หน้าฝนอากาศชื้นเป็นฤดูสวรรค์ของเหล่าไวรัสทั้งหลาย เพราะสภาพอากาศเอื้อต่อการแพร่ระบาดได้ง่าย มาเช็กกันว่า 5 ไวรัสก่อโรคหวัด ที่ต้องระวังในหน้าฝนนี้ ทำไข้ขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน! มีไวรัสอะไรบ้าง?
- หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!
- ยาลดไข้ บรรเทาหวัดสูตรผสม มีสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างไร?
- ป่วยเป็นไข้หวัด ควรกินอะไรดี? พร้อมแนะ! วิธีใช้ยาแก้หวัดสูตรผสม
5 ไวรัสก่อโรคหวัด ทำไข้ขึ้นสูงในหน้าฝนนี้!
1. ไรโนไวรัส (Rhinovirus)
ไรโนไวรัส เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก (Rhino แปลว่าจมูก) และเป็นไวรัสตัวการใหญ่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดได้มากที่สุดในบรรดาไวรัสทั้งหมด ไรโนไวรัสมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ (A, B และ C) รวมได้มากกว่า 100 ชนิด
ไวรัสชนิดนี้จะชอบความเย็น หรืออุณหภูมิต่ำ ประมาณ 33-35°C อาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก (nasal mucosa) แต่ถ้าเข้าหลอดลมแล้วอุณหภูมิสูงกว่าจะอยู่ไม่ได้ จึงมักไม่มีอาการมาก เป็นแค่หวัดธรรมดา (common cold)
ไรโนไวรัสนี้ นอกจากทำให้เกิดอาการหวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูกแล้ว ยังทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในร่างกายที่คล้ายกับการติดเชื้อRSV ที่ก่อให้เกิดอาการหอบหืดในอนาคตได้
“ไรโนไวรัส” ก่อให้เกิดโรค : ไข้หวัดธรรมดา
ระยะฟักตัว : 1-4 วัน
ระยะติดต่อ หรือ ระยะแพร่เชื้อ : สามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ
การติดต่อ : ไรโนไวรัสติดต่อได้ทางการหายใจ น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอ หรือหายใจรดกัน
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไรโนไวรัส :
การรักษา และป้องกัน :
- รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้บรรเทาหวัด และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้มาก ๆ หลังกินยา
- กินอาหารอ่อน ๆ (ดูบทความ -> 8 อาหารควรกินเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ช่วยฟื้นร่างกายให้ดีขึ้นเร็ววัน!)
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
อ่านเพิ่มเติม -> โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม
2. ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)
ไวรัสอินฟลูเอนซาอาศัยอยู่ในอยู่ในน้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อจากคนสู่คนทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น การแพร่เชื้อจะเกิดไวมาก ไวรัสอินฟลูเอนซาเป็นไวรัสที่อันตรายกว่าไรโนไวรัส มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจน (Antigen)* ที่เกิดได้บ่อย ทำให้มีเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นต่างสถานที่ และต่างระยะเวลา ดังนั้นจึงต้องมีระบบการเรียกชื่อเพื่อป้องกันความสับสน โดย คณะผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดให้เรียกชื่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามหลักสากลทั่วโลกดังนี้
- ชนิดไวรัส -> ชื่อเมืองหรือประเทศที่พบเชื้อ -> ลำดับสายพันธุ์ที่พบในปีนั้น -> ปี ค.ศ.ที่แยกเชื้อได้ -> ชนิดย่อยของ H และ N
- ยกตัวอย่าง เช่น A/Sydney/5/97(H3N2) หรือ A/Victoria/3/75/(H3N2) หรีอ A/Bangkok/01/79(H3N2)
- หรืออย่างไวรัสอินฟลูเอนซาที่ระบาดไปล่าสุดก็คือ Influenza A(H1N1) pdm09 ซึ่งไม่ได้บอกตัวเมืองที่ระบาด แต่ทิ้งท้ายด้วย pdm09 ซึ่งหมายถึง ระบาดไปทั่วโลกเมื่อปี 2009 นั่นเอง
*แอนติเจน (Antigen) คือ สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกาย แล้วร่างกายจะผลิตสารซึ่งเรียกว่าแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้าน หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ ฉะนั้น แอนติเจนอาจเปรียบได้กับข้าศึกที่เข้ามาเพื่อมุ่งจะทำลายร่างกาย
“ไวรัสอินฟลูเอนซา” ก่อให้เกิดโรค : ไข้หวัดใหญ่
ระยะฟักตัว : ประมาณ 1-3 วัน
ระยะติดต่อ หรือ ระยะแพร่เชื้อ : ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา :
- มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน (โดยทั่วไปประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส)
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- ไอแห้ง ๆ คอแห้ง เจ็บคอ
- อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือมีเสมหะมาก และตาแดง ตาแฉะตามมา
โดยทั่วไปผู้ป่วยเด็ก มักมีไข้สูงกว่าผู้ใหญ่ อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอุจาระร่วงได้ ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
การรักษา และป้องกัน :
- การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ ยาบรรเทาปวดลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ เป็นต้น
- การให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามการพิจารณาของแพทย์ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir)
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และต้องให้ซ้ำทุกปีก่อนฤดูการระบาด
- ดระวังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และ ฤดูหนาว
อ่านเพิ่มเติม -> ระบาดหนัก! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (H1N1) ควรรับมือยังไงดี?
