รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
จากสถิติในปัจจุบันพบว่าเด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม มลภาวะต่าง ๆ และความเป็นเมืองที่มากขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยจากพฤติกรรมของเราที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น การขาดการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เด็กกินนมแม่ลดลง และการสูบบุหรี่ ที่มากขึ้นทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก
โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย 3 อันดับ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งพบได้สูงถึง 30% ในเด็กไทย และโรคหืดหรือหอบหืดซึ่งพบได้มากถึง 13% ในเด็กไทย ส่วนโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบพบรองลงมา
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ “โรคแพ้อากาศ” เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดากลุ่มโรคภูมิแพ้ทั้งหมด ซึ่งโรคนี้จริง ๆ แล้วไม่ได้แพ้ อากาศ หรือ ออกซิเจน แต่ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารบางอย่างที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ ในอากาศ (aeroallergen) เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ละอองเกสรดอกไม้ รังแคสัตว์ เช่น แมว สุนัข และเชื้อรา
เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จะทำให้มีอาการทางจมูกอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการต่อไปนี้คือ จาม คันจมูก คัดจมูก และมีน้ำมูกใส ๆ นอกจากนี้อาจมีอาการร่วม ได้แก่ อาการทางตา คือ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล โดยอาการเหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป
หากสงสัยว่าเรามีอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยการถามประวัติ ตรวจร่างกายและนัดทำการทดสอบภูมิแพ้ โดยผลการทดสอบจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่แพ้ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง ซึ่งการทดสอบภูมิแพ้มี 2 วิธี คือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) และการตรวจเลือดเพื่อหา IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ (specific IgE)
การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สามารถทำได้โดย หลีกเลี่ยงหรือควบคุมสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด ตามชนิดสารก่อภูมิแพ้ และใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาต้านฮีสตามีน ยาลดอาการคัดจมูก ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก และติดตามอาการตามที่แพทย์นัดเป็นระยะเพื่อสังเกตอาการ และปรับลดการใช้ยาลงเท่าที่จำเป็น หากการรักษาเบื้องต้นดังกล่าวได้ผลไม่ดีจึงพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ หรือ การผ่าตัด
หากไม่ได้รับการรักษา หรือ รักษาแต่ควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดี ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหืด ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าปกติ
การป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองทางเดินหายใจต่าง ๆ เช่น ควันบุหรี่ รวมถึงมลภาวะ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่