สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสอย่างมาก และเรื่องอันตรายตามมาก็คือ โรคติดต่อที่มักมากับน้ำ โดยวันนี้ GED good life จะพาไปทำความรู้จักกับ “โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเนื้อเน่า” ที่พบมากในหน้าฝน และในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องทำงานการเกษตร เช่น ชาวไร่ ชาวนา และผู้ที่ต้องเดินลุยน้ำตลอดทั้งวัน ต้องระวังไว้ให้ดี!
• ระวัง! 8 โรคร้ายที่มากับน้ำท่วม
• ตัวร้อน มีไข้ ดูแลตัวเองยังไงดี?
• 12 โรคสัตว์สู่คน ไม่อยากป่วย ต้องระวังให้ดี!
โรคไข้ฉี่หนู
โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร สุนัข (แต่พบมากในหนู) เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลรอยขีดข่วน ผิวหนังเปื่อยเนื่องจากแช่น้ำ หรือผ่านเยื่อบุตา จมูกและปาก มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง
โดยปกติแล้วโรคฉี่หนูจะสามารถเป็นแล้วหายเองได้ หากต้องรับประทานยา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 5-7 วัน เพื่อให้เชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดโดยตรง และต้องนอนเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาลเพราะเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ หยุดทำงานได้
อาการของโรคไข้ฉี่หนู
เมื่อเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย บางรายมีอาการภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์ หรืออาจจะถึง 1 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ
• มีไข้เฉียบพลัน ไข้สูง
• ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (โดยเฉพาะน่องขา)
• คลื่นไส้ อาเจียน
• ตาแดง
• ผื่นขึ้น
• ตาเหลือง ตัวเหลือง
พฤติกรรมที่ทำให้มีโอกาสติดโรคไข้ฉี่หนู
• เดินลุยน้ำเมื่อมีบาดแผลที่บริเวณขา และเท้า
• กินอาหารที่วางทิ้งไว้โดยไม่มีภาชนะปกปิด
• กินอาหารที่ค้างคืน และสงสัยมีหนูมาฉี่ราด
วิธีป้องกันโรคไข้ฉี่หนู
• ล้างผักที่เก็บมาจากไร่ จากนา ให้สะอาดก่อนรับประทาน
• เก็บอาหารใส่ตู้ หรือมีฝาชีปิดมิดชิดเสมอ
• เมื่อเดินลุยน้ำ และโคลนมา ให้รีบทำความสะอาดเท้าให้สะอาด
• สวมรองเท้าบู๊ทเมื่อมีแผลเวลาเดินลุยน้ำ
• ทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีหนูเข้ามาอาศัย
โรคเนื้อเน่า
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (Flesh-eating disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัว และแผลจะเป็นวงกว้าง และลึกมาก โรคนี้แม้พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต หรือเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคตามมาได้สูง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคนี้ คือการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ โดยพบว่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่สำคัญ คือ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococci) แต่เชื้อที่มีความรุนแรง คือ เชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
ช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากที่สุดในประเทศไทย คือ ช่วงเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน และรองลงมา คือ เดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม ของทุกปี และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักพบในเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา
อาการของโรคเนื้อเน่า
• ในระยะแรกของการติดเชื้อ จะเกิดอาการ เจ็บ ปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว
• เมื่อเชื้อลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อจะเริ่มบวม แดง ร้อนอย่างชัดเจน
• ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น
• ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ การช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และภาวะไตวาย
• ตำแหน่งที่พบรอยโรคส่วนใหญ่ คือ บริเวณแขน ขา และเท้า
บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1. ผู้ที่มีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นมีดบาด ตะปูตำ สัตว์กัดหรือข่วน แล้วไม่มีการทำความสะอาดบาดแผล หรือทำความสะอาดบาดแผลอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มดังกล่าว จนเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
2. ผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไตวาย หลอดเลือดผิดปกติ มะเร็ง ผู้สูงอายุที่ได้เคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น
การรักษา
• หัวใจสำคัญของการรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือ การวินิจฉัยโรคให้เร็ว และผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อที่เน่าตายออกให้มากที่สุด
• ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่จากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม เช่นถูกของมีคมข่วน ตำ แทง บาด หรือถูกสัตว์เลี้ยงข่วนหรือกัด ควรทำความสะอาดทันที โดยใช้น้ำสะอาด สบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เช่น โพวิโดนไอโอดีน ที่บาดแผล ห้ามใช้ยาผงโรยใส่แผลโดยตรง และควรสังเกตว่าบาดแผลนั้นลึกหรือไม่ ถ้าลักษณะของบาดแผลรวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันการติดเชื้อ
• กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
• รีบพบแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติภายหลังการเกิดบาดแผล เช่น มีไข้ ปวด บวมบริเวณบาดแผลเพิ่มมากขึ้น
การป้องกัน
• ระวังอย่าให้มีบาดแผลเกิดขึ้น
• รักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ
• ในช่วงน้ำท่วมขอให้ใส่รองเท้าบู๊ทยาว ป้องกันถูกของมีคมทิ่มแทงที่เท้า และป้องกันบาดแผลที่ขา
• หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ
จะเห็นได้ว่าทั้ง โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเนื้อเน่า เป็นโรคที่น่ากลัว และเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 โรค ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีความอันตรายร้ายแรงมากกว่าโรคที่เกิดจากเชื่อไวรัสเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรคเนื้อเน่า หากได้เห็นสภาพแผลของผู้ป่วยแล้ว อาจทำให้เป็นลมได้เลยทีเดียว ฉะนั้นในช่วงฝนตก น้ำท่วมขัง พยายามป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามที่กล่าวไป ก็จะช่วยให้รอดพ้นจากโรคร้ายทั้ง 2 นี้ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง : 1. chulalongkornhospital 2. กรมควบคุมโรค 3. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife