกันได้ เช่น ใช้ดินสอขีดเขียน วาดรูป ระบายสี
– จัดการอารมณ์ตนเองได้ ให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา รอคอย และแบ่งปัน
ส่งเสริมสุขนิสัย และโภชนาการที่ดี
– ให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันเด็ก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว และพ่อแม่ควรแปรงซ้ำอีกรอบ
– จัดให้นอน 11-12 ชั่วโมงต่อวัน และนอนกลางวัน เด็กบางคนอาจไม่นอนกลางวัน
– สร้างบรรยากาศการเข้านอนที่สงบ มีวินัยตามเวลา โดยผ่านกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานกับเด็ก
– เน้นอาหารที่เหมาะสมกับวัย อาหาร 5 หมู่ เป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ดื่มนมสดรสจืด เป็นอาหารเสริมวันละ 2-3 แก้ว
– ใช้สื่อผ่านจอทุกชนิดรวมแล้วไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมอื่น หรือเล่นกับคนอื่น
ป้องกันอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยง
– ให้เด็กใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับวัยที่เบาะหลังของรถยนต์ การโดยสาร รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยเสมอ
– ห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถเพียงลำพังเด็ดขาด
– สอนเด็กเกี่ยวกับการระวังอันตราย ขณะข้ามถนน แต่ไม่อนุญาตให้เด็กข้ามถนนเอง
– สอนเด็กให้ระวังคนแปลกหน้า การป้องกันตนเองจากการถูกล่วงละเมิด สอนเด็กเกี่ยวกับอวัยวะจากการถูกล่วงละเมิด สอนเด็กเกี่ยวกับอวัยวะที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ไม่ควรให้คนอื่นมาสัมผัส เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่อยู่ในร่มผ้า
วัคซีนสำหรับเด็กวัย 4 ขวบ
– ให้วัคซีนพื้นฐาน ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-ไอกรนชนิดเต็มเซลล์-บาดทะยักเข็มที่ 5 วัคซีนโปลิโอชนิดกิน ครั้งที่ 5 และวัคซีนโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันเข็มที่ 2
– สำหรับวัคซีนทางเลือก อาจให้วัคซีนคอตีบ ไอกรนชนิดไร้เซลล์บาดทะยัก วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือวัคซีนรวมสุกใส และหัด-คางทูม-หัดเยอรมันเข็มที่ 2 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
– อาจให้ยาลดไข้ เพราะวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก มีผลข้างเคียงให้มีไข้ และร้องกวนได้
วิธีดูแลเด็ก อายุ 5 ขวบ
การเลี้ยงดู
– พ่อแม่ควรใกล้ชิด และให้เวลากับเด็ก จะทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรม ค่านิยม และจริยธรรมจากพ่อแม่
– ควรตอบสนองพฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็ก โดยการสร้างแรงจูงใจ และแรงเสริมมากกว่าตอบสนองต่อพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก
ส่งเสริมทักษะสำคัญ
– การปรับตัวของเด็ก ในการเรียนในโรงเรียนอนุบาล
– เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่น และสำรวจในบริเวณบ้าน และรอบ ๆ บ้านอย่างอิสระปลอดภัย โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแล
– การกำหนดตารางเวลากิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน พ่อแม่ควรคาดหวังอย่างเหมาะสมตามวัยของเด็ก และให้เด็กช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด
– จัดการอารมณ์ตนเองได้ ให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา รอคอย และแบ่งปัน
ส่งเสริมสุขนิสัย และโภชนาการที่ดี
– ให้อาหารหลัก 3 มื้อต่อวัน มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มนมสดรสจืด วันละ 2-3 แก้ว สร้างวินัยในการกินให้เป็นเวลา
– งดนม / น้ำ ช่วงกลางคืน ไม่ควรให้กินอาหาร ขนม น้ำรสหวาน หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็มจัด
– ให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันเด็ก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว
– มีการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว
– ส่งเสริมให้เด็กนอนหลับได้ด้วยตัวเอง
ป้องกันอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยง
– เริ่มหัดว่ายน้ำได้ ดูแลความปลอดภัย โดยป้องกันอุบัติเหตุจากเครื่องไฟฟ้า สัตว์เลี้ยง ถนน สนามเด็กเล่น
– ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กโต โดยนั่งเบาะหลังของรถยนต์ การโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยเสมอ
– ฝึกให้ขี่จักรยานเมื่ออายุมากกว่า 5 ปี อย่างถูกวิธี และปลอดภัย ส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ใช้จักรยาน
– สอนเด็กเกี่ยวกับการระวังอันตรายขณะข้ามถนน แต่ไม่อนุญาตให้เด็กข้ามถนนเอง
– สอนเด็กให้ระวังคนแปลกหน้า การป้องกันตนเองจากการถูกล่วงละเมิด สอนเด็กเกี่ยวกับอวัยวะที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ไม่ควรให้คนอื่นมาสัมผัส เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่อยู่ในร่มผ้า
วัคซีนสำหรับเด็กวัย 5 ขวบ
– ให้วัคซีนตามอายุ ดังนี้ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ครั้งที่ 5 (1 ครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี) วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ครั้งที่ 2 (1 ครั้ง ในช่วงอายุ 4-6 ปี)
– พิจารณาให้วัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือกตามความเหมาะสม
อ้างอิง :
1. Guideline in child health supervision ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย / สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 2557
2. เรียบเรียงโดย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หัวข้อเรื่อง “ดูแลเด็กแต่ละช่วงวัย”
3. ตรวจสอบคำ และเพิ่มเนื้อหา “การฉีดวัคซีน” โดย GedGoodLife