ความเครียด ถือเป็นภาวะปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเครียดมากไปก็อาจก่อโรคได้เช่นกัน ว่าแต่ว่า… ความเครียดก่อให้เกิดกรดไหลย้อน ได้จริงตามที่หลายคนมักจะเข้าใจกันหรือไม่? บทความนี้มีคำตอบมาฝากแล้ว มาดูกันเลย!
- โรคเครียดลงกระเพาะ ภัยใกล้ตัวของมนุษย์เงินเดือน
- 6 เทคนิคฝึกสมาธิ บำบัดสุขภาพ ช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด
- 12 อาหารคลายเครียด กินแล้วดีต่อใจ ห่างไกลซึมเศร้า
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD / Heartburn) – เป็นภาวะที่กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้
อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยกรดไหลย้อน
- เรอบ่อย ร่วมกับรู้สึกเปรี้ยว หรือขมในลำคอ
- เจ็บแน่นกลางอก หายใจไม่โล่งคล้ายอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
- แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ตั้งแต่ ยอดอก กลางอก และอาจร้าวไปถึงลำคอ
- กลืนติด กลืนลำบาก เหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างติดค้างอยู่ในลำคอ หรือทรวงอก
- อาการอื่น ๆ เช่น สะอึก คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมีน้ำลายมาก
- ไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ
- ทำให้เกิดโรคหืด โรคปอด และอื่น ๆ ตามมา!
ความเครียดก่อให้เกิดกรดไหลย้อน ได้จริงหรือไม่?
คำตอบคือ ความเครียดสามารถก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้จริง และไม่ใช่แค่ความเครียดเท่านั้น ภาวะซึมเศร้า (Depression) หรือความวิตกกังวล (Anxiety) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อนหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้อีกด้วย
ทางการแพทย์พบว่าสมอง และหลอดอาหาร มีความสามารถในการเชื่อมโยงกัน โดยความเครียด และอารมณ์ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากระบบประสาทที่สมอง สามารถสั่งงานให้กรดหลั่งได้มากขึ้น เมื่อเกิดความเครียด การนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทจากการเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาการวิตกกังวล
อาการเหล่านี้ยังมีผลเพิ่มความเครียดของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การบีบตัวของหลอดอาหารลดลง จึงเกิดแรงดันและลมปริมาณมากในกระเพาะอาหาร เมื่อร่างกายย่อยอาหารได้ช้าจึงเกิดอาการ จุกเสียด แน่นหน้าอกความเครียดยังส่งผลให้หูรูดบริเวณกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติด้วย โดยหากหูรูดหย่อนจะทำให้ไม่สามารถปิดกั้นกรดที่ย้อนขึ้นมาได้ จึงเกิดอาการแสบร้อนกลางอก หายใจไม่อิ่ม เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้
ความเครียดนั้นถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ส่งผลต่อโรคทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้ใหญ่เลยทีเดียว เป็นเหตุให้ปวดท้อง เกิดการขับถ่ายผิดปกติได้ทั้งท้องผูก หรือท้องเสีย อีกด้วย ทางแพทย์จีนจะเรียกว่า “อาการชี่ตับติดขัด” ทำให้เกิดไฟกำเริบ กระทบม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้เสียสมดุลในการลำเลียงทำให้เกิดการไหลย้อนขึ้นข้างบนได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเครียดเกินไป หรือเผชิญกับอาการเครียดอยู่?
- หายใจเร็ว รูจมูกขยาย จากการที่ปอดขยายตัวสร้างออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ต้องการช่องทางเดิน อากาศที่กว้างมากขึ้น
- ปวดศีรษะ การปวดหัวศีรษะจากความเครียด อาจมีอาการปวดตื้อๆ รอบหน้าผากและหนังศีรษะ
- ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน หากมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้ลำไส้แปรปรวนได้
- อยากอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นจนอยากอาหาร
- คลื่นไส้ เนื่องจากการทำงานของกระเพาะและลำไส้หยุดลง กรดในกระเพาะจึงเพิ่มขึ้น รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ
- นอนไม่หลับ ความเครียดทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ เนื่องฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด และเจ็บป่วยง่าย
อาการหนักแค่ไหนควรเข้าพบแพทย์?
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาผู้ที่มีความเครียด และมีอาการที่บ่งชี้ถึงโรคทางเดินอาหาร ได้แก่
- รู้สึกมีก้อนที่คอ
- รู้สึกกลืนติด กลืนเจ็บ
- แสบที่บริเวณหน้าอก เรอเปรี้ยว
- จุกแน่น แสบที่บริเวณลิ้นปี่
- ท้องอืด ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
- ท้องผูก ท้องเสีย
ควรที่จะมาปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัย และการสืบค้นโรคโดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน และลำไส้ใหญ่อย่างเหมาะสม และไม่พลาดการวินิจฉัยโรคที่เป็นอันตรายได้โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
4 วิธี จัดการกับความเครียด แนะนำโดยจิตแพทย์
ความเครียดเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็มีได้ แต่หากปล่อยให้ความเครียดสะสมนาน ก็จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม เป็นโรคร้ายต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำจากจิตแพทย์ พญ.ดวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น
1. การอออกกำลังกาย – ทำให้ร่างกายหลั่งสารซีโรโนทิน (สารสงบ) ช่วยลดความเครียดได้ มีงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ.2562 ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือแบบที่ใช้แรงต้านอย่างต่อเนื่องเป็นประจำตั้งแต่ 8-16 สัปดาห์ สามารถทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้อย่างชัดเจน
2. หัวเราะบ้าง – การหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (สารสำเร็จ) ซึ่งช่วยลดความเครียด และทำให้คอร์ติซอล (ฮอร์โมนเครียด) กลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น
3. การฝึกหายใจ – หายใจเข้าลึกๆ นับ 1-4 ช้า ๆ รู้สึกว่า ท้องพองออก หลังจากนั้นค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออก นับ 1-8 ไล่ลมหายใจออกมาให้หมด สังเกตว่าหน้าท้องแฟบ ควรทำติดต่อกัน 4-5 ครั้ง
4. กินอาหารช่วยให้อารมณ์ดี – เช่น กล้วย มีวิตามินบี 6 (ส่วนประกอบในการสร้างนอร์เอพิเนฟรินและโดพามีน), ดาร์กช็อกโกแลต มีฟลาโวนอยด์จากโกโก้ที่ช่วยลดปริมาณคอร์ติซอล (ฮอร์โมนเครียด)
อ้างอิง : 1. Rachvipa MRI Center 2. thaihealth 3. รพ. บางโพ 4. กรมสุขภาพจิต