ตื่นนอนมาใคร ๆ ก็อยากรู้สึกสดชื่น แจ่มใส พร้อมต้อนรับวันใหม่ ใช่ไหมล่ะ? แต่รู้หรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยต้องตื่นมาพร้อมกับ “อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน” แบบว่าแค่กลืนน้ำลายก็เจ็บคอแล้วอะ! GedGoodLife เข้าใจความทรมานนี้ดี วันนี้เราจึงได้รวบรวม 8 สาเหตุของอาการเจ็บคอหลังตื่นนอน พร้อมวิธีดูแลแก้ไขให้หายเจ็บ มาฝากแล้ว ลองนำไปปฏิบัติกันดู จะได้ตื่นเช้ามาพร้อมความสดชื่นเหมือนคนอื่นเขาสักที!
ทำความเข้าใจกับ อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน ด้วย 4 คำถามนี้
นายแพทย์ Bruce Stewart ภาควิชาโสตศอนาสิกวิทยา ได้กล่าวและแนะนำไว้ว่า อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน มีสาเหตุหลายประการด้วยกัน ผู้ป่วยจึงควรเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก่อนด้วย 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ เพื่อที่จะได้หาสาเหตุอาการเจ็บคอได้ดีขึ้น
- อาการเจ็บคอหลังตื่นนอนเกิดขึ้นหลังจากได้ย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่หรือไม่?
- คุณเจ็บคอหลังตื่นนอนตลอดทั้งปีหรือเปล่า? หรือเป็นแค่บางฤดูกาลเท่านั้น?
- มีอาการป่วยอื่น ๆ นอกจากเจ็บคอด้วยหรือไม่?
- หากมีคนนอนด้วยข้าง ๆ เขาได้บอกคุณหรือไม่ว่า คุณมีอาการนอนกรน หรือ หายใจติดขัดขณะนอนหลับ?
ถ้าสามารถหาคำตอบได้ ก็จะทำให้เราพอรู้ได้ว่า อาการไอหลังตื่นนอน นั้นเกิดจากสาเหตุใด หรือหากคุณไปพบแพทย์ ก็สามารถอธิบายได้ชัดเจนขึ้น คุณหมอก็สามารถวินิจฉัยได้ตรงจุดมากขึ้นนั่นเอง
8 สาเหตุ และวิธีดูแลแก้ไข อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน
สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้สาเหตุของ อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน เสียก่อน จึงจะสามารถดูแลแก้ไขได้อย่างถูกจุด และหากคุณเจ็บคออยู่เป็นประจำ ยิ่งต้องหาสาเหตุให้ได้ เพราะหากละเลย ปล่อยปัญหาทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว!
สาเหตุที่ 1 : เปิดพัดลม หรือเปิดแอร์ เย็นจนเกินไป
หลายคนชอบเปิดพัดลม เปิดแอร์จ่อตัว ให้รู้สึกเย็นฉ่ำในตอนกลางคืน แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อความเย็นกระทบร่างกายทั้งคืน ร่างกายก็จะเสียสมดุล ภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้เป็นภูมิแพ้อากาศ หรือแพ้อากาศเย็นได้ สังเกตว่าหลังตื่นนอน จะมีอาการ จาม คอแห้ง กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ
วิธีแก้ไข – เปลี่ยนทิศทางลมไม่ให้กระทบโดนตัวโดยตรง, ไม่เปิดพัดลม หรือแอร์เย็นจนเกินไป, นอนห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ, หากมีอาการภูมิแพ้อากาศหลังตื่นนอน เช่น จาม น้ำมูกไหล ไอแห้ง หรือเจ็บคอจากภูมิแพ้ ก็สามารถกินยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการได้
สาเหตุที่ 2 : โรคกรดไหลย้อน
เมื่อมีอาการเจ็บคอหลังตื่นนอน พร้อมกับอาการขมปากขมคอ เปรี้ยวในปาก แสบลิ้น ร่วมด้วย ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าเกิดจาก โรคกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะในยุคนี้
วิธีแก้ไข – เลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง รวมถึงอาหารที่เสี่ยงทำให้เป็นกรดไหลย้อนต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม นม ผลไม้ที่มีกรดมาก, คนที่อ้วนจำเป็นต้องลดน้ำหนัก เลิกนิสัยกินจนเกินอิ่ม, ก่อนนอน 3-6 ชั่วโมง ไม่ควรกินข้าว, ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวทางเดินอาหารดีขึ้น, กินยาลดกรดไหลย้อน เพื่อบรรเทาอาการ
อ่านเพิ่มเติม -> 15 คำถามเรื่องกรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา มีคำตอบที่ GED : Ask Expert
สาเหตุที่ 3 : ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ไรฝุ่น
หากมีอาการภูมิแพ้เป็นประจำอยู่แล้ว อาจสงสัยได้ว่าอาการเจ็บคอนั้นเกิดจากโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะ ภูมิแพ้อากาศ ที่มักเกิดขึ้นเมื่ออากาศเย็นไป ร้อนไป หรือไปเผชิญฝุ่นมาทั้งวัน, รวมถึงภูมิแพ้ไรฝุ่นที่อยู่บนเตียงนอน หรือแม้แต่น้ำยาซักผ้าที่ใช้ซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน
วิธีแก้ไข – พยายามเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้อากาศเย็น แพ้ไรฝุ่น ก็ให้เลี่ยงสิ่งเหล่านี้, พยายามออกกำลังกายให้แข็งแรงเสริมสร้างภูมิต้านทาน, ใช้เครื่องนอนป้องกันไรฝุ่น, หมั่นซักผ้าปูที่นอนเป็นประจำ, กินยาแก้แพ้, นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติม -> โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคภูมิแพ้จมูก – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
สาเหตุที่ 4 : ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
เมื่อร่างกายขาดน้ำ หรือ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายขาดความชุ่มชื้น เกิดอาการระคายเคืองคอ ไม่สบายคอ และอาจทำให้เกิดอาการอักเสบขณะนอนหลับได้
วิธีแก้ไข – ดื่มน้ำให้เพียงพอ 8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง เพราะน้ำจะช่วยลดการระคายเคือง และทำให้รู้สึกสบายคอ แถมช่วยต่อสู้กับแบคทีเรียได้ดีขึ้น
สาเหตุที่ 5 : อากาศแห้งเกินไป
อากาศที่แห้งเกินไป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่หนาวเย็น ฉะนั้นใครที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ แล้วมี อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน แสบคออยู่เป็นประจำ ก็อาจสงสัยได้ว่าอากาศในห้องแห้งเกินไป (ส่วนในประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น จะมีอากาศแห้งได้บ้างก็ช่วงหน้าหนาว หรือเปิดแอร์เย็นจนเกินไป)
วิธีแก้ไข – แนะนำให้ซื้ออุปกรณ์วัดความชื้น เพื่อวัดว่าอากาศในห้องแห้งแค่ไหน แห้งจริงหรือไม่, ติดตั้งเครื่องสร้างความชื้นในห้องนอน หรือตั้งแก้วน้ำไว้ใกล้ ๆ หัวนอน เพื่อกระจายความชุ่มชื้นออกมาเรื่อย ๆ, ไม่เปิดแอร์ หรือพัดลมเข้าที่ใบหน้าโดยตรง
สาเหตุที่ 6 : นอนกรน นอนอ้าปาก
นอนกรนมักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึก และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย พบได้ในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ถ้าอาการนอนกรนมีความรุนแรง ก็จะทำให้ คอแห้ง เจ็บคอ ปวดศีรษะในตอนเช้าได้
วิธีแก้ไข – เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง, หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน, ผู้ที่มีโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักให้เหมาะสม, ใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรน
อ่านเพิ่มเติม -> เซ็งไหมกับสามีที่ชอบ นอนกรน มาดูวิธีแก้ให้หายขาดกัน
สาเหตุที่ 7 : เป็นหวัด
สาเหตุที่ทำให้เป็นหวัด เจ็บคอ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส มากกว่าเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากเชื้อไวรัสผู้ป่วยมักมีน้ำมูก ไอ คอแดง เสียงเปลี่ยนไป หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดคออักเสบ และอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัสได้
วิธีแก้ไข – เพียงรักษาไข้หวัดให้หาย ด้วยการกินยาลดไข้ ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เมื่อไข้หวัดหาย อาการเจ็บคอหลังตื่นนอนก็จะดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติม -> โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
สาเหตุที่ 8 : สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ นอกจากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดแล้ว ยังทำให้เจ็บคอ ไอเรื้อรังได้อีกด้วย ถึงแม้จะเลิกสูบบุหรี่ไปนานเป็นเดือนแล้ว อาการไอ เจ็บคอ คอแห้ง ก็อาจยังมีอาการแสดงให้เห็นอยู่
วิธีแก้ไข – ใครที่ยังสูบบุหรี่อยู่ ก็ควรเลิกสูบ เพื่อสุขภาพองค์รวมที่ดี และลดการเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดในอนาคต ส่วนใครที่เลิกสูบไปนานเป็นเดือนแล้ว แต่ยังมี อาการไอหลังตื่นนอน อาจใช้วิธีอมลูกอม ยาอม ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาวให้ชุ่มคอ และถ้าไอมีเสมหะ สามารถใช้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ บรรเทาอาการได้
อ่านเพิ่มเติม -> เลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังไม่เลิกไอ เกิดจากอะไร ควรดูแลตนเองยังไงดี?
อาการเจ็บคอหลังตื่นนอน เสี่ยงเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่?
ในช่วงที่โรคโควิดยังระบาดหนักอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องระวังติดโรคโควิดเอาไว้ก่อน หากออกไปข้างนอกบ่อย สัมผัสพูดคุยกับคนอื่นเป็นประจำทุกวัน เมื่อผ่านไป 3-4 วัน ตื่นมาแล้วรู้สึกเจ็บคอ แสบคอ มีเสมหะ ไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส อาจสงสัยได้ว่าติดโรคโควิด-19 เข้าให้แล้ว!
เบื้องต้นแนะนำให้ซื้อที่ตรวจโควิด-19 มาลองตรวจดูก่อน หากขึ้น 2 ขีด (หรือเข้าตามเงื่อนไขของอุปกรณ์ตรวจโควิดนั้น ๆ) ให้รีบไปโรงพยาบาล หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับคำปรึกษา หรือรับยาอย่างทันท่วงที
ในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ ควรมียาเหล่านี้ติดบ้านไว้บ้าง เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
6 ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเจ็บคอ ที่ควรไปพบแพทย์
อาการเจ็บคอส่วนมากสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่ถ้ามีผลแทรกซ้อนติดเชื้อในคออาจนำไปสู่ ทอนซิลเป็นหนอง ต่อมน้ำเหลืองโตอักเสบ เส้นเลือดที่คออักเสบ และอื่น ๆ โดย 6 อาการดังกล่าวที่เราควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
- มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
- มีอาการหนาวสั่น
- มีฟันกระทบ ฟันกระแทก
- มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน
- คอโต คลำแล้วเจอก้อนที่คอ
- สงสัยว่าติดโควิด
อ้างอิง : 1. bannerhealth 2. โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา 3. Doctor Top
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife