อากาศ หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดของร่างกายมนุษย์ เพราะหากร่างกายขาดอากาศแม้เพียงเสี้ยวนาทีเดียว ก็อาจก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงตามมามากมาย จากข้อมูลทางสถิติพบว่า โรคภูมิแพ้อากาศ หรือ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในคนไทย โดยมีสัดส่วนสูง ถึงกว่า 60 % เลยทีเดียว ซึ่งแม้จะมีคนไทยเป็นโรคภูมิแพ้อากาศจำนวนมาก แต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของโรค อาการ และวิธีการดูแลที่เหมาะสมยังคลุมเครือ วันนี้เราจึงมีคำตอบมาไขข้อข้องใจให้กับทุกคน
- ภูมิแพ้อากาศ และฝุ่น รักษายังไง กินยาอะไรได้บ้างครับ?
- “โรคแพ้ละอองเกสร” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
- ระวัง! 10 จุดเสี่ยงในบ้าน กระตุ้นโรคภูมิแพ้ ทำน้ำมูกไหล ไอ จาม ได้ทั้งวัน
โรคภูมิแพ้อากาศ คืออะไร?
“โรคภูมิแพ้อากาศ”เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเวลาได้รับ “สารก่อภูมิแพ้” ที่มีอยู่รอบตัวเรา เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง แมลงสาบ เชื้อรา ละอองดอกหญ้า เกสรดอกไม้ และวัชพืชต่าง ๆ ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการแพ้นั้นขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีปฏิกิริยากับสิ่งไหน หากสูดดมนำสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตา รวมถึงหลอดลมได้ ซึ่งโรคภูมิแพ้อากาศสามารถเกิดได้ใน 2 สาเหตุหลัก คือ กรรมพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
โรคภูมิแพ้อากาศ มีกี่ลักษณะ
1. ภูมิแพ้อากาศแบบฤดูกาล ที่อาการจะปรากฎตาม ปริมาณสารก่อภูมิแพ้เกิดขึ้น ที่ผันแปรไปตามฤดูกาล เช่น ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดอกไม้บาน หรือช่วงฤดูฝนที่ความชื้นและเชื้อราเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในช่วงเวลาที่ปริมาณค่าฝุ่นละอองในอากาศมีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลโดยตรงต่อการกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบ
2. ภูมิแพ้อากาศตลอดทั้งปี จะเป็นกลุ่มอาการภูมิแพ้อากาศที่เกิดได้ตลอดต่อเนื่องในทุกช่วงเวลาของปี ซึ่งสาเหตุหลัก เป็นเพราะสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นพบได้ตลอดเวลาไม่แปรผันกับช่วงระยะเวลาหรือฤดูกาล ตัวอย่างเช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแค สุนัข แมว เชื้อรา เป็นต้น
หวัด หรือ ภูมิแพ้อากาศ สังเกตไม่ยากด้วยวิธีดังนี้
หลายคนมักจะสับสนเกี่ยวกับอาการ และส่วนใหญ่มักแยกไม่ออกว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ หรือไข้หวัดกันแน่ ซึ่งวิธีการสังเกตง่าย ๆ ทำได้โดย การสังเกตช่วงเวลาที่อาการเหล่านั้นปรากฏ ว่ามักเกิดขึ้นหลังจากที่มีปัจจัยมากระตุ้นหรือไม่ เช่น หากอาการของภูมิแพ้มักเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเช้าหลังจากตื่นขึ้นมา มีอาการจาม และมีน้ำมูกใสไหล แต่พอออกจากบ้านไปอากาศในที่โล่ง และแสงแดดก็จะหาย ซึ่งสาเหตุของอาการน้ำมูกไหล จาม อาจเกิดจากสารกระตุ้นที่แฝงตัวอยู่ในห้องนอนเช่น ไรฝุ่นบนที่นอน พรม หรือ ผ้าม่าน ก็ได้
ส่วนสำหรับไข้หวัด นั้นอาการเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลา และมักมีไข้ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น เสมหะเปลี่ยนสี รวมถึงอาการอ่อนเพลีย ไม่สบายเนื้อสบายตัวร่วมด้วย
แนวทางการดูแลรักษาภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
หลักการสำคัญของการรักษาโรคภูมิแพ้ คือการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พยายามรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้เแข็งแรง เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ และรับมือกับสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา โดยมีหลักการปฏิบัติง่ายๆ 4 ข้อ ดังนี้
– พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับให้เพียงพอทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า โดยทั่วไปแล้วควรนอนให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีโอกาสซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเหมาะสมเพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา
– จัดการอารมณ์และความเครียด เพราะสภาพวะจิตใจส่งผลโดยตรงกับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย คนที่มักเครียด วิตกกังวล มักมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ต่ำกว่าคนปกติทั่วไป หมั่นทำจิตใจให้แจ่มใส หรือออกไปทำกิจกรรม เพื่อเป็นผ่อนการคลายจากความเครียด
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดี ทำให้เม็ดเลือดขาว สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคได้มากขึ้น
– หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง เช่น การทานอาหารหวาน เค็ม มัน ลดดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น การหลีกเลี่ยงมลพิษเช่น pm2.5 การงดใช้สารเคมี สารระเหยที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่อยู่เสมอ ยิ่งหากคุณเคยได้รับการวินิจฉัจ เกี่ยวกับสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอาการแพ้โดยกระบวนการ และผู้เชี่ยวชาญแล้วละก็ยิ่งควรเพิ่มความใส่ใจ และระมัดระวังในการเข้าใกล้ หรือสัมผัสกับสารเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อมีอาการแพ้อากาศเกิดขึ้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ หมั่นสังเกตอาการ และปฏิบัติตนตามแนวทางควบคุมโรคภูมิแพ้อากาศอย่างเคร่งครัด รวมถึง อาจมีการใช้ยาพ่นจมูก ใช้น้ำเกลือล้างจมูก รวมถึงรับประทานยาแก้แพ้เพิ่มเวลามีอาการ ช่วยให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลงได้ ข้อสำคัญคือไม่ควรปล่อยปละละเลยโดยคิดว่าอาการเหล่านั้นจะหายไปเองได้ ซึ่งกว่าจะหายก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอีกเพียบ
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และโรคหืด มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ซึ่งอยู่ 2 แนวทางที่นิยมใช้กัน คือ
1. การฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าใต้ผิวหนัง และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละนิดทุกครั้งที่มาพบแพทย์ เพื่อเป็นการเทรนด์ร่างกาย ให้ผู้ป่วยสร้างภูมิที่ดีมาต้านปฏิกิริยาการแพ้ต่อสารนั้นได้
2. การใช้สารที่ผู้ป่วยแพ้อมใต้ลิ้นต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งวิธีปรับภูมิคุ้มกัน (immunotherapy) ต้องควรภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น มิเช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ เช่น อาการแพ้ มีผื่น หายใจไม่ออก หรืออาจแพ้รุนแรงได้
โรคภูมิแพ้อากาศ แม้จะมีระดับอาการที่ไม่รุนแรง จนหลายคนมักเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของร่างกายตนเอง แต่โรคภูมิแพ้อากาศนี้หากปล่อยทิ้งไว้ และยังสัมผัสต่อสารแพ้ต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทำให้รู้สึก เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะนอนหลับไม่ดี ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีอาการคัดจมูก และน้ำมูกไหลลงคอบ่อยครั้ง รวมถึงหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรังจากเสมหะไหลลงคอ มีอาการหอบหืด ที่คุมอาการไม่ได้จนอาจมีระบบหายใจล้มเหลวได้
ดังนั้น จึงอยากฝากให้ทุกคนให้ความใส่ใจดูแลอาการภูมิแพ้อากาศให้ถูกวิธี เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่เป็นอิสระจากการแพ้ตลอดไป