3. ไวรัสเด็งกี (Dengue virus: DENV)
เป็นไวรัสที่พบการระบาดช่วงฤดูฝน ในประเทศเขตร้อน และเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเด็งกีกัดอาจเกิดการติดเชื้อและอาจถึงขั้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก
ไวรัสเด็งกี มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสเด็งกีสายพันธุ์ Denv – 1, Denv – 2, Denv – 3, และ Denv – 4 โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุนั้นไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นในระยะสั้น ประมาณ 3-12 เดือน การติดเชื้อไวรัสเด็งกีครั้งแรกมักมีอาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อซ้ำในครั้งหลังนั้นผู้ติดเชื้อมีโอกาสที่จะป่วยเป็นไข้เลือดออกได้
สำหรับเชื้อเด็งกีนี้จะอยู่ในตัวยุงนั้นตลอดชีวิตของยุง คือ ประมาณ 45 วัน
“ไวรัสเด็งกี” ก่อให้เกิดโรค : ไข้เลือดออก
ระยะฟักตัวและแพร่เชื้อจากยุงสู่คน : ใช้ระยะเวลาฟักตัว 8-12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสเด็งกีไปสู่คนได้ ส่วนระยะฟักตัวในคนใช้เวลาประมาณ 3-14 วัน (เฉลี่ย 4-7 วัน) ถึงจะแสดงอาการของโรค
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี (โรคไข้เลือดออก) :
- ไข้สูงเฉียบพลัน (38.5-40 องศาเซลเซียส) ประมาณ 2-7 วัน
- มีอาการเลือดออก เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ออกตามร่างกาย
- มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน
- หน้าแดง ปวดกระบอกตา
- อาจมีอาเจียน และอุจจาระสีดำ
- ถ้ามีอาการรุนแรงเข้าสู่ภาวะช็อก ความรู้สติเปลี่ยนไป รักษาไม่ทันจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง
การรักษา และป้องกัน :
- ไม่มีการรักษาที่เฉพาะและไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่นมีไข้ให้ยาลดไข้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพักผ่อนให้มาก ๆ
- ควรพบแพทย์หากพบว่ามีอาการไข้สูงนานหลายวัน และมีเลือดออกเป็นจุด ๆ ตามผิวหนัง
- ป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง เป็นต้น และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงบริเวณบ้าน
4. ไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบ จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในหน้าฝน มีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ A B C D และ E แต่ชนิดที่พบได้บ่อยในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี ไวรัสตับอักเสบจะมีลักษณะการติดต่อที่แตกต่างกันไป เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ และอี มักมีการติดต่อหรือแพร่เชื้อผ่านทางการรับประทานอาหาร ส่วนไวรัสตับอักเสบบี และซี สามารถติดต่อหลักทางเลือด เพศสัมพันธ์ การสักตามร่างกาย เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยวันที่ 28 กรกฏาคมของทุกปีเป็น “วันตับอักเสบโลก” เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงภัยใกล้ตัวของไวรัสตับอักเสบ ที่นอกจากจะทำให้เกิดตับอักเสบแล้วบางชนิดยังนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้
อาการของไวรัสตับอักเสบ :
- มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ คล้ายอาการหวัดทั่วไป
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
การตรวจวินิจฉัยตับอักเสบ :
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาค่าการทำงานของตับ
- การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) เป็นการตรวจไขมันในตับและการตรวจพังผืดในตับ
การรักษา และป้องกัน :
- ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
- ใช้ยาต้านเชื้อไวรัสตามคำแนะนำของแพทย์
- ฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด ช่วยป้องกันได้
- ออกกำลังกาย นอนพักผ่อน และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ถูกสุขอนามัย
- เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
5. ไวรัส RSV
RSV คือไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม มีชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง พบมากในเด็กเล็ก และในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี (ในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ) ในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว และถ้าเด็กมีอาการรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่าหากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อ RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล การนอนในโรงพยาบาลที่เกินความจำเป็นนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังอาจก่อผลเสีย เช่น เกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนจากโรงพยาบาล และการแพร่เชื้อ RSV ให้ผู้อื่นในโรงพยาบาล
ระยะฟักตัว : แสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน ช้าที่สุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV :
- ช่วงแรกมีอาการคล้ายไข้ธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ถ้าโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบ ร่วมกับมีไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ
การรักษา และป้องกัน :
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV มีแค่รักษาตามอาการ เช่น
- การให้ยาลดไข้
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ
- ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลม หรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก
อ้างอิง : 1. รพ.กรุงเทพ 1/2 2. กรมควบคุมโรค 1 /2 3. sciencedirect 4. รพ. นครธน 5. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย