โควิดระบาดหนัก ผู้คนหวาดกลัว! แถมยังมีข่าวออกมาเรื่อย ๆ ว่าต้องตรวจถึง 3 รอบบ้าง 4 รอบบ้าง หนักสุดก็ตรวจถึง 5 รอบ กว่าจะพบว่าตนเองติดโควิด-19! หลายคนจึงเกิดความสงสัยอยู่ในใจว่า สรุปแล้ว ติดโควิด กี่วัน ถึงจะตรวจเจอเชื้อ? และสามารถรักษาตัวที่บ้านให้หาย ตามข่าวได้หรือไม่? พร้อมประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย
GedGoodLife จึงได้รวบรวมข้อมูลจากแพทย์ และองค์กรต่าง ๆ เพื่อมาไขข้อสงสัยในเรื่องเหล่านี้ให้แล้ว ใครที่สงสัยอยู่ ห้ามพลาด มาติดตามกันเลย!
– 10 อาหารบำรุงปอด ดีต่อโรคหอบหืด แถมเสริมภูมิต้านโควิด-19 ได้ด้วย!
– วิธีเตรียมตัว ก่อน-หลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19 : โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ
– 9 โรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงตายสูง จากโรคโควิด-19 !! พร้อมวิธีป้องกันโรค
ติดโควิด กี่วัน ถึงจะตรวจเจอเชื้อ? พร้อมทำความเข้าใจระยะฟักตัวของเชื้อโควิด
หลายคนที่ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก แล้วผลเป็นลบ (ผลลบ = ไม่ติด , ผลบวก = ติด) แต่พอไปตรวจครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 กลับพบว่าผลเป็นบวก ติดโควิด-19
นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ได้ไขข้อสงสัย ถึงประเด็นดังกล่าวไว้ดังนี้
คำถาม : ผู้ป่วยบางท่านใช้เวลานานถึง 28 วัน ถึงจะเจอเชื้อโควิด แสดงว่าตอนนี้ระยะฟักตัวอยู่ได้นานถึง 28 วัน ใช่หรือไม่ และระยะฟักตัวที่พบในไทยนานที่สุด คือประมาณกี่วัน ในบรรดาผู้ป่วยที่รักษาอยู่ เชื้ออยู่ได้นานที่สุดกี่วัน ?
คำตอบ : ระยะฟักตัว อยู่ที่ 2-14 วัน ค่ากลางอยู่ที่ 5.2 วัน แต่สิ่งที่เราเจอส่วนใหญ่ 70-80 เปอร์เซนต์ อยู่ระหว่าง 5-7 วัน ถามว่ามีโอกาสที่จะตรวจพบหลังวันที่ 14 หรือไม่ ตอบเลยว่า มี ในทางการแพทย์มันไม่มีอะไรแน่นอน 100%
เพราะฉะนั้นในรายที่เราก็เคยได้ยินหลายครั้ง ตรวจครั้งแรก ๆ ไม่พบ อาจจะเป็นปริมาณไวรัสน้อย ตรวจครั้งหลัง ๆ ถึงจะพบ รายที่ตรวจพบหลังจากวันที่ 14 ดังนั้น ตรวจเจอเชื้อโควิดวันที่ 28 ก็เป็นไปได้ ในทางวิชาการ
คลิปอ้างอิงคำตอบจากคุณหมออนุพงศ์ นาทีที่ 49.31 เป็นต้นไป
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงไว้เช่นกัน ดังนี้
“การคัดกรองด้วยวิธีการหาเชื้อแยงจมูก ด้วยกระบวนการพีซีอาร์ ไม่สามารถระบุได้จากการตรวจเพียงครั้งเดียว และต้องการการตรวจซ้ำสอง ถึงสามครั้ง “
ติดโควิด สามารถรักษาให้หายเองที่บ้านได้ไหม?
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการเชิญชวนให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องออกไปพบแพทย์จะหายเอง…
คุณหมอโอภาสยืนยันว่า ทำไม่ได้ โดยมีเหตุผลดังนี้
1. ผู้ที่ไม่มีอาการต้องมีแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลใกล้ชิด เพราะบางกรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการแล้วต่อมามีอาการปอดบวม แล้วลุกลามรุนแรงขยายตัวได้อยางรวดเร็ว ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าวันนี้ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่า พรุ่งนี้จะไม่มีอาการแต่อย่างใด
2. ผู้ติดเชื้อ มีเชื้อแพร่ออกมาทางระบบการหายใจ เวลาไอ จาม หรือพูดคุยกับคนอื่น เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเอาเชื้อไปแพร่กระจายต่อได้ เพราะฉะนั้นการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อตัวผู้ติดเชื้อเอง และควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อต่อ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิดทั้งที่ไม่มีอาการ และมีอาการ ถ้าไม่เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือรักษาตัวเองที่บ้าน ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เพราะโรคโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย และถ้ารู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดเด็ดขาด เพราะเท่ากับเอาโรคติดต่ออันตรายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ
สำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วนโทร 1668 1330 และ 1669
ฉีดวัคซีนแล้ว ยังสามารถติดโควิด-19 ได้อีกหรือไม่?
คำตอบคือ ยังสามารถติดเชื้อ และสามารถเกิดอาการเจ็บป่วยได้อยู่
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) ระบุว่า
“การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ แต่ถึงอย่างไรยังสามารถติดเชื้อและสามารถเกิดอาการเจ็บป่วยได้อยู่ เพียงแต่จะลดอาการเจ็บหนัก และการเสียชีวิตให้น้อยลงได้
จากกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนได้อย่างดีว่า แม้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วก็จะต้องระมัดระวังตัว ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รวมถึงการเล่นกีฬาอาจมีสารคัดหลั่ง เช่น เหงื่อ ออกมา ก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีระบุไว้ในหลักฐานทางวิชาการเช่นกัน”
ไม่สบาย รู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ตัวรุม ๆ แต่ยังพอใช้ชีวิตประจำวันได้ ต้องไปโรงพยาบาลไหม?
คุณหมอ ธีระวัฒน์ ได้พูดถึงผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวไว้ว่า ” การรับทราบว่าตนเองไม่สบาย แต่เป็นเพียงแค่หนาว ๆ ร้อน ๆ ตัวรุม ๆ แต่ยังสามารถพอใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจจะแยกตัวอยู่บ้าน และอยู่ห่างจากคนในครอบครัว ใส่หน้ากากปิดปาก ปิดจมูก แยกภาชนะเครื่องใช้ และอาหารการกิน จนกระทั่งอาการเป็นปกติทุกประการ
แต่ในทางกลับกัน ถ้าอาการเลวลงจนอ่อนเพลีย ทั้งนี้ไม่ต้องรอจนกระทั่งรู้สึกหายใจเหนื่อย ต้องไปโรงพยาบาล โดยแจ้งให้สถานพยาบาลนั้นๆ ทราบล่วงหน้าและส่งรถพยาบาลที่เตรียมพร้อมในการรับผู้ป่วยติดเชื้อ
แต่พาหนะที่ใช้ ถ้าเป็นรถส่วนตัว หรือรถสาธารณะ เช่น แท็กซึ่ ต้องบอกสถานะให้ผู้ขับทราบในการป้องกันตัว และทำความสะอาดตัวรถหลังจากนั้น”
สรุปความได้ว่า ถ้าอาการเบาบาง แค่รู้สึกตัวรุม ๆ สามารถกักตัวอยู่ที่บ้าน และแยกห่างจากคนในครอบครัว แต่ถ้าอาการเริ่มหนักขึ้น อ่อนเพลีย ปวดหัว ตัวร้อน ไอ เป็นไข้ ต้องรีบหาหมอเท่านั้น
เมื่อทราบผลตรวจว่า ติดโควิด ควรทำอย่างไร?
- เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
- โทร 1330, 1668, 1669 เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียด และเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง
- หรือ กรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)
- งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)
- หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- สวมใส่แมสก์ตลอดเวลา และแยกของใช้ส่วนตัว
เตรียมพร้อม เมื่อต้องไปอยู่ “รพ.สนาม”
สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อไปอยู่ รพ.สนาม มีข้อแนะนำในการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ ดังนี้
- เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน
- ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน
- ของใช้จำเป็นอื่น ๆ โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง
- ยารักษาโรคประจำตัว
- ข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม(ถ้ามี)
- โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ สำหรับติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัว
- สามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้
หากมีข้อสงสัยใด ๆ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วน โทร. 1422 หรือ 1668
เมื่อรักษาโรคโควิด-19 จนหายแล้ว ยังต้องตรวจหาเชื้อซ้ำหรือไม่ กลับบ้านใช้ชีวิตปกติได้เลยไหม?
กรมการแพทย์ เผย ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 รักษาจนหายแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อซ้ำอีกรอบ เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษา และการพบเชื้อจากการตรวจด้วย RT-PCR มิได้หมายความว่าจะสามารถแพร่เชื้อต่อได้
ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก ตามเกณฑ์ข้างต้น ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบัน เชื่อว่าไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยที่พ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ
การปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อเหมือนประชาชนทั่วไป จนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้างได้อย่างมั่นใจ
คำแนะนำในการปฏิบัติตนเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล
1. ไม่จำเป็นต้องกักตัว หรือแยกตัวจากผู้อื่น เพราะหายจากโรคแล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง หรือเพิ่งจะได้รับการวินิจฉัย บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ จึงต้องกักตัว หรือแยกตัวจากผู้อื่น)
2. การดูแลสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
4. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
6. หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนำให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา
หากมีข้อสงสัยใด ๆ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือ สายด่วนโทร. 1422 หรือ 1668
#ติดโควิดกี่วันถึงจะเจอเชื้อ #ติดโควิดตรวจไม่เจอเชื้อ #ระยะฟักตัวเชื้อโควิด #ติดโควิดรักษาตัวที่บ้านได้ไหม
อ้างอิง :
1. ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 1/2 2. ประชาชาติธุรกิจ 3. กระทรวงแรงงาน 4. กรมการแพทย์
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife