เริ่มต้นปี 2021 คนไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดทั้งความเครียด และวิตกกังวลกับการใช้ชีวิต… “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี “10 ความสุข” ในยุคโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,136 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 15-22 มกราคม 2564 สรุปผลได้ ดังนี้
“10 ความสุข” ในยุคโควิด-19 โดย สวนดุสิตโพล
อันดับ 1 มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ 86.92%
อันดับ 2 ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกับข้าวกินเอง 75.22%
อันดับ 3 ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเร่งรีบ 56.10%
อันดับ 4 ได้ออกกำลังกาย หันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น 29.81%
อันดับ 5 ปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ ได้พัฒนาทักษะเทคโนโลยี 13.46%
อันดับ 6 ยังมีงานทำ ยังไม่ถูกเลิกจ้าง 13.08%
อันดับ 7 รถไม่ค่อยติด เดินทางสะดวก 10.44%
อันดับ 8 บุคลากรทางการแพทย์ของไทยทำงานได้ดี 8.18%
อันดับ 9 ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย 5.03%
อันดับ 10 ทรัพยากรธรรมชาติได้พัก เป็นการฟื้นฟู 1.89%
*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)
สรุปผลการสำรวจ : “10 ความสุข” ในยุคโควิด-19
จากผลการสำรวจ พบว่า ในความทุกข์ที่เกิดจากโควิด-19 นี้ ประชาชนก็ยังมีความรู้สึกสุขใจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านเวลา ทั้งการให้เวลากับตนเอง การให้เวลากับครอบครัว เงื่อนไขเรื่องเวลานี้ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสในการคิดพิจารณา และทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยได้ทำมากขึ้นอีกทั้งยังได้พัฒนาตนเองในด้านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ
เรียกได้ว่าต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองมากขึ้น
นางสาวพรพรรณ บัวทอง
นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ในทุกสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น แม้มีปัญหามีความทุกข์ แต่ก็มีสิ่งที่ดี ๆ และมีสิ่งที่เป็นความสุขเกิดขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การปรับทัศนคติ การปรับมุมมอง หรือการคิดเชิงบวก จึงเป็นเรื่องสำคัญ
อย่ามองที่ปัญหาแต่ให้เลือกมองโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัญหานั้น ๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทย และคนทั้งโลก ซึ่งประเด็นปัญหา และความทุกข์ที่มีอยู่นี้ เราทุกคนรู้ และสัมผัสได้อยู่แล้ว
สวนดุสิตโพล จึงเลือกสำรวจความคิดเห็นในมิติของความสุข ซึ่งจากผลสำรวจความสุขของคนไทยในยุคโควิด-19 พบว่า คนไทยมีความสุขจากการที่มีเวลาให้กับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างมากขึ้น และได้ทำในสิ่งที่ช่วงเวลาปกติไม่สามารถทำได้ หรือไม่ได้ทำ
ดังนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นของคนไทยจึงเกิดจากการปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด การเรียนรู้ที่จะปรับตัว รับมือ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทุกข์ได้แต่อย่านานหากก้าวผ่านความทุกข์ไปได้เราก็จะพบกับความสุข สุขอยู่ที่ใจ ถ้าพอใจในแบบพอเพียงไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ความสุขก็อยู่ไม่ไกลและอยู่รอบ ๆ ตัวเราเสมอ
นายไพศาล คงสถิตสถาพร
รักษาการผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
กรมสุขภาพจิตเผย ความสุขในครอบครัวไทย ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากสำรวจจากสวนดุสิตโพลแล้ว ยังมีผลสำรวจออนไลน์จาก “กรมสุขภาพจิต” ในช่วงเดือนเมษายน 2563 เกี่ยวกับความสุขของครอบครัวไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ได้ผลออกมา ดังนี้
1. คุณมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัวมากเพียงใด?
- มากที่สุด 48.87%
- มาก 40.20%
- น้อย 7.87%
- น้อยมาก 3.07%
2. ความเครียดในครอบครัวของคุณอยู่ในระดับใด?
- สูงมาก 4.20%
- สูง 13.33%
- ปานกลาง 54.13%
- ต่ำ 28.33%
3. คุณรู้สึกอย่างไรที่ต้องเว้นระยะห่างจากคนในครอบครัว?
- เหงาโดดเดี่ยว 6.97%
- เป็นห่วง กังวล 49.36%
- ชอบ พอใจ 12.84%
- ไม่รู้สึก เพราะไม่ได้เว้นระยะห่าง 26.85%
- อื่น ๆ 5.00%
4. คุณรู้สึกใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวแค่ไหน ?
- ใกล้ชิดมากขึ้น 29.07%
- ใกล้ชิดเท่าเดิม 49.93%
- ใกล้ชิดน้อยลง 16.60%
- ห่างเหินมากขึ้น 4.40%
5. คุณมีวิธีสร้าง “วัคซีนครอบครัว” เพื่อลดความเครียดในบ้านอย่างไร?
- พูดคุยถามสุขทุกข์กันบ่อย ๆ 25.14%
- รับฟังความไม่สบายใจของกันมากขึ้น 16.42%
- จัดการความเครียดของตัวเองและสมาชิก 14.19%
- รักษากิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้คงที่ 24.49%
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่วมกัน 19.57%
- อื่น ๆ 7%
6. ครอบครัวของคุณร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในสถานการณ์นี้อย่างไร ?
- ช่วยเหลือกันเต็มที่ เป็นทีมเดียวกัน 65.47%
- เห็นต่างกันบ้าง แต่ยังเป็นทีมเดียวกัน 31.93%
- ร่วมมือกันน้อย ไม่ค่อยเป็นทีม 2.00%
- ขัดแย้งกัน ไม่ค่อยเป็นทีมเดียวกัน 0.60%
7. คุณเชื่อมั่นแค่ไหนว่าครอบครัวจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ?
- เชื่อมั่นมาก 76.20%
- เชื่อมั่นปานกลาง 22.00%
- เชื่อมั่นน้อย 1.37%
- ไม่เชื่อมั่นเลย 0.67%
อ้างอิง :
1. สวนดุสิตโพล 2. กรมสุขภาพจิต
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife