หลายครอบครัววางแผนที่จะมีลูกในปี 2022 นี้ แต่เมื่อเจอกับไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดไม่หยุดอยู่ ณ ขณะนี้ ก็ทำให้พับโครงการมีลูกกันไว้ สำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ช่วง COVID-19 จะปลอดภัยกับลูกไหม หรือต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้างในช่วงตั้งครรภ์นี้ GedGoodLife มีคำตอบพร้อมคลายข้อสงสัยต่าง ๆ มาฝากคุณแม่แล้ว ติดตามต่อกันได้เลย
- กรดโฟลิก ช่วยเซฟชีวิตทารก วิตามินสำคัญแม่ตั้งครรภ์ต้องกิน
- 7 ขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ อยากมีลูกต้องรู้ไว้!
- คนอ้วนท้อง แม่และทารกเสี่ยงอันตรายอะไรบ้าง? และข้อควรปฏิบัติขณะตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ กับ ไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 โรคนี้ทำให้ป่วยเป็น โรคปอดบวม ปอดอักเสบ สามารถทําให้เกิดระบบหายใจล้มเหลวได้
ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง คือ ไม่ได้เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่มีข้อมูลว่า โอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่
แต่ด้วยร่างกายขณะตั้งครรภ์ มีความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง อาจทำให้ภูมิต้านทานลดลง หรือ ร่างกายอ่อนแอลง เมื่อตั้งครรภ์จึงอาจมีโอกาสเจ็บป่วย หรือ ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่ไวรัส COVID-19 จึงต้องดูแลร่างกาย เตรียมพร้อมร่างกายเมื่อวางแผนตั้งครรภ์ ให้แข็งแรง
ตั้งครรภ์ช่วง COVID-19 ปลอดภัยไหม?
หากร่างกายแม่แข็งแรงปกติ ไม่ได้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัส ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย โดยดูแลตัวเองเหมือนปกติ ไม่ต้องกังวล
สำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัด ว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เพิ่มโอกาสแท้ง และยังไม่ทราบโอกาสของการส่งต่อเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์
รกอาจได้รับความเสียหาย มีการศึกษาจากสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน (Northwestern Medicine) ของสหรัฐฯ พบผลทดสอบทางพยาธิวิทยาหลังการให้กำเนิดบุตรของหญิง 16 คนที่ติดเชื้อ COVID-19 บ่งชี้ว่า “รก” ได้รับความเสียหาย
หากติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ อาการไม่แตกต่าง หรือรุนแรงจากคนทั่วไป ยกเว้นในรายที่อ้วน หรือมีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ดีอยู่เดิม
ผลต่อพัฒนาการเด็ก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์สหราชอาณาจักรบอกว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของทารก
ลูกจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากในครรภ์ไหม?
พบทารกติดเชื้อในสายรก ในเดือน ก.ค. 2563 มีรายงานข่าวจากต่างประเทศว่า ทารกแรกเกิดเพศหญิงในรัฐเทกซัส ของสหรัฐฯ ซึ่งคลอดจากแม่ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย หลังจากที่เธอคลอดออกมาได้เพียง 24 ชั่วโมง
โดยพบปัญหาในการหายใจ และมีไข้ ทำให้แพทย์ต้องเร่งนำตัวเข้ารักษาอาการในห้องไอซียู โดยทั้งแม่ และเด็กต้องรักษาอาการอยู่นาน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายจากอาการป่วย และได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ขณะที่ผลการตรวจเบื้องต้นยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19 ในสายรก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดต่อจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์
การพบเด็กทารกแรกเกิดติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะสามารถแพร่จากแม่ตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 ไปยังทารกในครรภ์ได้จริงหรือไม่ เคสนี้จึงถือเป็นเคสตัวอย่างที่อาจจะเป็นหลักฐานยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ที่ลูกในครรภ์สามารถติดเชื้อโควิด-19 จากแม่ ก่อนที่จะคลอดออกมา
การดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์ ช่วง COVID-19
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และ หลังคลอดที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ดูแลตัวเองเหมือนกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
– สวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกจากบ้าน ออกไปในที่สาธารณะ
– หลีกเลี่ยงการสัมผัส ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีไข้ มีอาการไอ
– พยายามเลี่ยงไม่ไปในที่คนเยอะ ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า ตลาด ฯลฯ โดยไม่จำเป็น
– รักษาระยะห่าง ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น พยายามเว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร
– ไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก โดยเฉพาะถ้ายังไม่ได้ล้างมือ หรือ ออกไปนอกบ้าน
– ไม่ใช่ของใช้ร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะภาชนะรับประทานอาหาร และของใช้ส่วนตัว
– ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะหลังการไอจาม สัมผัสสิ่งแปลกปลอม ก่อนรับประทานอาหาร หรือออกจากห้องน้ำ
– หากไม่มีสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์ล้างมือแทน โดยถูอย่างน้อย 20 วินาที เช่นเดียวกับการใช้สบู่ล้างมือ
– ใช้กระดาษทิชชู่ หรือใช้ต้นแขนด้านบนปิดปากทุกครั้ง ในขณะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการไอ จาม
กลุ่มเสี่ยงในที่นี้คือ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัส หรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรปฏิบัติตน ดังนี้
– แยกตนเองออกจากครอบครัว และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
– งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จำเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
– กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
– กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน
ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้นมลูกได้ไหม ?
แม่ที่ติดเชื้อไวรัส อาจจะกังวลว่า ยังจะสามารถให้นมลูกได้ไหม เพราะนมแม่ คือ สารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก จากงานวิชาการ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม ดังนั้นแม่ที่ติดเชื้อไวรัสสามารถให้นมลูกได้
ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือ แม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วและมีสภาพร่างกายพร้อมที่จะปั๊มนม หรือ ให้นมลูก สามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องปฎิบัติตามดังนี้
ก่อนให้นมลูก หรือ ก่อนปั๊มนมแม่
– อาบน้ำ หรือเช็ดทำความสะอาดเต้านม และหัวนมด้วยน้ำ และสบู่
– ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป
– สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมนม และการปั๊มนม
หลังปั๊มนม หรือ ให้นมลูก
– ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ และเก็บในที่ที่สะอาด
การดูแลร่างกายขณะตั้งครรภ์ให้แข็งแรง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่เสริมธาตุเหล็ก และ โฟเลต เช่น เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ โยคะ
- ฝากครรภ์ตามกำหนด ถ้ามีความเสี่ยง สัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ ต้องรีบแจ้งแพทย์
- รับประทาน วิตามินเสริมเมื่อตั้งครรภ์ วิตามินรวมสำหรับคนท้อง เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน แร่ธาตุ ควรรับประทาน วิตามินเสริมตั้งครรภ์ ตามแพทย์สั่ง
ถึงแม้จะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสไปทั่วโลก แต่หากเตรียมพร้อม ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ ผ่อนคลาย ไม่เครียด ทำใจให้สบาย คุณแม่มั่นใจได้ว่าจะสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย และมีลูกน้อยที่แข็งแรงได้อย่างแน่นอน