สูงวัยอย่างมีคุณภาพ คือ สิ่งที่ประเทศต้องการจากผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา หรือ พัฒนาแล้ว กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นตามมาอีกหลายอย่าง แต่จะสูงวัยอย่างไรให้มีคุณภาพ ไม่ให้ใครมาดูถูกเราได้ว่า เป็นพวกแก่เกินแกง ตามมาดูกันเลย
สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องทำอย่างไร?
คนชราจำนวนมาก รู้สึกว่าตนเองนั้นไร้ค่า เพราะสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลง รวมถึงเรี่ยวแรงที่ถดถอย ทำให้ไม่สามารถทำงานหาเงินได้อีกต่อไป จึงคิดตนเองไม่มีประโยชน์
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุต้องคิดให้ได้ก่อนว่า ตนเองมีคุณค่า เพราะจุดแข็งอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุ ก็คือ ความรู้ และประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวอันโชกโชน ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตสะสมมา การนำความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ มาค้นหาและทำอะไรสักอย่าง แม้จะดูไม่มากมายนัก แต่ก็สามารถช่วยสร้างความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าขึ้นมาได้
นอกจากการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองแล้ว การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดใหม่ ๆ หรืออย่างน้อยก็เข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ และสิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้การใช้ชีวิตร่วมกับคนหนุ่มสาว ของผู้สูงอายุง่ายขึ้นมาก เพราะสามารถพูดคุยกันแล้วเข้าใจตรงกันได้ ไม่ใช่คิดกันไปคนละทาง เข้าใจกันไปคนละอย่าง เพราะมีชุดข้อมูลที่ไม่เท่ากัน
สูงวัยทั้งที ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ได้ก็คือ การเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตวัยชรา มีเรื่องมากมายคุณสามารถเตรียมพร้อมก่อนเข้าวัยชรา เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสง่างาม และมีคุณภาพได้ คือ
- เตรียมพร้อมด้านสุขภาพ
สุขภาพที่ดี จะทำให้เรา สูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยที่ไม่มีปัญหาทางร่างกายมาเป็นอุปสรรค การเตรียมตัวด้านสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยชราของคุณได้อย่างแน่นอน สิ่งที่ควรทำเพื่อเตรียมพร้อมในด้านสุขภาพ ได้แก่
- ดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนที่อายุยังน้อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป
- หมั่นตรวจร่างกายประจำปี
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ งดสูบบุหรี่
- เตรียมพร้อมด้านการเงิน
การมีเงินออม จะเป็นหลักประกันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ คุณควรจะเริ่มออมเงิน สำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณในไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะวัยชรา จะเป็นช่วงที่คุณยังคงมีรายจ่ายอยู่ แต่มีรายได้ต่ำ ไปจนถึงไม่มีรายได้เลย และอาจทำให้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิตได้
นอกจากนี้ การมีเงินให้ใช้จ่ายได้อย่างไม่เดือดร้อน และไม่ต้องรบกวนใครในช่วงวัยเกษียณ จะทำให้คุณไม่รู้สึกด้อยค่า หรือเป็นภาระของลูกหลาน และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้นด้วย
- เตรียมพร้อมด้านที่อยู่อาศัย
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเตรียมบ้านด้วย อยู่บ้านเดิมต่อไปไม่ได้หรือ? เหตุที่เราต้องเตรียมพื้นที่ภายในบ้าน ให้เหมาะสมกับวัยชราเป็นเพราะว่า เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามอายุ ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตจะลดลง ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านจะสูงขึ้น และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ผลกระทบที่มีต่อร่างกายของคุณ ก็จะรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับตอนที่อายุยังน้อยด้วย
ดังนั้น การเตรียมบ้านให้พร้อม และเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ จะช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และลดการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยตัวอย่างของบ้าน ที่ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ คือ
- มีพื้นต่างระดับให้น้อยที่สุด
- พื้นผิวไม่ลื่น เช่น เลือกใช้กระเบื้องกันลื้นภายในห้องน้ำ
- ใช้สีที่ตัดกัน เพื่อให้มองเห็นความต่างที่ชัดเจน โดยเฉพาะในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขอบบันได ขอบโต๊ะ เป็นต้น
- ทำราวจับ หรือราวเกาะ สำหรับช่วยพยุงตัวเวลาลุกนั่ง หรือนอน บริเวณห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดินไปห้องน้ำ และในห้องน้ำ
- ปรับขนาดความสูงของบันไดให้ไม่สูงชัน หรือมีชานพัก
- เตรียมพร้อมด้านจิตใจ
ในวันที่อะไร ๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากที่เคยแข็งแรง ก็อ่อนแอลง สิ่งที่เคยทำได้ คุณอาจทำไม่ได้อีก การเตรียมทำใจให้พร้อมรับมือ และยอมรับกับความเสื่อมของร่างกาย หมั่นทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน และรู้จักปล่อยวาง จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในวัยชรา ไม่หงุดหงิดกับตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
นอกจากนี้ การทำตัวเป็นผู้สูงวัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ ทำอาชีพที่เหมาะสมตามวัย และสภาพร่างกาย รวมถึงนิสัยและความชอบของตนเอง การไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง หรือทำงานอดิเรก ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ทั้งช่วยทำให้คลายเหงา มีชีวิตชีวา และทำให้คุณเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่ทุกคนต้องการได้
เกร็ดความรู้ : จากสถิติ World Health Organization (WHO) ในปี 2050, จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก ที่มีอายุ 60ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ 2พันล้านคน , เพิ่มขึ้นจากเดิม 900 ล้านคน และในปัจจุบัน, ผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปี หรือมากกว่า มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 125 ล้านคน
อ้างอิง : http://bit.ly/2Kcaevp
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี