ไข้เลือดออก (Dengue Fever) โรคที่มักระบาดมากในหน้าฝน เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค จากการดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี แล้วไปกัดคนอื่น ๆ ต่อ ก็จะทำให้เป็นไข้เลือดออกตามไปด้วย โรคไข้เลือดออกนี้ ถ้าหากรักษาไม่ทันสามารถทำอันตรายได้ถึงชีวิตเลยทีเดียว จึงเป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อย เราทุกคนจึงควรศึกษาถึง อาการไข้เลือดออก ว่ามีอาการอย่างไร จะได้รู้เท่าทันโรคนั่นเอง ตามมาดูกันเลย!
– ไข้เลือดออก ภัยร้ายถึงตาย รู้เท่าทันก่อนสาย!
– โรคไข้เลือดออก ระบาดหน้าฝน เตรียมลูกให้พร้อม
– วิธีเสริมภูมิคุ้มกันในฤดูฝน ให้ห่างไกลหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นไข้!
9 สัญญาณ อาการไข้เลือดออก
1. มีไข้สูงมากเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน (แต่ถ้าหายไข้ใน 1-2 วัน แสดงว่าเป็นแค่ ไข้หวัดทั่วไป)
2. ปวดศีรษะมาก ปวดรอบ ๆ กระบอกตา รู้สึกอ่อนเพลียนานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์
3. ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเมื่อยตามตัว
4. มีผื่นแดงขึ้นที่หน้า คอ และหน้าอก และมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามตัว
5. คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเบื่ออาหาร
6. ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ แต่ถ้าเป็นไม่มากนัก อาจมีแค่เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหลเท่านั้น
7. ปวดท้องมาก คลำพบตับโต ปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต
8. ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ชีพจรเบาเร็ว มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
9. มีอาการรุนแรง ช็อก หมดสติ ต้องรีบพาพบแพทย์ รักษาตัวที่โรงพยาบาล
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีฆ่าเชื้อไวรัสไข้เลือดออกโดยเฉพาะ แพทย์จึงมักรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น ถ้ามีเลือดออกมากต้องให้เลือด ถ้ามีอาการ shock เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่มาก ก็ต้องให้น้ำ และเกลือแร่ตามความเหมาะสม เป็นต้น หากแพทย์แจ้งว่าไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ก็สามารถรักษาตนเองที่บ้านได้โดย…
• ให้นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ
• วัดความดัน และชีพจรบ่อย ๆ ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
• ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
• หากกินยาลดไข้ แล้วยังมีไข้สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นร่วมด้วย และกินยาซ้ำ ทุก 4-6 ชั่วโมง
คำเตือน! ห้ามใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) และ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในการรักษาโรคไข้เลือดออก เพราะอาจจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น และอาจเกิดอาการทางสมองได้
4 วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
โดยเฉพาะเวลากลางวัน ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน เมื่ออยู่ในบ้าน ให้อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด หรือห้องปรับอากาศ อาจใช้ยาทากันยุงทาตัวร่วมด้วย
2. พยายามขจัดภาชนะ หรือแหล่งน้ำขัง ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
เช่น สวนน้ำ ถาดรองกระถางต้นไม้ จุดน้ำขังต่างๆ รวมถึงเปลี่ยนน้ำในชามน้ำของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการวางไข่ของยุงลาย
3. ใส่ทรายอเบทลงในแหล่งน้ำนิ่งภายในบ้าน
เช่น อ่างปลา บ่อบัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแห่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
4. เสริมภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง
ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพราะ ถ้าเกิดเป็นไข้เลือดออกขึ้นมา ก็จะมีอาการไม่รุนแรง เพราะมีภูมิต้านทานดีนั่นเอง
แนะนำแอปพลิเคชัน “ทันระบาด” โดยกรมควบคุมโรค
แอปพลิเคชั่น “ทันระบาด” เป็นระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ที่ครอบคลุมทั้งด้านคน เชื้อโรค พาหะนำโรค และสิ่งแวดล้อม ที่มีประสิทธิภาพ สามารถชี้พื้นที่ที่มีการระบาด ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ยังส่งผลให้การระบาดในปี พ.ศ. 2561 ชะลอลง ทำให้รัฐลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล และต้นทุนค่าสูญเสียรายได้ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลง
ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น “ทันระบาด” ยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 นวัตกรรมระดับชาติ ปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับ “ประกาศเกียรติคุณ” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี พ.ศ. 2562
ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น “ทันระบาด” ได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
• ระบบแอนดรอยด์ -> ดาวน์โหลด
• เว็บไซต์ทันระบาด -> www.tanrabad.org