จามบ่อยครั้ง มีเสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง คันตา เคืองตา คุณเคยสังเกตอาการเหล่านี้หรือไม่?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่สังคมไทยรู้จักคำว่าว่าฝุ่น PM 2.5 หลายคนอาจสังเกตได้ว่าอาการดังที่ว่ามานี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยขึ้น ทั้งที่ประสบพบเจอด้วยตัวเองหรือได้ทราบจากคนใกล้ตัว อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่จากมลภาวะแวดล้อมโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ในหลายมิติอย่างกว้างขวางเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเมื่อภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็ส่งผลถึงโอกาสและความถี่ของการเกิดอาการภูมิแพ้อากาศตามไปเป็นเงาตามตัว
ภูมิแพ้อากาศคืออะไร?
ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และไม่จำกัดฤดูกาล เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เชื้อรา หรือขนสัตว์ ซึ่งเมื่อร่างกายของผู้ที่แพ้ได้รับสารเหล่านี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ ปรากฎให้เห็น
- จามบ่อยครั้ง หากคุณจามหลายครั้งติดต่อกัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่นเยอะหรืออากาศเปลี่ยนแปลง อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภูมิแพ้อากาศ
- น้ำมูกไหล น้ำมูกที่ใสและไหลออกมาบ่อย ๆ เป็นสัญญาณทั่วไปของภูมิแพ้อากาศ
- มีเสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง บางครั้งอาการภูมิแพ้อาจทำให้มีเสมหะไหลลงคอ ซึ่งทำให้เจ็บคอหรือไอเรื้อรังได้
- คันจมูก คัดจมูก หรือเสียงขึ้นจมูก ความรู้สึกคันในจมูกหรืออาการคัดจมูกที่ทำให้หายใจไม่สะดวก มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับเสียงขึ้นจมูก
- คันตา เคืองตา รวมถึงน้ำตาไหล เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการแพ้สารในอากาศ
- คันหู หูอื้อ หรือเจ็บหูด้านหลัง อาการคันในหูหรือหูอื้อที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ อาจเป็นผลจากภูมิแพ้อากาศ
- เลือดกำเดาไหล หากอาการคัดจมูกรุนแรงมากขึ้น หรือมีการขยี้จมูกบ่อย ๆ อาจทำให้หลอดเลือดในจมูกแตกและมีเลือดกำเดาไหล
เหตุใดภูมิแพ้อากาศถึงเป็นอาการยอดฮิตในยุคนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและสภาพอากาศ
ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เช่น ฤดูใบไม้ผลิที่ยาวนานขึ้น และฤดูฝนที่มีฝนตกหนักบ่อยครั้ง อากาศที่แปรปรวนและความพยายามของพืชพรรณในการปรับตัว ทำให้เกิดการพัดละอองเกสรไปถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ทำให้ผู้คนบริเวณนั้น ที่ไม่เคยสัมผัสละอองมาก่อน ค่อยๆ เกิดการแพ้ได้ - มลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น
ความหนาแน่นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง และการเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมทำให้มลพิษทางอากาศเลวร้ายลง โดยเฉพาะการสะสมของ ฝุ่น PM 2.5 และสารเคมีในอากาศที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาขยะ การจราจร ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของอาการภูมิแพ้อากาศ มลพิษเหล่านี้สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดการอักเสบในทางเดินหายใจ - การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศจากภาวะโลกร้อนทำให้พืชผลิตเกสรดอกไม้มากขึ้น โดยเฉพาะในพืชที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น หญ้าและต้นไม้บางชนิด ส่งผลให้มีสารก่อภูมิแพ้ในอากาศมากขึ้น ทำให้คนที่มีความไวต่อเกสรดอกไม้หรือหญ้ามีอาการภูมิแพ้ที่รุนแรงขึ้น - ความชื้นและเชื้อรา
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้นและอากาศชื้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของ เชื้อรา ซึ่งเป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ อากาศชื้นทำให้เชื้อราเจริญเติบโตในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ชื้น ส่งผลให้ผู้ที่แพ้เชื้อรามีอาการภูมิแพ้อากาศมากขึ้น - พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
สภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้คนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งลดลงและใช้เวลาอยู่ภายในอาคารมากขึ้น วิถีการใช้ชีวิตในที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเทเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การอยู่ในออฟฟิศ อาคาร หรือที่บ้าน ที่ไม่ค่อยมีการระบายอากาศที่ดี อาจเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองและเชื้อรา
การรักษาอาการภูมิแพ้อากาศในปัจจุบันมีกี่วิธี?อาการภูมิแพ้อากาศเป็นเรื่องที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่การรักษาอาการนี้มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยการรักษาหลักในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีดังนี้:- การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
วิธีแรกและสำคัญที่สุดในการรักษาคือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือมลภาวะในอากาศ ควรใช้หน้ากากกันฝุ่นเมื่อต้องออกไปในพื้นที่ภายนอก รวมถึงการหมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดโอกาสการเกิดอาการได้ - การรักษาด้วยยา
การใช้ยากินและยาพ่นจมูกเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ในการลดอาการภูมิแพ้อากาศ ยากินสามารถช่วยลดอาการจาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล ส่วนยาพ่นจมูกจะช่วยลดอาการคัดจมูกและการอักเสบในโพรงจมูก สำหรับระยะเวลาการใช้ยาโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการวินิจฉัยของแพทย์- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
วิธีนี้คือการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่อาการภูมิแพ้รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การฉีดวัคซีนจะต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งผลลัพธ์ของการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
ปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงอาการภูมิแพ้อากาศ
อาการภูมิแพ้อากาศแม้จะใช่อาการที่ร้ายแรงแต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของหลาย ๆ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม นี่คือคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการภูมิแพ้อากาศ:
- หมั่นทำความสะอาดบ้าน
การทำความสะอาดบ้านเป็นประจำจะช่วยลดการสะสมของฝุ่นละอองและเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ควรทำความสะอาดและนำออกไปผึ่งแดด บริเวณที่ฝุ่นสามารถสะสมได้ง่าย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน และพรมเป็นประจำ - ใช้หน้ากากกันฝุ่นและเครื่องฟอกอากาศ
เมื่อต้องออกไปในพื้นที่ที่มีมลพิษหรือฝุ่นละออง ควรตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชันเพื่อประเมินความเสี่ยง ควรสวมหน้ากากกันฝุ่นเพื่อป้องกันการสูดสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกาย และเมื่ออยู่ในอาคาร ควรใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยกรองฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
สารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ และเชื้อรา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากคุณมีสัตว์เลี้ยง ควรดูแลเรื่องความสะอาดของขนสัตว์ และหลีกเลี่ยงการออกไปในที่ที่มีเกสรดอกไม้ในช่วงที่มีการแพร่กระจายมาก - ดื่มน้ำบริสุทธิ์เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้น
การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายมีความชุ่มชื้น ซึ่งช่วยลดการระคายเคืองในจมูกและคอ รวมถึงช่วยในการขับสารก่อภูมิแพ้ออกจากร่างกายได้ดีขึ้น - หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีระบบระบายอากาศไม่ดี
สถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือที่มีการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรคมาก อาจเพิ่มโอกาสให้เกิดอาการภูมิแพ้อากาศได้ ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศหมุนเวียนได้ดี
อาการภูมิแพ้อากาศสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่โลกกำลังรวนส่งผลให้มีมลพิษและฝุ่นละอองมากขึ้น แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันอาการเหล่านี้ได้
- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
- การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้