คุณแม่ตั้งครรภ์รู้หรือไม่ว่า การที่มีน้ำหนักตัวมาก หรืออ้วนมากไปขณะตั้งครรภ์ (overweight during pregnancy) ไม่ได้ช่วยให้ทารกแข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด และยังเป็นปัจจัยชักนำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างรุนแรงถึงขั้นแท้งบุตรได้เลยทีเดียว! ฉะนั้น มาดูกันว่า คนอ้วนท้อง จะเสี่ยงเป็นโรค หรือภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง? แค่ไหนเรียกว่าน้ำหนักเกิน? พร้อมข้อควรปฏิบัติขณะตั้งครรภ์
- กรดโฟลิก ช่วยเซฟชีวิตทารก วิตามินสำคัญแม่ตั้งครรภ์ต้องกิน
- อย. แนะนำ น้ำอุ่นช่วยลดอ้วนได้ ร่างกายเผาผลาญดีขึ้น! พร้อม 9 ประโยชน์ดี ๆ จากน้ำอุ่น
- 9 ผลไม้น้ำตาลน้อย ดีต่อสุขภาพ ห่างไกลเบาหวาน และความอ้วน
สาเหตุ และปัจจัยของการเกิดภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์
ภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ หมายถึง การมีน้ำหนักมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ และสุขภาพของเด็กที่กำลังอยู่ในท้อง ภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ (pregnancy-related obesity) สามารถเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้
- ปริมาณอาหารที่รับเข้ามามากกว่าปริมาณการเผาผลาญ และการเคลื่อนไหว
- พฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่สมดุล เช่น การทานอาหารหวาน หรือการทานอาหารหมัก หรือการทานอาหารระหว่างวันมากเกินไป
- การพักผ่อนน้อย และการเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งอาจจะทำให้มีการเผาผลาญแคลอรี่น้อยลง
- การเป็นโรคแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อการเผาผลาญแคลอรี่ เช่น โรคเบาหวาน หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
แม่ตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำหนักเกิน?
การตรวจระดับน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ควรทำทุกสัปดาห์ หรือทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล เพื่อประเมินการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ และดูแลให้ได้ระดับน้ำหนักเหมาะสม ในการตรวจระดับน้ำหนัก จะมีการวัดน้ำหนัก ส่วนสูง และวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body Mass Index) และจะมีแพทย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการควบคุมน้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักคนท้องจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10-16 กิโลกรัม โดยจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก 1-2 กิโลกรัม และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ไปจนกระทั่งคลอด แต่ในคุณแม่น้ำหนักตัวมาก ไม่ควรจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 10 กก.
คนอ้วนท้อง แม่และลูกเสี่ยงอะไรบ้าง?
1. ภาวะแท้งบุตร (Miscarriage)
เป็นผลจากการสร้างสาร PAI-1 เพิ่มขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่กระตุ้นทำให้เกิดภาวะแท้ง จากการศึกษาพบว่า ภาวะอ้วนขณะตั้งครรภ์มีแนวโน้มเพิ่มอัตราการแท้งบุตรมากกว่าสตรีตั้งครรภ์น้ำหนักปกติถึง 1.31 เท่า และเกิดภาวะแท้งซ้ำซากถึง 3.5 เท่า นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังเพิ่มการเกิดความพิการแต่กำเนิดอีกด้วย เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะอ้วน
2. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Hypertensive disorders)
การที่ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง จะทำให้เซลล์ผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ การไหลเวียนเลือดไม่มีประสิทธิภาพ เกิดแรงดันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
3. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus)
เป็นผลจากภาวะดื้ออินซูลินทำให้มีการกระตุ้นตับให้สร้างและผลิตน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน และกลับเข้าสู่เซลล์ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามมา
4. ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thromboembolic disorders)
การตั้งครรภ์ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดช้าลงทำให้เลือดแข็งตัวง่าย และเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันตามมา หากมีภาวะน้ำหนักเกินร่วมด้วย จะทำให้การไหลเวียนของหลอดเลือดล่าช้าลง
5. ทารกตัวโต (Macrosomia)
ภาวะดื้ออินซูลินจะกระตุ้นตับให้สร้าง และผลิตน้ำตาลออกมาเพิ่มขึ้น และถูกส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ ในขณะที่อินซูลินของมารดาไม่สามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ ทำให้ตับอ่อนของทารกสร้างอินซูลินออกมามากขึ้น และนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทารกในครรภ์ตัวโต และมีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่าอายุครรภ์
ข้อควรปฏิบัติขณะตั้งครรภ์
การดูแลเพื่อควบคุมน้ำหนักในสตรีตั้งครรภ์กลุ่มนี้คือ การส่งเสริมให้ปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม และต่อเนื่อง โดยเน้นที่พฤติกรรมด้านการบริโภค และด้านกิจกรรมทางกาย ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้
ด้านการบริโภคอาหาร
1. ทานกรดโฟลิก 5 มิลลิกรัม/วัน ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และไอโอดีนเสริม 150 ไมโครกรัม/วัน เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางระบบประสาทที่ดี ป้องกันทารกผิดปกติแต่กำเนิด
อ่านเพิ่มเติม -> วางแผนมีลูก หมอแนะนำกินกรดโฟลิกรอไว้เลย
2. ควรรับประทานในรูปคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น รวมทั้งงด และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน เช่น ขนม ลูกอม ช็อคโกแลต เยลลี่ เป็นต้น
3. กลุ่มอาหารประเภทกากใย ได้แก่ ผัก และผลไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และโคเลสเตอรอล และอาหารกลุ่มนี้ยังผ่านลำไส้ได้ช้าทำให้รู้สึกอิ่มนาน
4. กลุ่มแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง และนมซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด โดยเน้นให้ดื่มนมไขมันต่ำ นมจืดพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยเป็นประจำทุกวัน
ด้านกิจกรรมทางกาย
1. เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำงานบ้าน การลุกเดินผ่อนคลาย หรือหลังรับประทานอาหารเสร็จ เป็นต้น ไม่ควรนั่ง หรือนอนเป็นเวลานาน
2. แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และโยคะ เป็นต้น โดยต้องประเมินความพร้อมของสตรีตั้งครรภ์ก่อนการออกกำลังกาย
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ เรื่องภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ 2. ภาควิชาสูติ-นรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. เวชบันทึกศิริราช เรื่องน้ำหนักตัวมารดากับการตั้งครรภ์:
ปัจจัยที่สูติแพทย์อาจมองข้าม 4. ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี