ไมเกรน โรคปวดศีรษะที่คนไทยมีแนวโน้มเป็นกันมากขึ้น และเชื่อว่าผู้ป่วยไมเกรนหลายคนคงสงสัยว่า ป่วยไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด ได้ไหม? ต้องหยุดยาก่อนฉีด หรือไม่? วันนี้ Ged Good Life จึงนำคำตอบจาก ‘สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย’ มาฝาก มาติดตามกันเลย!
- อาการปวดหัวข้างขวา ปวดหัวข้างเดียว เกิดจากอะไร ใช่ไมเกรนมั้ย รักษายังไงดี?
- เมื่อมีอาการ ปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียน ควรทำอย่างไรดี?
- วิธีสยบ ไมเกรน แบบไม่ต้องใช้ยา
‘สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย’ ได้ออกประกาศเรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะ ‘ไมเกรน’ หรือ ‘ผู้ป่วยไมเกรน’ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 โดยมีใจความดังต่อไปนี้…
เนื่องจากประเทศไทยได้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญในระดับประเทศ ที่คนไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน
อย่างไรก็ตาม มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน กับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนเกิดความกังวลใจ
ทางสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการใช้ยารักษาโรคศีรษะไมเกรนดังนี้
1. เนื่องจากมีรายงานผลของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว เช่น อาการชา หรืออาการอ่อนแรง แต่จากการรวบรวมกรณีศึกษาต่าง ๆ ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติจากการตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Brain) และการตรวจสอบหลอดเลือดในสมอง (MRA หรือ CTA) อย่างชัดเจน อาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด และเกิดขึ้น ชั่วคราวเท่านั้น
2. จากข้อมูลในปัจจุบันจึงแนะนำเรื่องการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนว่า
ไม่จำเป็น ต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เช่น ยากลุ่ม acetaminophen ยากลุ่ม NSAIDs ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน หรือ ยาในกลุ่มทริปแทน หรือยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate , Valproic acid ยาในกลุ่มต้านเศร้า เช่น Amitriptyline , Venlafaxine ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol และยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ
3. หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรน หรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น
จากประกาศข้างต้น ผู้ป่วยไมเกรนสามารถสบายใจได้ว่า…
1. ผู้ป่วยไมเกรนสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
2. ไม่จำเป็นต้องหยุดยาป้องกันไมเกรน ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
อาการทางระบบประสาท กับวัคซีนโควิด-19
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด และอาการทางระบบประสาทที่พบในขณะนี้
1. โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตได้
2. การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดการแพ้เชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตอย่างชัดเจน
3. การฉีดวัคซีนทุกชนิด ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ชาเป็นหย่อม ๆ สามารถหายเองได้
4. สำหรับอาการชาบางส่วนของร่างกาย หรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หรือมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อย ทำให้รู้สึกใช้งานได้ไม่เป็นปกติ ที่พบในผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดในขณะนี้ พบว่าไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต) และตรวจไม่พบลิ่มเลือดอุดตัน หรือเลือดออกในสมอง อาการดังกล่าวหายเองได้
5. อาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง พบได้น้อยมาก ประมาณ 1-2 คน ต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และสามารถรักษาหายได้
โรคไมเกรน คืออะไร?
“โรคไมเกรน” (Migraine headache) หรือที่หลาย ๆ คนมักเรียกว่า “โรคปวดหัวข้างเดียว” ถือเป็นโรคทางสมองที่คนป่วยมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีจุดกำเนิดจากก้านสมองที่ทำงานผิดปกติ จนมีความไวต่อการกระตุ้นต่าง ๆ โดยคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการที่แสดง คือ ปวดหัวข้างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถปวดหัวทั้งสองข้างได้เช่นกัน ส่วนอาการปวดจะเป็นมากบริเวณกระบอกตา และต้นคอ
รับมือกับไมเกรนอย่างไร ไม่ให้ทรมาน?
แม้ว่าอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะรักษาไม่หาย แต่สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทา และลดความถี่ในการถูกกระตุ้นจนเกิดอาการปวดได้โดยปฏิบัติดังนี้
- นอนหลับให้เพียงพอ ควรนอนให้ได้ประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- หยุดพักร่างกายเมื่อมีอาการ ทำสมาธิ หรือนอนพัก ร่วมกับการประคบน้ำเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และลดความเครียดซึ่งอาจจะช่วยลดความถี่ของการปวดได้
- จดบันทึกอาการปวดที่เป็น เช่น วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่ทำให้เป็น
ติดตามอินโฟกราฟิกเพื่อสุขภาพ เพิ่มเติม -> คลิกที่นี่
อ้างอิง : neurothai
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife