แพทย์ไทยออกโรงเตือน! โควิดสายพันธุ์ใหม่ “XBB.1.16” กำลังระบาดทั่วโลก และจะเป็นสายพันธุ์หลักประจำปี 2023 นี้ ส่วนศูนย์จีโนมฯ คาดอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์ XBB 1.16 ครองพื้นที่แน่นอน ล่าสุดไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว… มาเช็กกันว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 จะร้ายแค่ไหน ก่อให้เกิดอาการอะไรบ้าง และใครคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ GED good life รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว!
รู้จักกับโควิด XBB.1.16 วายร้ายตัวใหม่!
“XBB.1.16” หรือ “อาร์คทัวรัส (Arcturus)” หรือ “สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว” ที่แพทย์ทั่วโลกกำลังจับตามองขณะนี้ คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 และกำลังกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักระบาดแทนที่โควิดโอไมครอน
นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพิเศษพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร ประจำศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ” โควิด XBB.1.16 มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามในตำแหน่งที่สำคัญ ราว ๆ สามจุด ทำให้มันมีศักยภาพหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ๆ เกาะเซลล์ได้ดีมากๆๆๆ และมีความสามารถในการกลายพันธุ์ได้ง่ายมาก ๆ ด้วย ”
“มันติดง่ายมาก คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว คนที่เคยเป็นโควิดมาแล้ว สามารถเป็นได้อีกครับ นั่นทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลของประเทศไทย ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะวันที่ 9 – 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา”
หมอธีระเผย โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม!
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ หมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสมรรถนะของ ‘โอไมครอน’ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ที่ล่าสุดพบว่ามีการแพร่ระบาดแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก ไว้ดังนี้
“XBB.1.16 นั้นได้รับการพิสูจน์จากทีมมหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วว่า มีสมรรถนะการแพร่ ซึ่งประเมินค่า Effective reproductive number (Re) มากกว่า XBB.1 ราว 27% หรือ 1.27 เท่า และมากกว่า XBB.1.5 ซึ่งครองการระบาดทั่วโลกในปัจจุบันราว 17% หรือ 1.17 เท่า โดยมีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอ ๆ กัน ซึ่งตระกูล XBB.x นั้นดื้อกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยเดิม ๆ ที่เคยระบาดมาก”
“เรื่องความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่จากสถิติในอินเดีย ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใด ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย”
ณ ตอนนี้ โควิดสายพันธุ์หลักในไทย คือ XBB.1.5
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น”
นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่า โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BN.1.3 ประมาณ 148% และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 90% คาดว่า จะเข้ามาแทนที่ BN1.3 และ XBB.1.5 ได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้
อาการโควิด XBB.1.16 ต่างกับสายพันธุ์เดิมอย่างไร?
นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ได้ชี้แจงถึงอาการของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า อาการของอาร์คทัวรัส ยังคล้ายกับการติดเชื้อโควิดอื่น ๆ ที่ผ่านมา ลักษณะเด่น นอกจากไข้ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลียแล้ว เท่าที่มีโอกาสได้คุยกับคนไข้ ก็คือ
- อาการตาแดง เนื่องจากเยื่อบุตาอักเสบ
- ขี้ตาเหนียว ลืมตาไม่ขึ้น
- อาการไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- และอาการเจ็บคอมาก ๆ เหมือนมีดบาดครับ
ส่วนทางด้าน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวถึงอาการของโควิด XBB.1.1.16 ไว้ดังนี้
“สำหรับอาการไม่แตกต่างกันมาก แต่มีประเด็นคือ อินเดียมีรายงานโดยเฉพาะเด็ก คือ มีอาการตาแดงแล้วคัน หรือ Sticky Eyes ตาลืมไม่ค่อยได้ ตาเหนียว แต่ไม่มีหนอง พบอาการขึ้นมาได้ แต่มากน้อยเท่าไรไม่ทราบ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บสถิติว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ใหญ่ก็มีได้ อย่างที่ดาราคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็เป็น” นพ.ศุภกิจกล่าว
ฉะนั้น ใครที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่แออัด หรือพบปะผู้คนเป็นประจำ หรือมีอาการป่วย มีไข้หวัด แนะนำให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง?
- กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอ้วน
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
- และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้รับวัคซีน และไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรง
XBB.1.16 ตรวจ ATK เจอหรือไม่?
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า “การตรวจวินิจฉัยด้วย ATK หรือ RT-PCR ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะเป็นการตรวจโปรตีนของโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนต้องมีโปรตีนอยู่แล้ว หากมีก็จะขึ้น แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK หากเชื้อไม่มากจะหาไม่เจอ ฉะนั้นติดเชื้อวันนี้พรุ่งนี้ตรวจเลยก็เป็นลบ ต้องใช้เวลา 4-5 วัน แต่ RT-PCR ไวกว่า 1-2 วันก็เจอได้ ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรไม่แตกต่างกัน ยกเว้น ATK เสื่อม เก็บไม่ดี หมดอายุ”
สุดท้ายนี้ ทุกคนควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้
อ้างอิง : 1. thaipost 2. workpointtoday 3. synphaet