เมื่อพูดถึง วัคซีน หลายคนอาจจะเข้าใจว่า มีแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องฉีด แต่อันที่จริงแล้ว วัคซีนคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกช่วงวัย เพราะสามารถช่วยสร้างเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้กับร่างกาย ทำให้มีสุขภาพที่ดี และยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้อีกด้วย
โดยวัคซีนแต่ละชนิด ก็จะมีเงื่อนไขในการฉีดที่ต่างกันออกไป รวมถึงคนในแต่ละช่วงวัย ก็มีความต้องการวัคซีนที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย ลองมาดูกันสิว่า วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ ในแต่ละช่วงอายุนั้น มีอะไรบ้าง ?
วัคซีน พื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด – อายุ 18 ปี
วัคซีนขั้นพื้นฐาน คือ วัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ ตามที่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทยในแต่ละช่วงวัย ซึ่งมีดังนี้
- วัคซีนวัณโรค (BCG) ฉีดเมื่อแรกคลอด ส่วนมากฉีดที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้านบริเวณที่ไหล่ซ้าย หรือสะโพก
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) ควรฉีดตั้งแต่แรกเกิด และ 1 เดือน 6 เดือน ตามลำดับ
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DPT) ควรฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน, 4-6 ปี และ 11-12 ปี (เฉพาะบาดทะยักและคอตีบ)
- วัคซีนโปลิโอ มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดกิน และชนิดฉีดควรให้ตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 2 ปี ครึ่งตามลำดับ
- วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) หรือ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ควรฉีดตามช่วงอายุคือ 1ปี และ 2 ปี 6 เดือน
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดในเด็กปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี สำหรับเด็กในปีแรกฉีด 2 เข็ม และห่างกัน 4 สัปดาห์
- วัคซีนเอชพีวี (HPV) เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี อันเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถช่วยป้องกันได้ถึง 70-90% แนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป
วัคซีนเสริม สำหรับเด็กแรกเกิด – อายุ 18 ปี
เพื่อให้ลูกของคุณมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น วัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือกจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค ซึ่งมักจะเป็นวัคซีนชนิดรวมฉีดเข็มเดียว แทนการแยกฉีดหลายเข็ม วัคซีนเสริมที่แนะนำดังนี้
- วัคซีนโรต้า มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ Monovalent (Human) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน และชนิด pentavalent (Bovine- Human) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4, 6 เดือน
- วัคซีนนิวโมคอคคัส ป้องกันปอดอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ
- PCV ฉีดช่วงอายุ 2, 4 และ 6 เดือน และกระตุ้น 12-15 เดือน
- PS23 ฉีดช่วงอายุ 2 ปี ขึ้นไป
- วัคซีนฮิบ (Haemophilusinfluenzae type b) ควรฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 12-18 เดือน และ 4-6 ปี ตามลำดับ รวมทั้งหมด 2 เข็ม
- วัคซีนตับอักเสบ เอ ฉีดช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป และเข็มที่ 2 ห่างกัน 6-12 เดือน
- วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดช่วงอายุ 9 ปีขึ้นไป ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0 , 6, 12 ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน
วัคซีนพื้นฐานสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 19 – 26 ปี
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็ม ทุกปี
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ ฉีดกระตุ้น 1 เข็มด้วย Td ทุก 10 ปี (เช่น อายุ 20, 30, 40… ปี)
- วัคซีนอีสุกอีใส ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก [แนะนำสำหรับผู้หญิง] ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 หรือ 0, 2 และ 6
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 – 12 เดือน
วัคซีนเสริมสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 19 – 26 ปี
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ให้วัคซีน Tdap แทน Td 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอ เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคไอกรนในผู้ใหญ่ และส่งผลในการลดการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็กเล็กด้วย
- วัคซีน HPV ป้องกันหูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนัก (สำหรับผู้ชาย) ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 หรือ 0, 2 และ 6
- วัคซีนไข้เลือดออก (สำหรับผู้ที่มีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน) ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 6 และ 12
วัคซีนพื้นฐานสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 27 – 64 ปี
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็ม ทุกปี
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ ฉีดกระตุ้น 1 เข็มด้วย Td ทุก 10 ปี (เช่น อายุ 20, 30, 40…ปี)
- วัคซีนอีสุกอีใส ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน [อายุ ≤ 40 ปี] 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
วัคซีนเสริมสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีอายุ 27 – 64 ปี
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ให้วัคซีน Tdap แทน Td 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอ เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคไอกรนในผู้ใหญ่ และส่งผลในการลดการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็กเล็ก ซึ่งเด็กเล็กมีอัตราป่วยตายสูงเมื่อป่วยเป็นโรค
- วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก [อาจพิจารณาฉีดแก่ผู้หญิงที่อายุมากว่า 26 ปี เพราะพบว่ายังได้ประโยชน์อยู่] ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 หรือ 0, 2 และ 6
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 – 12 เดือน (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนไข้เลือดออก [อายุ ≤ 45 ปี] ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 6 และ 12
- วัคซีนงูสวัด [อายุ ≥ 60 ปี] ฉีด 1 เข็ม
วัคซีนพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็ม ทุกปี
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1 และ 6 (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ ฉีดกระตุ้น 1 เข็มด้วย Td ทุก 10 ปี (เช่น อายุ 20, 30, 40…ปี)
- วัคซีนอีสุกอีใส ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีน IPD นิวโมคอคคัส ชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPV – 23 vaccine) ฉีด 1 เข็ม
- วัคซีน IPD นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV – 13 vaccine) ฉีด 1 เข็ม
วัคซีนเสริมสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ให้วัคซีน Tdap แทน Td 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอ เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคไอกรนในผู้ใหญ่ และส่งผลในการลดการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็กเล็ก ซึ่งเด็กเล็กมีอัตราป่วยตายสูงเมื่อป่วยเป็นโรค
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 – 12 เดือน (ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด)
- วัคซีนงูสวัด ฉีด 1 เข็ม
ข้อควรปฏิบัติตัวในการรับวัคซีน
- สำหรับเด็กเล็ก ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง
- ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่ มีไข้ สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน แต่หาก เป็นหวัด หรือ ท้องเสีย โดยไม่มีไข้ ก็สามารถรับ วัคซีนได้
- หลังรับวัคซีน ควรอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ยา
- หากเคยฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร เช่น มีอาการแพ้ไข่แบบรุนแรง ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล
อาการข้างเคียงที่อาจะเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน
วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็ยังคงพบอาการข้างเคียงได้บ้างแต่ไม่รุนแรง และจะหายไปในระยะเวลา 2 – 3 วัน โดยมีอาการแตกต่างกันไปตามประเภทของวัคซีน แบ่งอกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- อาการเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวมแดง เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด
- อาการทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
การป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้ คำโบราณที่ใช้ได้ดีเสมอกับเรื่องสุขภาพของเรา ฉะนั้น อย่าได้ประมาท ใครที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนตามบทความข้างต้น แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพ และให้คุณหมอแนะนำเรื่องวัคซีนที่เหมาะสมกับเราได้ เพื่อสุขภาพดีดีของเรานั่นเอง
อ้างอิง :
1. bangkokhospitalhuahin.com
2. http://data.nvi.go.th
3. www.paolohospital.com
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี