ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก อย่าประมาท ควรกันไว้ก่อน ดีกว่ามาแก้ไขกันทีหลัง! GED good life จะพาไปทำความรู้จักเจ้าไข้หวัดใหญ่กันเล็กน้อย พร้อม 5 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่ทุกคนควรปฏิบัติตาม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง อย่างวัยเด็ก และผู้สูงวัย
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี มีอาการยังไง เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี?
- ระบาดหนัก! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (H1N1) ควรรับมือยังไงดี?
- 8 อาหารควรกินเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ช่วยฟื้นร่างกายให้ดีขึ้นเร็ววัน!
รู้จักไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (A H1N1)
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า
“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1 เป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน อาการจะคล้ายกับการเป็นไข้หวัดทั่วไป แต่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยสังเกตอาการได้ดังนี้
- มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ
- ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก
- ปอดบวม
- เบื่ออาหาร
- ในบางรายมีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า โรคนี้สามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย การไอ หรือจาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่ตั้งครรภ์
เมื่อได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น ปอดที่ติดเชื้อไวรัสอยู่แล้วอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายได้ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกัน และหากติดเชื้อควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้”
5 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่
1. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันถึง 70-90% เลยทีเดียว แต่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ ๆ ทุกปี เพราะ แต่ละปีจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเริ่มต้นเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถเริ่มฉีดได้ในทารกตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
2. ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไม่ใช้ของร่วมกัน
โอกาสเสี่ยงสูงที่สุดที่ทำให้เราเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ก็คือการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้นถ้ารู้ตัวว่าคนใกล้ตัวเป็นหวัด เราต้องออกห่าง หรือถ้าต้องทำงานร่วมกัน ต้องให้เขาใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงตัวเราด้วย และห้ามใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น
3. เลี่ยงสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
ไม่ว่าที่ใดที่หนาแน่นไปด้วยฝูงชน ที่นั่นเป็นสัญญาณเตือนภัยขั้นหนึ่งของเชื้อไวรัส สถานที่ที่ควรใส่ใจตัวเองสักนิดหากจำเป็นต้องไป ได้แก่ ท่าอากาศยาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า คอนเสิร์ต งานแฟร์ต่าง ๆ และต้องสวมหน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว
4. เลือกกินอาหารร้อนไว้ก่อน
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น เราจึงควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ เพราะความร้อนจากการปรุงอาหารจะฆ่าเชื้อโรคให้ตาย รวมไปถึงพยาธิต่าง ๆ ที่อาจทำให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นนอกเหนือจากหวัดด้วย
5. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
นายแพทย์ Alan Pocinki แพทย์อายุรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย George Washington University Hospital ในวอชิงตัน สหรัฐฯ ยืนยันว่า การหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดได้จริง จะใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นล้างไม่สำคัญ แต่ในแต่ละครั้งที่ล้าง ต้องทำตามขั้นตอนทั้ง 7 คือ
- ฟอกสบู่ และถูฝ่ามือเข้าด้วยกันให้ทั่ว
- ใช้ฝ่ามือถูหลังมือ และซอกนิ้วด้านหลัง
- ถูฝ่ามือด้วยกันอีกครั้ง และถูซอกนิ้วด้านหน้า
- กำมือข้างหนึ่ง และแบมือข้างหนึ่ง ใช้ฝ่ามือข้างที่แบถูหลังกำมือและหลังนิ้วอีกข้าง และสลับข้างทำแบบเดียวกันซ้ำ
- กางนิ้วโป้งออก ใช้ฝ่ามืออีกข้างกำรอบนิ้วโป้งแล้วหมุนวน สลับข้างทำอีกครั้ง
- ใช้ปลายนิ้วขัดฝ่ามืออีกข้างตามแนวขวางจนทั่ว แล้วสลับข้างทำแบบเดียวกัน
- กำมือรอบข้อมืออีกข้าง แล้วถูวนให้รอบ แล้วเปลี่ยนข้าง ทำแบบเดียวกัน
ทริกน่ารักๆ ในการล้างมือคือ ร้องเพลง Happy Birthday ไปด้วยระหว่างล้าง โดยกะให้ล้างเสร็จพอดีกับที่ร้องเพลงจบ 2 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณล้างมือนานเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรค
อ้างอิง : สสส. / paolohospital