ช่วงเวลาในสวนสนุกเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ มีเสียงหัวเราะ มีความสุข แต่ใครจะรู้ว่ามี อันตรายในสวนสนุก ที่รออยู่ จนอาจทำให้สวนสนุกไม่สนุกอย่างที่คิด
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในสวนสนุก อย่างเป็นทางการ หรือมีข้อบังคับให้มีการรายงานอุบัติเหตุ ดังนั้น ข้อมูลอุบัติเหตุส่วนใหญ่ จึงมีเฉพาะอุบัติเหตุจากการนำเสนอในสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลเท่านั้น
ข้อมูลการการบาดเจ็บ และ เสียชีวิตจากเครื่องเล่นต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2550-2560 ในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2550 : เครื่องเล่นล่องแก่งพุ่งออกนอกราง ทำให้มีผู้เล่นกระเด็นออกมาจากตัวเรือกระแทกพื้นดิน สาเหตุจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องปั๊มน้ำหยุดทำงาน (เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 5 ราย)
ปี พ.ศ. 2551 : เครื่องเล่นซูเปอร์สไปรอล หักเป็นสองท่อนทำให้คนเล่นตกลงมา เหตุเกิดจากข้อต่อรางหลุดแยกออกจากกัน (บาดเจ็บรวม 28 ราย)
ปี พ.ศ. 2553 : เครื่องเล่นสไปเดอร์ หมุนเร็วจนทำให้คนเล่นหลุดออกจากเก้าอี้พลัดตกลงมา กระแทกกับขอบรั้ว (บาดเจ็บ 1 ราย)
ปี พ.ศ. 2553 : เครื่องเล่นรถเมล์เหินเวหา อุปกรณ์ชำรุด ทำให้รถหงายหลังร่วงลงพื้นจากความสูง 2 เมตร (บาดเจ็บ 7 ราย)
ปี พ.ศ. 2556 : เครื่องเล่นจีแม็ก รีเวิร์ส บันจี้ สลิงขาด ในขณะที่เครื่องเล่นเริ่มทำงาน
ปี พ.ศ. 2557 : เครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ เกิดอุบัติเหตุ มือของคนเล่นเข้าไปติดในสลิง ทำให้นิ้วขาด 2 นิ้ว (บาดเจ็บ 1 ราย)
ปี พ.ศ. 2558 : บันจี้จัมพ์ เกิดอุบัติเหตุสายยึดกับข้อเท้าของผู้เล่นหลุดออกจากกัน ทำให้ร่างตกกระแทกพื้น (เสียชีวิต 1 ราย)
ปี พ.ศ. 2558 : เครื่องเล่นกระรอกบิน เกิดอุบัติเหตุจากความประมาทเจ้าหน้าที่ประจำฐาน ทำให้ผู้ใช้บริการไปกระแทกกับตัวกั้น และกระเด้งกลับจนคอหักจากแรงเหวี่ยง (เสียชีวิต 1 ราย)
ปี พ.ศ. 2559 : เครื่องเล่นจังเกิ้ล โคสเตอร์ เกิดอุบัติเหตุชนกัน (บาดเจ็บ 2 ราย)
ปี พ.ศ. 2560 : เครื่องเล่นหนวดปลาหมึก เกิดน็อตยึดไฮโดรลิกหลุด กระบอกไฮโดรลิกขาด กระเช้านั่งหล่นลงพื้น (บาดเจ็บ 15 ราย)
ถึงแม้อุบัติเหตุร้ายแรง อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสวนสนุก แต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บนั้นก็เกิดขึ้นได้บ่อย มาดูกันว่าเวลาพาลูกไปเที่ยวสวนสนุก หรือสนามเด็กเล่น ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง
5 อันตรายในสวนสนุก
1. ลูกตกจากเครื่องเล่น
เครื่องเล่นที่สูงมาก ๆ ต้องระวัง ถ้าดูว่าสูงเกินไป หรือเหมาะกับอายุลูกไหม หากลูกยังเล็กไม่ควรให้ลูกเล่น ต้องระวังไม่ให้ลูกเล่นแผลงๆ หรือ ถ้าดูไม่มีความปลอดภัย ไม่มีราวกันตกหรือผนังกันตก ไม่ควรวางใจ
