“มิถุนายน” เดือนแห่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 เตรียมร่างกายให้พร้อมกันหรือยัง? ถ้ายัง… ต้องตามมาดูคำแนะนำจาก “คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อ Fact No Fake : Coved-19 Vaccination ครั้งที่ 1 เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่อง “วิธีเตรียมตัว ก่อน-หลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19” และรายละเอียดอื่น ๆ ที่ควรรู้ มาติดตามกันเลย!
ผศ.ดร.สุราศักดิ์ ตรีนัย และดร.ชลลดา จงสมจิตต์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า
“อยากจะรณรงค์ให้ทุกคนฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดที่มีอยู่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาดของโรค ส่วนในอนาคตหากมีวัคซีนทางเลือกเข้ามา ทุกคนสามารถเลือกฉีดวัคซีนตามที่ตนเองต้องการได้
ดังนั้น ก่อนและหลังไปรับ วัคซีนโควิด ทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยข้อมูลบางส่วนมาจากประสบการณ์ตรง และได้รวบรวมข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ประชาชนทุกคน”
- วัคซีน ซิโนแวค vs แอสตราเซเนกา ต่างกันยังไง ยี่ห้อไหนผลข้างเคียงน้อยกว่า ?
- ป่วยไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด ได้ไหม? ต้องหยุดยาก่อนฉีด รึเปล่า? โดย สมาคมประสาทฯ
- วัคซีนโควิดฉีดตอนตั้งครรภ์ ได้หรือไม่? และคำถามอื่น ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! ข้อมูลโดย นพ.ยง และ สธ.
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
ดร.ชลลดา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมตัวก่อนไปรับวัคซีน โดยวัคซีนตอนนี้ที่ทุกคนจะได้ฉีดส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนซิโนแวค ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจะเข้ามาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งวัคซีน 2 ชนิดนี้ แม้จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน แต่วิธีการดูแลตัวเองทั้งก่อน และหลัง รวมถึงอาการข้างเคียงต่าง ๆ ก็จะใกล้เคียงกัน
1.ต้องตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนของตนเอง ซึ่งหากไปรับวัคซีนตัวอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ควรงด 1 เดือนก่อนไปฉีดวัคซีน
2.ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
3.กินยารักษาโรคประจำตัวได้ตามปกติ
4.ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ต้องงดน้ำ
5.ทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหาร
6.ดื่มชา/กาแฟได้ หากดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว
7.ไม่ควรออกกำลังกายหนักว่าที่เคยทำเป็นประจำ
8.เตรียมข้อมูลเรื่องโรคประจำตัว ประวัติการรักษาของตนเอง
9.ตรวจสอบร่างกายตนเอง ต้องไม่ป่วย
10.โหลดแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ตรวจสอบ วัน/เวลา และสถานที่รับวัคซีนให้แน่นอน
ต้องรู้! ใครบ้างที่ “ฉีดวัคซีนโควิด-19” ไม่ได้ ?
ดร.ชลลดา กล่าวว่า สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ คือ
1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว และไม่สามารถควบคุมได้
2. ตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก
3. ไม่สบาย มีไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้สูง ท้องเสียรุนแรง
4. มีประวัติแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงในครั้งแรก
5. มีประวัติแพ้สารเฉพาะตัว เช่น สารในยางพารา เพราะยางพาราเป็นส่วนประกอบของตัวใส่วัคซีน
6. ส่วนเรื่องกาแฟไม่ต้องงดกาแฟ ทานได้ แต่ช่วงหลังฉีดวัคซีน ถ้าดื่มกาแฟจะทำให้มีอาการใจสั่นมากขึ้น
7. ดื่มสุราเหล้าเบียร์ควรจะงดทั้งก่อน และหลังการฉีดวัคซีน
8. ขณะที่เรื่องของการกินยาคุมกำเนิดนั้น ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ ออกประกาศชัดเจนไม่ต้องงดกินยาคุมกำเนิด สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ขอให้แจ้งแพทย์
สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อม เมื่อถึงวันฉีดวัคซีน
1. ต้องเตรียมบัตรประชาชน
2. ใบนัดรับวัคซีน
3. ปากกา เพื่อไว้กรอกข้อมูลต่าง ๆ
4. เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
5. ไม่พกสัมภาระไปเยอะ
6. ควรสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา
เปิดทุกขั้นตอน ฉีดวัคซีนโควิด-19
ผศ.ดร.สุราศักดิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนเมื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลจะใช้เวลา 5-7 นาที รอดูอาการ 30 นาที ก่อนจะเข้ารับบริการ มีการคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือ
ขั้นตอนที่ 1 จะมีการลงทะเบียน ทำบัตร
ขั้นตอนที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต วัดไข้ อัตราการเต้นของหัวใจ
ขั้นตอนที่ 3 จะทำการคัดกรอง ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ลงนามในใบยินยอมการรับวัคซีน
ขั้นตอนที่ 4 รอฉีดวัคซีน
ขั้นตอนที่ 5 ฉีดวัคซีน
ขั้นตอนที่ 6 พักสังเกตอาการ 30 นาที สแกน Line Official Account ‘หมอพร้อม’
ขั้นตอนที่ 7 จุดตรวจสอบก่อนกลับ พร้อมรับเอกสาร การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
ขั้นตอนที่ 8 Dash Board ประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ (Line OA หมอพร้อม)
ทั้งนี้ Line OA หมอพร้อม ติดตามวัคซีนหลังฉีดตั้งแต่ 1 วัน , 7 วัน ,30 วัน แจ้งนัดหมายฉีดครั้งที่ 2 รับใบยืนยันการฉีดวัคซีน
ข้อแนะนำปฎิบัติตัวหลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19
1. พักผ่อนให้เต็มที่
2. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
3. รับประทานอาหารได้ตามปกติ
4. ไม่นวด คลึงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ออกกำลังกายได้ตามปกติ
5. งดออกกำลังกายอย่างหนัก 1-2 วัน
6. งดออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงที่แขนข้างที่ถูกฉีดยา 1-2 วัน
7. งดยกของหนัก 1-2 วัน
และหากมี อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีน ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์นี้จะมีทั้งแบบไม่รุนแรง และรุนแรง เช่น
แบบไม่รุนแรง (สามารถกินยาลดไข้ พักผ่อน ดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือเช็ดตัวลดไข้ได้)
1. มีไข้ต่ำ ๆ
2. ปวดศีรษะ
3. คลื่นไส้
4. อาเจียนน้อยกว่า 5 ครั้ง
5. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
6. ปวดบวมแดง
7. ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน
8. อาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ผื่นแดงเล็กน้อย
แบบรุนแรง ควรพบแพทย์ทันที
1. มีไข้สูง
2. ปวดศีรษะรุนแรง
3. ผื่นขึ้นทั้งตัว
4. เหนื่อยแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่ออก
5. ซักหรือหมดสติ
6. อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง
7. มีจุดเลือดออกจำนวนมาก
8. ปากเบี้ยว หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรก
9. อาการป่วยรุนแรงอื่นที่กังวลมาก ๆ
อาการแพ้วัคซีน ที่อาจเกิดขึ้นได้
1. ผื่นขึ้น ลมพิษ คัน
2. บวมที่ใบหน้า/ปาก/ลำคอ
3. หายใจติดขัด
4. ความดันโลหิตต่ำ
5. คลื่นไส้
6. ปวดท้อง
อาการเหล่านี้จะคล้าย ๆ กับแพ้อาหาร ซึ่งอาการแพ้จะเกิดขึ้นประมาณ 20-30 นาทีแรก ทุกคนจะนั่งอยู่ที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว เมื่อมีอาการจะได้รับการดูแลอย่างดี
ผศ.ดร.สุราศักดิ์ กล่าวว่า…
“การดูแลตนเองหลังรับวัคซีน หากมีไข้สามารถกินยาลดไข้ได้ หากมีผื่น (อาจพบได้ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้) กินยาแก้แพ้ได้ หากยังรู้สึกปวด หรือบวมบริเวณที่ฉีดยา สามารถประคบเย็นได้ เมื่อครบ 24 ชม. แล้วยังบวมอยู่ให้ประคบอุ่นแทน
และที่สำคัญเมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ทุกคนต้องสวมหน้ากาก ล้างมือให้บ่อย รักษาระยะห่างทางสังคม และมาฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดหมายทั้ง 2 เข็ม เพราะการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันไม่ใช่การรักษาโรค ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนแล้วสามารถเป็นโรคโควิดได้”
อย่างไรก็ตาม ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคนควรจะฉีด และติดตามข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุข หรือสื่อหลัก และควรมองว่าฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนรอบข้าง เพื่อสังคมไทยได้ปลอดโรคนั่นเอง
อ้างอิง: chula.ac.th / facebook.com/ChulaNurse / bangkokbiznews.com
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife