หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการป่วยเป็นหวัด เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย บ่อยมาก เป็นทีก็เป็นนานหลายวัน พอหายแล้ว ก็เหมือนยังไม่หายสนิท ยังมีทั้งน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ไอเจ็บคอทุกวัน อาจบ่งบอกได้ว่า คุณกำลังเผชิญกับ “หวัดเรื้อรัง” เข้าให้แล้ว! ตามมาดูกันว่าหวัดประเภทนี้จะมี สาเหตุ อาการ วิธีรักษา อย่างไรได้บ้าง
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- โรคไข้หวัด VS โรคภูมิแพ้อากาศ ต่างกันอย่างไร?
- เป็นหวัด ควรกินยาอะไรดี? แล้วอะไรคือสาเหตุของไข้หวัด? เรื่องควรรู้ก่อนซื้อยา
หวัดเรื้อรัง คืออะไร?
อาจารย์ น.พ.เจตน์ ลำยองเสถียร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า…
“โดยทั่วไป ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ แต่ถ้ามีอาการนานกว่า 5-10 วัน อาจเป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูก และไซนัสได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการนานกว่า 10 วัน หรืออาการแย่ลงหลังจากเริ่มมีอาการคัดจมูกได้ 5 วัน”
หวัดเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น
- โรคไซนัสอักเสบ – Sinusitis
- โรคหลอดลมอักเสบ – bronchitis
- เยื่อบุตาอักเสบ – Conjunctivitis
- โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) – Pneumonia
- หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) – Otitis media
หวัดเรื้อรังมีกี่ประเภท แล้วเป็นได้นานแค่ไหน?
หวัดเรื้อรัง มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. หวัดเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อ – โดยเฉพาะหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะอันตรายกว่าเชื้อหวัดจากไวรัส เพราะ ทำให้ป่วยได้นานกว่า อาการรุนแรงกว่า และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้
2. หวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ – มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เราแพ้ และเผชิญอยู่เป็นประจำ เช่น ฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองเกสรดอกไม้ อาหาร เป็นต้น อยู่ที่ว่าเราแพ้อะไร ถ้าเราไม่หลีกเลี่ยง ก็จะทำให้เป็นหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ได้
หวัดเรื้อรัง สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 2 เดือน 6 เดือน หรือเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งปี ฉะนั้น ผู้ป่วยหวัดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น ถ้ารู้ว่าเกิดจากอาการแพ้ฝุ่น ก็ควรหลีกเลี่ยงฝุ่น โดยการสวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในสถานที่มีฝุ่นเยอะ ก็จะทำให้อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้นได้ และหายได้เร็ว แต่ถ้าไม่รู้สาเหตุ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป…
อ่านเพิ่มเติม -> หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!
เช็กอาการ หวัดเรื้อรัง
- คัดจมูก มีไข้ อ่อนเพลีย
- มีเสมหะ น้ำมูกข้นเหนียว (น้ำมูกสีใสบ้าง เขียวบ้าง) จากการติดเชื้อ
- มีอาการจาม ไอ ร่วมด้วย บางรายอาจไอมาก
- ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง
- เจ็บคอ แสบคอ
- ในเด็กอาจมีอาการ หอบ ไอมาก หายใจแรง เพราะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านอาจไม่ได้เป็นหวัดเรื้อรัง เพราะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น
- ผู้ที่มีริดสีดวงจมูก หรือเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- ผู้ที่มีเนื้องอกในโพรงจมูก และไซนัส
- ผู้ที่มีการอักเสบของไซนัสที่เกิดจากเชื้อรา แต่มักจะมีอาการมีน้ำมูก และคัดจมูกในจมูกข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
เป็นหวัดเรื้อรัง ต้องรักษายังไงดี?
อาจารย์ น.พ.เจตน์ ลำยองเสถียร กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่เป็นหวัดเรื้อรัง หรือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูก และไซนัส จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้าการอักเสบของไซนัสที่เกิดขึ้นไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเจาะล้างไซนัส หรือผ่าตัดร่วมด้วย
ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่านโพรงจมูกโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดจากภายนอก ซึ่งจะทำให้มีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อย และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ การพิจารณาว่าควรผ่าตัด หรือไม่ขึ้นอยู่กับแพทย์”
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
ถ้าเป็นนานเกินประมาณ 5-10 วัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีห่างไกลจากหวัดเรื้อรัง
- ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- ไม่เครียด ไม่หักโหมงานเกินไป เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ป้องกันไข้หวัด เช่น อาหารที่มีวิตามินซีสูง
- ไม่ไปใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด หรือใส่หน้ากากอนามัยหากต้องอยู่ด้วยกัน
- ไม่นำมือสกปรกแคะจมูก หรือเข้าปาก
- หากเป็นภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าถ้าเป็นหวัดธรรมดา อาการต่าง ๆ ควรจะหายไปภายใน 3-7 วัน และถ้าเป็นหวัดจากภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เราแพ้อาการก็จะดีขึ้น และหายไปได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นแสดงว่าอาจมีโรคแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป…
อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. รพ.โรงพยาบาลเพชรเวช 3. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 4. รพ.สมิติเวช