เด็กนักเรียนต้องระวังให้ดี เพราะในโรงเรียนมักจะมีเชื้อโรคระบาดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีข่าว เด็ก ๆ ท้องเสีย ถ่ายเหลว กันเยอะมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการระบาดของเจ้าเชื้อร้ายขาประจำอย่าง “โนโรไวรัส” ซึ่งหากภูมิต้านทานไม่ดี หรือมีโรคแทรกซ้อน ก็อาจกลายเป็นเชื้อมรณะทำให้เด็กน้อยเสียชีวิตได้เลยทีเดียว!! ฉะนั้นมารู้เท่าทันเจ้าเชื้อ โนโรไวรัส กันดีกว่าว่ามี สาเหตุ อาการ วิธีรักษา-ป้องกัน อย่างไรบ้าง?
- เด็กท้องเสีย มีสาเหตุจากอะไร พ่อแม่รับมือยังไงดี?
- กรมควบคุมโรคเตือน! 9 อาหารเสี่ยงบูดง่าย ทำท้องเสีย หน้าร้อนนี้!
- ย้อนอดีตโรคระบาด สะท้านโลก! สุดสยอง ตายกว่า100ล้านศพ!!
รู้จักกับ “โนโรไวรัส” เชื้อร้ายในโรงเรียน ต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน!
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายถึงเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ไว้ว่า
“โนโรไวรัส เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ พบการระบาดเป็นระยะ ๆ ในช่วงฤดูหนาว สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส”
ตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสครั้งแรกในโรงเรียน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ.1968) พบครู และนักเรียนเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ระบาดในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งที่เมือง Norwalk รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้นจึงตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า Norwalk virus เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการระบาดของโรคอุจจาระร่วงทั่วโลก (อ้างอิงตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ cdc)
ระยะฟักตัวของเชื้อโนโรไวรัส และความคงทน
โนโรไวรัสมีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมง มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก น้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ รวมทั้งแอลกอฮอล์ไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อได้ ในทางปฏิบัติ สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้จะอยู่ในจำพวก ฟอร์มาลิน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ คลอรอกซ์ และไฮเตอร์ จึงแนะนำให้ใช้น้ำและสบู่ล้างมือทำความสะอาดให้มากที่สุด ล้างมือนาน ๆ เพื่อทำให้ไวรัสเจือจางไปให้มากที่สุด และทำความสะอาดเครื่องใช้ด้วยหลักการเดียวกัน
เมื่อเทียบกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีระยะฟักตัวอยู่ที่ 3 วัน แต่ไม่อึด ถึก ทน เท่ากับโนโรไวรัส สามารถกำจัดหรือฆ่าเชื้อโควิดได้ด้วยแอลกอฮอล์ 75%
โนโรไวรัส ติดต่อทางไหนได้บ้าง?
โนโรไวรัส สามารถติดต่อกันได้หลายทาง ได้แก่
- ติดต่อทางอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค (fecal-oral route) โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก ไม่สะอาด
- การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง
- การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส เช่น ของเล่น หรือดินสอสีที่เด็กมักจะเผลอหยิบเข้าปาก
- เด็ก ๆ มักจะชอบอมนิ้ว ดูดนิ้ว หลังจับสิ่งของ จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน
อาการของโรคโนโรไวรัส มีอะไรบ้าง?
- คลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างรุนแรง
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- ปวดท้อง มักจะไม่ปวดเฉพาะที่ หรือปวดเกร็งที่หน้าท้อง
- อาจมีไข้ต่ำร่วมด้วย บางรายมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสได้
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว
ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันใน 24-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ เป็นผลให้เกิดภาวะขาดน้ำจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ถ้าเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้
อาการที่ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมาก มีมูกเลือดปน ไข้ขึ้นสูง ร่วมกับอาเจียน กินไม่ได้ จนเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำปานกลางถึงรุนแรง
- ปัสสาวะออกน้อย ซึม กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเร็วและเบา อาการเหล่านี้แสดงออกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ปวดท้อง ร่วมกับกดเจ็บบริเวณ ช่องท้อง หรือ หน้าท้องแข็งตึง อาเจียนมีน้ำดีปน
การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติได้เอง โดยปฎิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- การตรวจเชื้อโนโรไวรัส จะทำโดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ (ซึ่งสามารถทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาขจัดเชื้อนี้โดยเฉพาะ)
- รักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น เด็กมีไข้ ก็ให้ยาลดไข้ พักผ่อนมาก ๆ และหากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดี อาการก็จะดีขึ้น และหายได้เองภายใน 2-3 วัน
- ระวังอย่าให้เด็กขาดน้ำ อาจทดแทนด้วยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในกรณีที่อาการรุนแรง รวมทั้งให้ทานอาหารอ่อน ๆ ข้าวต้ม แกงจืด เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
- หากอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลา ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้
ป้องกันโรคร้ายโนโรไวรัส ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
- ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที
- ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
- เด็กควรงดไปโรงเรียน หรือสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
- ใช้ช้อนกลางเมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- เลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
- ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ. ขอนแก่น 2. phyathai 3. samitivejhospitals