ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอล ได้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่เป็นโลกกว้างมาสู่โลกแคบ ๆ บนหน้าจอเล็ก ๆ ไม่กี่นิ้ว แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้อันไม่สิ้นสุด เด็กเจนอัลฟ่ายุคนี้เติบโตมาพร้อมกับ เทคโนโลยี เด็กบางคนสามารถใช้ ไอแพด หรือแท็บเล็ตได้อย่างคล่องแคล่วก่อนที่จะกินข้าวได้เองเป็นเสียอีก…
ถึงแม้คุณไม่อยากให้ลูกเล็กของคุณต้องจ้องกับหน้าจอนี้นาน ๆ แต่บางครั้งคุณก็ไม่สามารถทนเสียงเรียกร้องจากลูกของคุณได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกับลูกของตนเอง
วันนี้ลองมาฟังคำแนะนำดี ๆ ที่จะช่วยในการสร้างสมดุลในการใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี เพื่อชีวิตที่ดีของลูกน้อยที่น่ารักของคุณ กันดีกว่า
เทคโนโลยี ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้อย่างไรบ้าง ?
เด็กส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้อุปกรณ์เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องกังวล หรือกลัวว่าเด็กจะตามเทคโนโลยีไม่ทันเพื่อน ไม่ว่าเด็กจะอ่านหนังสือออก หรือไม่ออก ก็สามารถเข้าใจการใช้งานในอุปกรณ์เหล่านี้ได้ไม่ยาก
สิ่งสำคัญในการใช้ เทคโนโลยี ก็คือการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก เพื่อการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ที่ดี การเลือกเนื้อหา และเครื่องมือจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งการจำกัดเวลาที่ใช้งานเพื่อสุขภาพกาย และใจที่ดีของลูก
ผลกระทบของการใช้อุปกรณ์สื่อสารในเด็ก
การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับเด็กมีผลต่อร่างกาย และจิตใจของเด็ก การห้ามใช้งานเลยก็ไม่เป็นผลดี หรือการใช้งานที่มากเกินไปก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และอารมณ์ในระยะยาว พ่อแม่ควรดูแล และจัดสรรการใช้งานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่เหมาะสม
เมื่อเด็กได้ถูกจัดระเบียบที่ดีแล้วตั้งแต่เริ่มต้น เด็กก็จะไม่ต่อต้านกับกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นมา สามารถปรับตัวในการใช้อุปกรณ์ได้อย่างเข้าใจ ไม่ถูกครอบงำโดยโลกเสมือน สามารถใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างปกติ ไม่ต้องเป็นสังคมก้มหน้าที่เห็นกันทั่วไปในหลายครอบครัว
ข้อดี :
1.เด็กสามารถใช้งานเพื่อเข้าถึงเนื้อหาและข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว
2.เด็กได้มีโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานที่เป็นดิจิทัลในยุคปัจจุบันและอนาคต
3.การเล่นเกมส์ที่ดีทำให้เด็กได้มีโอกาสฝึกคิดแก้ปัญหาวางแผนและตัดสินใจ
4.ได้ฝึกทักษะใหม่ในการติดต่อสื่อสารออนไลน์ แบบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งแบบเห็นหน้าและไม่เห็นหน้า
ข้อเสีย :
1.เด็กจะเบื่อ หรือขาดความสุข เมื่อไม่สามารถใช้งาน หรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้
2.การมีอารมณ์ฉุนเฉียว หรือเกรี้ยวกราดเมื่อต้องรออะไรนาน ๆ หรือจำกัดเวลาในการเล่น
3.การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนาน ๆ จะรบกวนการนอนหลับ และมีปัญหากับสุขภาพสายตา และร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้
4.ขาดการสื่อสารที่ดี และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เด็กอายุเท่าไหร่จึงจะเริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีต่าง ๆ
เทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กก็จริง เพราะให้ทั้งความตื่นเต้นสนุกสนาน มีสิ่งกระตุ้นความสนใจทั้งแสงสีเสียง ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันใจ
แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีผลต่อเด็กเช่นกัน เพราะทำให้เด็กขาดความอดทนในการรอคอย เนื่องจากคุ้นชินกับทุกสิ่งที่เป็นอัตโนมัติตอบสนองได้ทันทีทันใด การตอบสนองที่ช้าจึงมีผลกับอารมณ์ของเด็ก
นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีกับเด็กที่เร็วเกินไป ก็จะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ในการปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคม โดยทั่วไปเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ยังไม่ควรที่จะดูทีวี หรือใช้สื่อหน้าจอเทคโนโลยีใด ๆ แต่หากจำเป็นจริง ๆ ก็อาจเริ่มใช้ได้หลังจาก 2 ปีครึ่ง แต่ก็ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลาที่ใช้งาน
เด็กควรใช้เวลาเท่าไหร่ในการใช้ และเรียนรู้เทคโนโลยี
ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาที่พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยีได้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่จะปล่อยให้เด็กเล่น หรือดูไปตามอำเภอใจ พ่อแม่ควรจะจัดสรรเวลาที่เหมาะสมในการใช้งานต่อวันไม่เกิน 1ชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้เด็กได้มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย และไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ
พ่อแม่ควรขีดเส้นเวลานี้ตั้งแต่แรก ๆ หากปล่อยให้เล่นโดยไม่จำกัดเวลา แล้วมาจำกัดเวลาในภายหลัง เด็กจะมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียว และไม่เชื่อฟัง นอกจากนี้การคัดเลือกโปรแกรม หรือเครื่องมือที่เหมาะสมกับเด็กในวัยต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และทักษะที่ดีให้กับเด็กได้
ช่วงนี้ถ้าหากพ่อแม่มีเวลา ควรใช้เวลานี้กับลูกไปด้วยกัน เพราะบางครั้งเด็กอาจต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กจะได้ไม่ติดขัด และกลายเป็นความเบื่อ เมื่อมีพ่อแม่เป็นพี่เลี้ยง เด็กก็จะสามารถเล่นได้อย่างสนุกสนาน และแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์
ช่วงเวลาใดที่ควรจะปิดอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้
พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกสามารถใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเมื่อใดก็ได้ ช่วงเวลาต่อไปนี้คือช่วงเวลาที่มีค่าของครอบครัวที่คุณไม่ควรให้เด็กเล่นอุปกรณ์ต่าง ๆ คือ
1.เมื่อไปรับและส่งเด็กที่โรงเรียน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับเด็ก พ่อแม่จะได้มีโอกาสพูดคุยซักถามก่อนเตรียมตัวเข้าเรียนและเมื่อตอนเด็กอยู่โรงเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนเป็นอย่างไร ครูสอนเป็นอย่างไร
2.หลังจากพ่อแม่กลับจากที่ทำงานถึงที่บ้านแล้ว เวลานี้จะเป็นเวลาแห่งการสร้างสายสัมพันธ์ของครอบครัว ช่วงนี้พ่อแม่ควรใช้เวลากับลูกๆ อาจเป็นการปั่นจักรยานออกกำลังกาย เล่นแบตมินตันหรือเตะบอลด้วยกัน
3.ในระหว่างมื้ออาหารรวมถึงเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้านด้วย ช่วงนี้พ่อแม่จะได้มีเวลาพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ และสอนสิ่งต่างๆให้กับเด็ก รวมทั้งเด็กก็จะได้มีโอกาสแสดงออกในการพูดคุยและปรึกษาปัญหาต่างๆด้วย
4.ในระหว่างที่อยู่นอกบ้าน เช่นการเดินทางไปสวนสาธารณะ ไปเที่ยวสถานที่สำคัญต่างๆในวันหยุดพักผ่อน การได้ไปในที่ใหม่ๆเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็ก พ่อแม่ควรตระหนักว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหน้าจอแคบๆเสมอไป
- 3 เกมกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกลูกได้ที่บ้าน
- 10 ทักษะสำคัญปลูกฝังลูก เตรียมตัวเข้าอนุบาล
- 7 กิจกรรมกระตุ้นความฉลาด บูสต์สมองให้กับลูกวัยเตาะแตะ
มีสิ่งที่ต้องระวังและประเมินอะไรบ้าง สำหรับเด็กที่ใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีนี้
1.การเข้าถึงเนื้อหาที่เหมาะสม
พ่อแม่ควรเอาใจใส่อย่างยิ่งในการตรวจสอบดูแลให้ลูกเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย การจัดสถานที่ในการใช้งานอุปกรณ์ให้อยู่ในสายตา ไม่ควรให้ลูกใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในที่ลับตา
2.การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวสำหรับโซเชียลมีเดียของเด็ก และบัญชีออนไลน์อื่น ๆ จะต้องตั้งค่าแบบจำกัดไม่ให้คนแปลกหน้าสามารถมองเห็นและใครสามารถติดต่อลูกของคุณได้
3.ประเมินการใช้เวลาในแต่ละโปรแกรม
พ่อแม่ควรทำการประเมินเวลาที่ลูกใช้ไปในแต่ละโปรแกรม เพราะการใช้เวลากับหน้าจอที่เท่ากันกับสิ่งที่ต่างกัน ย่อมได้คุณค่าไม่เท่ากัน การให้ลูกของคุณเล่นเกมส์หนึ่งชั่วโมงกับการใช้งาน โปรแกรมออกแบบ ย่อมให้คุณค่าแก่เด็กไม่เท่ากันอย่างแน่นอน
การฝึกที่ดีที่สุดคือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
ลูกของคุณมักเป็นนักเลียนแบบที่เก่งทีเดียว ถ้าเค้าได้แบบอย่างจากพ่อแม่ที่ดี ลูกก็มักจะประสบความสำเร็จในชีวิต สำหรับพ่อแม่เองก็ต้องให้ความร่วมมือในการช่วยลูกให้ได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น หากพ่อแม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำชีวิตตัวเองไปด้วยแล้ว ก็เป็นการง่ายที่ลูกจะทำตามพฤติกรรมเหล่านั้น
ดังนั้น ควรระมัดระวังการกระทำเมื่ออยู่กับลูก เช่น ไม่ควรเช็คโทรศัพท์ ดูหนัง หรือช็อปออนไลน์อยู่ตลอดเวลา หรือเมื่อเวลาที่คุณอยู่กับลูก ควรให้จบกิจกรรมใด ๆ กับลูกเสียก่อนที่จะไปรับโทรศัพท์
จะเห็นได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้กำลังเปลี่ยนแปลงโลกของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยสิ้นเชิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบได้ดั่งดาบสองคม มีทั้งคุณประโยชน์ และโทษภัยหากไม่รู้เท่าทัน
สิ่งสำคัญที่สุดคงเป็นการสอนให้ลูกน้อยของเรารู้จักคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุ มีผล และรู้จักควบคุมตนเองเวลาต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้โดยลำพัง อันจะเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุด ที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถมอบให้กับเขาไปได้ชั่วชีวิต