หากคุณคือคนหนึ่งที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการต้องตื่นกลางดึกเพื่อมาปัสสาวะเป็นประจำทุกคืน ต้องอ่านบทความนี้! เพราะ Ged Good Life จะมาไขข้อสงสัยให้ว่า “ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน” เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นโรค กันแน่? และข้อควรรู้อื่น ๆ มาติดตามกันได้เลย!
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนโรคอะไรหรือเปล่า?
- เคยสังเกตกันไหม? สีของปัสสาวะ สามารถบอกโรคเราได้ด้วยนะ!
- โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร จะรู้ได้ยังไงว่าติดเชื้อ?
เมื่อไร… จึงจะเรียกได้ว่า ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน?
แพทย์หญิงศศิธร คุณูปการ แพทย์ผู้ชำนาญโรคไต โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา ได้ชี้แจงไว้ว่า “ในตลอด 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง ถ้าเราปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้ง หรือ กลางคืนลุกตื่นขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้ง จะเรียกได้ว่า มีอาการปัสสาวะบ่อย
ฉะนั้น ใครที่ลุกขึ้นมาปัสสาวะในกลางดึกมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป จะถือได้ว่ามี “ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia)” ปัญหานี้จะรบกวนการนอนเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องลุกมาฉี่บ่อย ๆ ในตอนกลางคืน ทำให้ร่างกายได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
รู้หรือไม่? ในภาวะปกติ กระเพาะปัสสาวะคนเราสามารถจุน้ำปัสสาวะได้ 300-400 ซีซี เมื่อมีน้ำปัสสาวะที่กรองผ่านไตออกมาเก็บที่กระเพาะปัสสาวะเกินครึ่งของความจุที่กระเพาะปัสสาวะรับได้ มันจะส่งสัญญาณไปที่สมองว่ามองหาห้องน้ำได้แล้ว
เมื่อมีอาการปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจาก 3 โรคนี้!
หากคุณมีอาการปัสสาวะบ่อย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ แพทย์หญิงศศิธร ได้เล่าถึงโรคที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะบ่อย มีดังต่อไปนี้
- อันดับหนึ่ง คือ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Cystitis) จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด บางรายอาจมีไข้
- อันดับสอง คือ เบาหวาน โรคนี้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ จากการที่น้ำตาลพาเอาน้ำในร่างกายออกมาทางปัสสาวะด้วย
- ส่วน “โรคไต” ที่ทุกคนกังวล มักไม่มาด้วยฉี่บ่อย แต่มักมาด้วย “ฉี่กลางคืน” เมื่อไตเสื่อม ความสามารถในการทำให้ปัสสาวะเข้มข้นระหว่างนอนจะลดลง ทำให้มีน้ำปัสสาวะที่เจือจางไหลมาสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จนต้องมีการสั่งให้เราตื่นมาปัสสาวะกลางดึก
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน จึงเป็นสัญญานของโรคไต แต่ถ้าเป็นไตเสื่อมระยะท้าย ๆ หรือ ไตวายเฉียบพลัน มักมาด้วย “ฉี่น้อย” มากกว่า… แพทย์หญิงศศิธร กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อไรที่ต้องมาพบแพทย์?
เมื่อปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน จนรบกวนการนอนของคุณ ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการร่วมต่าง ๆ ดังนี้
- ปัสสาวะมีเลือดปน หรือปัสสาวะขุ่น
- ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
- มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
- มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณท้องน้อย หรือมีก้อนที่ท้องน้อย
- ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออกต้องเบ่ง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- มีไข้ร่วมด้วย
ผู้ป่วยสามารถติดต่อขอพบแพทย์ได้ที่แผนกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน พบมากในวัยใด?
ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน พบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบมากในประชากรที่อายุมากกว่า 70 ปี สูงถึง 3 ใน 5 คน และทำให้ผู้สูงวัยเสี่ยงต่อการล้มในห้องน้ำกลางดึกอีกด้วย
วิธีป้องกันการตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยในกลางดึก
นพ.ดุษฎี โสวรรณทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ได้แนะนำวิธีป้องกันการตื่นปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไว้ดังนี้
1. ลดการดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนเข้านอน 2-4 ชั่วโมง
2. ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือกาเฟอีน และอาหารที่มีรสเค็ม หรือมีปริมาณเกลือสูง
3. จดบันทึกสถิติการดื่มน้ำ และการปัสสาวะในแต่ละวัน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
4. ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ควรยืด หรือเหยียดขาให้สูงกว่าระดับหัวใจในช่วงก่อนนอน หรือใช้หมอนหนุนบริเวณขาขณะนอนหลับ เพื่อลดการสะสมของของเหลวบริเวณขา หรืออาจใส่ถุงน่องที่ช่วยลดอาการขาบวมร่วมด้วย
5. จัดสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น ไม่มีเสียงรบกวน แสงสว่างน้อยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ เลือกชุดเครื่องนอน และที่นอนที่ทำให้นอนหลับสบาย
6. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลงที่ชอบ
7. ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์ เนื่องจากสาเหตุของการปัสสาวะกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ
อ้างอิง : 1. โรงพยาบาลสินแพทย์ 2. chulalongkornhospital 3. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต