ยารักษาโรคทุกประเภท ถ้าใช้ถูกวิธีก็สามารถบรรเทาอาการ หรือรักษาโรคนั้น ๆ ให้หายได้ แต่ในทางกลับกัน… ถ้าใช้ยาผิดวิธี นอกจากจะไม่ทำให้โรคหายแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้อีกด้วย และก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง จนก่ออันตรายต่อสุขภาพขึ้นไปอีก… มาดูกันว่า 9 พฤติกรรมการใช้ยาผิดวิธี ที่ผู้ป่วยมักมองข้าม มีอะไรบ้าง และผลเสียจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ที่อาจก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต!
- ยาแก้หวัดสูตรผสม พาราเซตามอล+คลอร์เฟนิรามีน มีสรรพคุณ วิธีใช้อย่างไร?
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ คาร์โบซิสเทอีน สรรพคุณ วิธีใช้ให้ถูกต้อง ปลอดภัย
- กินยาแก้แพ้เป็นประจำ จะอันตรายต่อสุขภาพไหม? และควรเลือกแบบ กินแล้วง่วง หรือ ไม่ง่วง ดี?
9 พฤติกรรมการใช้ยาผิดวิธี
พฤติกรรมที่ 1 : ลืมกินยา ทั้งแบบตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ
เรื่องกินยา ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากกินอยู่แล้ว เพราะ คงไม่มีใครอยากป่วย ยิ่งในผู้สูงวัยที่โรครุมเร้าต้องกินยาหลายชนิด มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะลืมกินยาทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ เช่น กลัวกินยานาน ๆ แล้วจะติดยา กินยาแล้วเกิดอาการแปลก ๆ เลยไม่อยากกินต่อ หรือเหตุผลที่อาจเผลอลืม เช่น ต้องไปทำธุระข้างนอก หรือเที่ยวต่างจังหวัดแล้วลืมนำไปด้วย เป็นต้น
และบางคนพอลืมกินยาแล้ว แต่อาการปกติดี ไม่เห็นป่วยอะไร เลยคิดไปเองว่า “ไม่เห็นต้องกินต่อ” “ไม่เห็นต้องกินยาทุกวันตามหมอสั่งเลย” ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง ถ้าหยุดยาเอง อาการก็อาจกำเริบรุนแรง หลอดเลือดสมองแตกกลายเป็น อัมพฤกษ์-อัมพาตได้ทันที
พฤติกรรมที่ 2 : เปลี่ยนวิธีการกินยาด้วยตัวเอง
การปรับวิธีกินยาควรดำเนินการโดยคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วย หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรปรับขนาด ช่วงเวลา และวิธีกินยาด้วยตัวเอง เนื่องด้วยยาเป็นสารเคมีที่ถ้ากินถูกก็มีประโยชน์ ถ้ากินผิดก็จะเป็นโทษต่อร่างกายได้ นอกจากโรคที่เป็นอยู่จะไม่หายไปแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย
พฤติกรรมที่ 3 : กินยาหลายที่
ปัจจุบันผู้ป่วยเข้าถึงยาประเภทต่าง ๆ ได้ง่าย จนอาจกลายเป็นการ “ช้อปปิ้งยา” เกินจำเป็น เพราะนอกจากต้องกินยาจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยยังไปซื้อยาอื่น ๆ จากคลินิก หรือตามร้านยาแถวบ้าน เพื่อมารักษาโรคเดียวกัน ทำให้มีความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมาได้ เช่น ปัญหายาซ้ำซ้อนทำให้ได้รับยาเกินขนาด ปัญหายาตีกัน ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
พฤติกรรมที่ 4 : ตัดยาแบ่งครึ่งกินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์
คนไข้บางคน อยากประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยา จึงลองตัดยาแบ่งเป็น 2 ส่วนบ้าง 4 ส่วนบ้าง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ได้ช่วยประหยัดเงินอย่างแท้จริงแล้ว ยังอาจเสียเงินเพิ่ม เนื่องจากยาที่ตัดแบ่งส่วนกินนั้น ไม่ได้ปริมาณ หรือคุณภาพที่ดีพอที่จะรักษาโรคได้ และยาบางชนิด เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (film coated tablets) เพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากไปตัดแบ่งแล้วก็จะทำให้ฟิล์มเสียหายได้
พฤติกรรมที่ 5 : รับประทานยาผิดมื้ออาหาร
เป็นอีกข้อที่ผู้ป่วยมักจะเพิกเฉย หรือคิดว่ากินก่อน หรือหลังอาหารก็คงเหมือนกัน แต่ในความจริงแล้ว ยาบางชนิด ควรกินหลังอาหารทันที เพราะมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดลดการอักเสบ เป็นต้น แต่คนไข้กลับกินตอนท้องว่าง จึงทำให้ระคายเคืองกระเพาะได้ ฉะนั้นเรื่องการกินยาก่อน หรือหลังรับประทานอาหาร ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยควรศึกษา และใช้ให้ถูกเวลา เพื่อให้ยาสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาผิดเวลา
พฤติกรรมที่ 6 : หยุดกินยาเร็วเกินไป
สิ่งนี้มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกดีขึ้น และคิดว่าไม่จำเป็นต้องกินยาต่อไป ความผิดพลาดนี้มักเกิดขึ้นกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือยารักษาความดันโลหิต และอาจส่งผลให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ หรือแย่ลงได้
พฤติกรรมที่ 7 : การจัดเก็บยา และไม่ได้ดูวันหมดอายุยา
การเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ เมื่อนำมากินอาจจะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้ ควรเก็บยาไว้ในที่แห้ง และเย็น หรือตามคำแนะนำจากแพทย์ การปล่อยให้ยาสัมผัสกับความร้อน แสงแดด และความชื้น อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ เป็นผลเสียต่อการรักษาโรคได้ และการใช้ยาที่หมดอายุอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อกันลืมว่ายาหมดอายุเมื่อไหร่ ผู้ป่วยไม่ควรแยกยาออกจากกล่อง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์เดิมที่บอกวันหมดอายุของยา แต่ถ้าหากมีการกินยานั้นเป็นประจำอยู่แล้ว และกินก่อนหมดอายุอยู่เสมอ ก็สามารถแยกยาออกมาจากผลิตภัณฑ์ เพื่อความสะดวกต่อการกินครั้งต่อไปได้
พฤติกรรมที่ 8 : แบ่งยาให้ผู้อื่นกิน หรือ เอายาของผู้อื่นมากิน
ผู้ป่วยมักคิดว่า เป็นโรคเดียวกัน ก็น่าจะกินยาตัวเดียวกันได้ จริง ๆ แล้วก็อาจจะใช้ได้กับโรคบางโรค แต่กับบางโรคก็ไม่ควรทำ โดยเฉพาะกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคเกี่ยวกับสมอง โรคความดันโลหิต โรคมะเร็ง เป็นต้น เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีลักษณะที่เหมาะกับยาคนละชนิด ความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน เงื่อนไขในการใช้ยาแตกต่างกัน
พฤติกรรมที่ 9 : กินยาเกินขนาด เพราะคิดว่าจะช่วยให้หายไวขึ้น
ผู้ป่วยหลายคน มีความคิดว่า หากเพิ่มปริมาณของยาก็จะช่วยให้อาการป่วยหายไวขึ้น โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ยาพื้นฐานที่ไว้ใช้รักษาอาการปวดลดไข้ ผู้ป่วยมักจะชอบกินเกินขนาดกันบ่อย ซึ่งถึงแม้ยาพาราเซตามอลจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ถ้ากินเกินขนาดก็อาจเกิดพิษต่อตับได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราปริมาณมากร่วมด้วย อาจเกิดพิษต่อตับได้แม้กินยาในขนาดปกติ เป็นต้น
จาก 9 พฤติกรรมการใช้ยาผิดวิธี ที่ชี้แจงไปข้างต้น ทำให้รู้ว่าเรื่องของการใช้ยาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ป่วยจึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ยาให้ถูกต้อง ถูกวิธี ตามแพทย์สั่ง หรือตามคำแนะนำจากเภสัชกร เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการใช้ยาแบบผิดวิธีนั่นเอง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. หนังสือฉลาดรู้เรื่องยา 2. alternativetomeds