2. ตัวติดในเครื่องเล่น
ระวังเครื่องเล่นที่เป็นรู เป็นช่อง ต้องมั่นใจว่าหัว หรือลำตัวของลูกจะไม่ไปติดในช่องต่าง ๆ หรือ ถ้าเป็นเครื่องเล่นที่มีรูต้องมีขนาดที่นิ้วเด็กจะไม่ไปติด เพราะเป็นช่วงวัยที่ชอบสำรวจไปทั่ว เห็นช่อง เห็นรู อาจจะเอานิ้วไปแหย่ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุนิ้วติดได้
3. เครื่องเล่นพัง เสีย ขัดข้อง
หากเป็นสวนสนุกที่เล็กๆ หรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น สวนสนุกตามตลาดนัด ตามงานต่าง ๆ ที่เป็นสวนสนุกชั่วคราว เช่น บ้านบอล บ้านลม ต้องระวังให้มาก เพราะอาจมีการติดตั้ง การดูแลรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องระวังว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ เกิดขัดข้องได้ เพราะมีข่าวบ่อย ๆ เช่น บ้านลมระเบิด หรือเครื่องเล่นขัดข้อง
4. คนแปลกหน้า
เวลาพาลูกไปเล่นสวนสนุก สนามเด็กเล่น หรือนอกบ้านที่มีคนเยอะ ๆ ต้องระวังคนแปลกหน้าไว้ให้มาก ควรดูลูกให้อยู่ในสายตาตลอด และต้องสอน ต้องฝึกให้ลูกระมัดระวังคนแปลกหน้าด้วย ไม่ให้ลูกไปกับคนไม่รู้จัก ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาตเด็ดขาด
5. โรคติดต่อ อันตรายในสวนสนุก
อันตรายที่มาจากสวนสนุก ไม่ได้มีแค่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกะทันหันในสวนสนุกเท่านั้น แต่อาจจะมีภัยที่แฝงตัวที่เรามองไม่เห็นอีกด้วย เช่น โรคติดต่อต่าง ๆ จากการติดต่อกันในสวนสนุก เพราะเป็นที่ที่มีเด็กมารวมตัวกันอยู่เยอะ อาจจะมีเด็กที่ป่วยไม่รู้ตัว แพร่เชื้อผ่านการไอ จาม การสัมผัสกัน ซึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก ฯลฯ
ทิปส์! ป้องกันอันตรายในสวนสนุก
– เล่นเครื่องเล่นให้เหมาะสมกับช่วงอายุ และเล่นให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง
– สำรวจเครื่องเล่นในสวนสนุกต้องไม่ชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
– มีราวกันตก เครื่องเล่นที่มีความสูงยกระดับเกินกว่า 50 – 70 เซนติเมตร ต้องมีราวกันตกหรือผนังกันตก เพื่อป้องกันเด็กตกลงมา
– พื้นสนามอาจทำด้วยยางสังเคราะห์ เวลาเด็กหกล้ม หรือตกลงจากเครื่องเล่นจะได้ไม่บาดเจ็บมากจนเกินไป
– สีที่ทาเครื่องเล่นต้องปลอดภัย ไม่หลุดลอกติดมือ น็อตที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นควรเป็นระบบกันคลาย และต้องออกแบบให้ซ่อนหัวน็อต หรือปลายตัดหัวมน รวมทั้งไม่เป็นสนิมด้วย
– พ่อแม่ต้องคอยดูลูกไม่ให้คลาดสายตา ต้องอยู่ในระยะที่ช่วยเหลือลูกได้ทันที อย่าวางใจให้คนอื่นดูแลลูก
– ล้างมือให้สะอาด ก่อนและหลังเล่นสนุกในสวนสนุก
– ในสวนสนุกควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลด้วย
ที่มา : http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5561/8//8.บทที่%202.pdf
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี