ผื่น หรือบางทีเรียกรวม ๆ กันว่า ผดผื่น ตามนิยมของคนทั่ว ๆ ไป หมายถึง ลักษณะอาการทางผิวหนัง ที่เกิดจากสภาวะของร่างกายปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเหงื่อปริมาณที่มากขึ้น ไปอุดตันรูขุมขนเป็นสาเหตุทำให้เกิดตุ่มน้ำเล็ก ๆ จนกลายเป็นผดผื่นที่ทำให้เกิดอาการคันแดง ตามข้อพับ หรือที่อับชื้นบนร่างกาย
แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้นสาเหตุของการเกิดผื่นมีอีกมากมายหลากหลายชนิด ซึ่งบางชนิดหากไม่ได้รับการวินิจฉัย และแก้ไขอย่างถูกวิธีแต่เนิ่น ๆ อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย
วันนี้เราจึงรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผื่นที่พบได้บ่อย และพบได้ทั่วไปในคนไทยมาฝากกัน พร้อมวิธีการประเมินความรุนแรงด้วยตนเองเบื้องต้น จะได้ไม่ปล่อยให้ผื่นเหล่านี้ลุกลามจนยากที่จะแก้ไข…
– ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ แก้ได้ด้วย 9 วิธีนี้ คันแค่ไหนก็เอาอยู่!
– ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังที่มาพร้อมหน้าฝน! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
– ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ดูแลรักษายังไงดี ?
จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังมีผื่น
ผื่น เป็นลักษณะอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตาเปล่า และแม้ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญก็สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติบนผิวหนังภายนอกร่างกายได้โดยไม่ยาก โดยทั่วไปแล้วผื่นยังสามารถแบ่งออกได้ง่าย ๆ เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ตามบริเวณที่แสดงอาการ
1. ผื่นที่เกิดขึ้นเฉพาะจุด (Localized) เช่น ผื่นเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แขน ขา หรือเฉพาะข้อเท้า มักจะเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการอุดตันของต่อมเหงื่อ จากสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เกิดจากการเป็นภูมิแพ้ผิวสัมผัส รวมถึงการสัมผัสกับสาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งผื่นในกลุ่มนี้มักจะเกิดเฉพาะจุด มีขอบเขตบริเวณที่ชัดเจนสังเกตได้โดยตาเปล่า
2. ผื่นที่เกิดกระจัดกระจายตามตัว (Generalized) ผื่นในลักษณะนี้โดยส่วนใหญ่ เป็นผื่นที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น การแพ้ยา แพ้อาหาร ลักษณะอาการของโรคบางชนิด หรือแม้แต่การติดต่อรับเชื้อบางอย่างที่เข้าไปในร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการตอบสนองต่อเชื้อนั้น ๆ ดังเช่นที่คงได้เคยได้ยินกันมาในเร็ว ๆ นี้ว่า ผื่น เป็นลักษณะแสดงออกชนิดหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19)
วิธีสังเกตอาการผื่นทั้ง 6 ประเภท
1. ผื่นคันแดงตามตัว Exanthematous (Morbilliform)
หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Rash เป็นลักษณะของผื่นที่พบได้ทั่วทั้งตัว และพบได้บ่อยสุด โดยผิวหนังบริเวณที่มีอาการคันจากเปลี่ยนสีเดิมโดยอาจมีสีแดง มีผื่น และอาการคันเป็นจุดแดง ๆ หรือตุ่มใส บางครั้งอาจมีการตกสะเก็ดตามมา
สาเหตุของอาการผื่นคันนั้นมีหลากหลาย เช่น เกิดจากโรคผิวหนังที่มีอาการคันเรื้อรัง และมีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น
- การทานอาหารรสเผ็ด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อยู่ท่ามกลางแสงแดด และมลภาวะ อย่างฝุ่น PM 2.5
- ความเครียด
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- รวมถึงโรคผิวหนังบางชนิด เช่น กลาก (Ringworm)
- การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำยาทำความสะอาด การสัมผัสกับผ้าอ้อม
- รวมถึงอาการข้างเคียงที่เกิดจากการแพ้ยา (Drug Allergy)
ผื่นคันแดงชนิดแรกนี้บางครั้งอาจจะเกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น หมัด เห็บกัด ได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุของอาการผื่นคันนั้นมีมากมาย
หลักสำคัญที่อยากแนะนำคือการจดบันทึก อาการและสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้คันต่าง ๆ ไว้เป็นสมุดบันทึกของตนเอง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยง โอกาสในการสัมผัส และกระตุ้นให้เกิดอาการผื่นแพ้คันดังกล่าวในอนาคตนั่นเอง หรือหากอาการมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยไม่ปล่อยให้ลุกลามจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อต่าง ๆ ตามมาเนื่องจากการเกาบริเวณที่คัน
2. ผื่นลมพิษ หรือบางครั้งเรียกโรคลมพิษ (Urticaria)
เป็นลักษณะอาการทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่แสดงออกมาในรูป ผื่น หรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย สามารถมีขนาดตั้งแต่เล็กเพียง 0.5 จนถึงใหญ่ราว10 ซม. โดยปกติจะมีอาการคันร่วม และเกิดขึ้นอย่างเร็ว และกระจายตามตัว แขนขา แต่จะปรากฎอยู่เพียงชั่วขณะ โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นลมพิษ เหล่านั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้บ่อย ๆ ในคนที่เป็นโรคประจำตัว
โดยหลักสำคัญควรหมั่นสังเกตอาการ ความผิดปกติของอาการว่ารุนแรงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง แน่นจมูกลำคอ หายใจไม่สะดวก รวมถึงอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ ร่วมด้วยเวลาที่เกิดลมพิษ หรือไม่ ซึ่งหากพบอาการเพิ่มเติมดังที่กล่าวมานั้นก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
3. ผื่นตุ่มน้ำพองใส (Vesiculobullous Eruption)
มีลักษณะเป็นตุ่ม หรือถุงน้ำใส ๆ สามารถพบกระจายอยู่ตามตัวโดยทั่วไป คล้ายผื่นสุกใส สาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่นตุ่มน้ำพองใสนั้น อาจเกิดจาก…
– การที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านตนเอง ( Autoimmune bullous disease ) ทำให้ผิวหนังเกิดการแยกชั้น และมีตุ่มน้ำพองที่ผิวหนัง และที่บริเวณเยื่อบุต่าง ๆ
– เกิดจากพันธุกรรม ( bullous genodermatosis )
– เกิดจากการติดเชื้อ ( infectious cause ) บางชนิด เช่น โรคเริม ( Herpes ) โรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัดจากเชื้อ Varicella-Zoster virus, Staphylococcus aureus ทำให้เกิดโรคพุพอง ( Bullous impetigo )
– การสัมผัสกับสารที่ก่อการระคายเคือง ( irritant contact dermatitis ) สารเคมี chemical burn, electrical injury, การเสียดสี ( friction ) จนมีอาการคัน และผื่นแดงในบริเวณที่ได้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นทางกายภาพ ในระดับอาการที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดตุ่มน้ำพองที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
– รวมถึงภาวะผิดปกติทางเมตาบอลิกต่าง ๆ เช่น เบาหวาน amyloidosis, porphyria ที่ส่งผลให้กระบวนการเมตาบอลิกเกิดความผิดปกติจนก่อให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นมาได้นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าผื่นตุ่มน้ำพองใสนี้ มีลักษณะอาการร่วมที่คล้ายคลึงกับผื่นคันแดงตามตัว แต่การเกิดตุ่มน้ำพองขึ้นนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับความรุนแรงของอาการที่คุณไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเข้าปรึกษาแพทย์หาก มีการต่อเนื่องเรื้อรัง
4. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema)
ผื่นลักษณะพิเศษ ชนิดนี้พบมากในเด็ก และผู้ที่มีอายุน้อย เป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่มักจะเป็นเรื้อรัง เป็น ๆหาย ๆ โดยผื่นจะมีลักษณะตุ่มใส ๆ แข็ง ๆ เกิดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หรือด้านข้าง ๆ นิ้วมือหรือ นิ้วเท้าโดยผื่นชนิดนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ หรือภาวะการระคายเคือง หรือ การแพ้สารสัมผัสก็ได้
ลักษณะโดยทั่วไปที่ตรวจพบ จะมี ตุ่มใส ๆ แข็ง ๆ เกิดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หรือด้านข้าง ๆ นิ้วมือหรือ นิ้วเท้า หรือ ตุ่มอาจจะพองจนมีขนาดใหญ่หลายเซนติเมตรได้ อาจจะมีการคัน ส่วนใหญ่น้ำใส ๆ ด้านในอาจจะเปลี่ยนเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซ้ำซ้อน และลอกเป็นเป็นแผ่นหนา ๆ ออกไป
โดยปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ อาจจะเกิดจาก การระคายเคืองจากสารต่าง ๆ เช่น แอลกอลฮอล์เจล หรือล้างมือบ่อยเกินไป อย่างเช่นที่หลายคนในเวลานี้อาจเคยพบประสบกับตนเอง
นอกจากนั้นแล้วยังอาจเกิดจากการแพ้สารสัมผัสบางชนิด เช่น เครื่องประดับ น้ำหอม สารกันบูดในผลิตภัณฑ์สำหรับผิว หรือแม้แต่เกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ซ้ำซ้อนบ่อย ๆ เป็นประจำก็ทำให้ตัวโรคกำเริบได้
ซึ่งหากพบว่าเป็นมาก หรือถี่ผิดปกติ ควรพิจารณาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อพิจารณาการรักษาอื่น ๆ ต่อไป เช่น การรับประทานยาสเตียรอย ยากดภูมิคุ้มกัน ฉายแสงแดดเทียม ฉีดโบทูลินั่มท๊อกซินลดเหงื่อ
5. ผื่นแดงตาข่าย หรือเส้นใยเล็กๆ (Livedo Reticularis)
เกิดจากโรคหลอดเลือดอักเสบ ทำให้ระบบไหลเวียนของเส้นเลือดไหลช้า เกิดลักษณะอาการตัวลาย ๆ คล้ายมีตาข่ายคลุมอยู่บริเวณผิวหนัง ผื่นในลักษณะดังกล่าวพบไม่ค่อยได้บ่อย อาจมีลักษณะเป็นผื่นนูนเป็นจ้ำเลือด ที่เรียกว่า Purpura หรือผื่นลายรูปร่างแหที่เรียกว่า Livedo reticularis ตลอดจนการมีตุ่มกดเจ็บใต้ผิวหนัง หรืออาจเกิดเป็นแผลเรื้อรัง หรือมีการตายของเนื้อเยื่อได้
หากเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย เช่น ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ใบหูหรือปลายจมูก เป็นต้น ซึ่งผื่นชนิดนี้เกิดจากปัจจัยความผิดปกติของระบบเลือดในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
6. ผื่นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (Vasculitis)
ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดอักเสบ (Cutaneous vasculitis) เป็นผื่นที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบ โดยส่วนใหญ่พบบริเวณที่ขาเป็นหลัก และอาจกระจายทั่วทั้งขา เป็นอาการผิดปกติของหลอดเลือดในระดับที่รุนแรงกว่าประเภทที่ 5
โดยอาการ และอาการแสดงที่ผิวหนังมีหลายรูปแบบ เช่น เกิด ตุ่มแดง นูน กดแล้วสีแดงไม่จาง ตุ่มพองมีเลือดออกในตุ่มพองแตกเป็นแผล ผื่นสีม่วงแดงเป็นร่างแห คล้ายตาข่าย ผื่นที่หายอาจเหลือเป็นรอยแผลเป็น หรือหายเป็นผิวหนังปกติ ขึ้นกับการอักเสบของหลอดเลือดที่เกิดขึ้น
โดยสาเหตุการอักเสบของหลอดเลือดที่ผิวหนัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ
- เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ยา หรือสารเคมีบางชนิด
- โรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี โรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค เชื้อแบคทีเรียบางประเภท เชื้อไวรัสตับอักเสบ
- และอาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด
- ซึ่งการดูแลรักษาอาการผื่นชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
และทั้งหมดนี้ก็เป็นสาระความรู้ เกี่ยวกับผื่นที่พบบ่อยในประเทศไทยที่เรารวบรวมมาฝาก เพราะการเกิดผื่นนั้นสามารถสร้างผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจได้ในหลากหลายระดับ ตั้งแต่เรื่องความกังวลเกี่ยวกับสวยความงาม ความรู้สึกสบายเนื้อสบายตัว และบุคลิกภาพ ตลอดจนผื่นบางประเภทก็สามารถสร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตให้กับเราได้เช่นเดียวกัน
เราจึงควรหันมาใส่ใจ และให้เวลาดูแลผื่นเล็ก ๆ เหล่านี้สักนิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียทางด้านสุขภาพ และด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะตามมาจากปัญหาแค่เรื่องผิว ๆ เรื่องผื่น ๆ เรื่องที่ดูเล็กแต่อาจไม่เล็กหากขาดความรู้ความเข้าใจ
อ้างอิง :
www.si.mahidol.ac.th www.skinhospital.co.th https://amprohealth.com https://bupa.co.th http://healthydee.moph.go.th