การวางแผนมีลูก นับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตที่ต้องรอบคอบและใส่ใจเป็นพิเศษ ฉะนั้นมาเรียนรู้การวางแผนมีลูกอย่างถูกต้องกันด้วย “7 ขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์” เพราะหากวางแผนดี ลูกก็ออกมามีสุขภาพแข็งแรง ร่าเริง อย่างแน่นอน
- กรดโฟลิก กับ โฟเลต ต่างกันไหม? ทำไมคนท้องต้องกิน
- อาหารสำหรับคน อยากมีลูก มีลูกยาก ควรกินอะไรเสริมดี ?
- เช็กอาการคนท้อง อาการแบบไหนที่บอกว่า กำลังตั้งครรภ์?
7 ขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
1. ปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนมีบุตร
เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ ประเมินความเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก และเพื่อรับฟังข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ให้เตรียมพร้อมก่อนการมีบุตร โดยคุณหมออาจซักประวัติต่าง ๆ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านม และตรวจภายในของฝ่ายหญิง เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงข้างต้น สำหรับประวัติที่ควรเตรียมพร้อมเมื่อมาพบแพทย์ ได้แก่ ประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ประวัติโรคประจำตัวของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ประวัติการตั้งครรภ์ในครั้งก่อน ๆ ประวัติประจำเดือนของฝ่ายหญิง ประวัติยาที่ใช้ เป็นต้น
2. ให้รับประทานโฟลิกอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนตั้งครรภ์
วิตามินโฟลิก (Folic acid) เป็นวิตามินบี 9 ที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ ความสำคัญของวิตามินโฟลิก ได้แก่ ช่วยสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงความพิการแต่กำเนิดได้ 30-50% ได้แก่ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กลุ่มอาการดาวน์ และอื่น ๆ
แพทย์แนะนำให้ทาน Folic acid เสริม อย่างน้อย 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน อย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ โดยแนะนำให้เลือกวิตามินกลุ่ม Prenatal vitamins โดยตรง เพื่อให้แน่ใจว่า ได้รับวิตามินที่จำเป็นเพียงพอ และยังสามารถบำรุงไข่ได้
การกินวิตามินโฟลิกไม่ใช่แค่ป้องกันการพิการแต่กำเนิดของทารกได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณแม่เจริญอาหาร แก้อาการ อ่อนเพลีย ป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง ป้องกันโรค NCDs และโรคอัลไซเมอร์ และยังมีประโยชน์อีกมากมาย การกินวิตามินโฟลิก ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เพราะเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ไม่สะสมในร่างกาย เพราะแต่ละวันร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะ
ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอแนวทางลดความเสี่ยงความพิการแต่กำเนิด ด้วยการปรับนิสัยการกินอาการที่มีโฟเลต หรือกินวิตาวินโฟลิก ดังนี้
- กินอาหารที่มีโฟเลตสูง ซึ่งอยู่ในผักใบเขียว ให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
- สำหรับผู้หญิงที่ต้องการจะมีลูก ต้องกินวิตามินโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือนต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้การสร้างหลอดประสาทของตัวอ่อนภายใน 28 วันแรกหลังปฏิสนธิอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกินในขนาด 5 มิลลิกรัม/วัน
- หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรกินวิตามินโฟลิกชนิดเม็ด ขนาด 5 มิลลิกรัม/สัปดาห์
3. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารที่เหมาะสมกับการเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้หลากชนิด โยเกิร์ต หอยนางรม เนื้อแดงไม่ติดมัน ปลาแซลมอน นม ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณลง ได้แก่ ลดการดื่มกาแฟ งดดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารเคมี เช่น อาหารทะเลที่อาจปนเปื้อนสารปรอทได้ เป็นต้น
4. ฉีดวัคซีนที่สำคัญ
วัคซีนที่มีความสำคัญ เช่น วัคซีนป้องกันคางทูม คอตีบ ไอกรน และ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส เนื่องจากหากได้รับเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลรุนแรงต่อทารกในครรภ์ได้ แต่ควรฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้อย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
5. เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย
เช่น การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากมีน้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ตามแพทย์สั่ง วิธีการออกกำลังกายที่แนะนำ คือ วิ่ง ปั่นจักรยาน โยคะ และเอโรบิค เพราะจะช่วยฝึกท่าทางการหายใจ และฝึกสมาธิอีกด้วย องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายก่อนตั้งครรภ์ และสามารถออกกำลังกายเบาๆ ต่อเนื่องได้ตลอดในช่วงการตั้งครรภ์
6. เช็กสุขภาพฟัน
เรื่องของสุขภาพฟันก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่หลายคนอาจมองข้ามไป เพราะหากมีฟันผุอาจทำให้เกิดปัญหาในการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนตั้งครรภ์จึงควรไปตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน พร้อมกับดูแลรักษาให้หายดีก่อนจะได้ไม่มีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์
7. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนที่เพียงพอสามารถช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ไม่อ่อนเพลียง่าย และยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ซึ่งความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก
อ้างอิง : 1. drnoithefamily 2. Vichaiyut Hospital 3. pobpad 4. rajavithi