จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เป็นอาการที่หลายคนวิตกกังวลว่า เกิดจากติดโควิด-19 หรือเปล่า ต้องรีบไปหาหมอไหม? อย่าเพิ่งเครียด หรือวิตกกังวลไป เพราะอาการ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ถ้าคิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโควิด และมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?
การรับกลิ่น และการรับรส เป็นประสาทสัมผัสพิเศษที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์เราจะนำการรับกลิ่น ไปร่วมแปลเป็นความรู้สึกของการรับรสด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- เมื่อเราเป็นหวัด จมูกจะไม่ค่อยได้กลิ่น และเป็นผลให้รู้สึกว่ารสชาติอาหารไม่อร่อยตามไปด้วย ทั้งที่การรับรสของลิ้นยังปกติดีอยู่
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาจมูกได้กลิ่นน้อยลง ยังอาจทำให้ขาดสัญญาณเตือนภัยในการดำรงชีวิต เช่น อันตรายจากการเกิดแก๊สรั่ว หรือการกินอาหารบูดเน่า เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ไข้หวัด
– โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดทั้งปี! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน
– วิธีลดหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้น้ำมูกอุดตัน ทำง่าย ได้ผลจริง!
– เป็นหวัด ควรกินยาอะไรดี? แล้วอะไรคือสาเหตุของไข้หวัด? เรื่องควรรู้ก่อนซื้อยา
จมูกไม่ได้กลิ่น (Loss of smell) เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
เรื่องของจมูกสูญเสียการรับกลิ่น จมูกได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia) หรือจมูกไม่ได้กลิ่นเลย (Anosmia) ผศ.นพ.ประยุทธ ตันสุริยวงษ์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า มีสาเหตุใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ
1. อุบัติเหตุทางศีรษะ
การสูญเสียการรับกลิ่นจากอุบัติเหตุทางศีรษะ มักเกิดจากการกระแทกที่รุนแรงทางด้านหน้า หรือท้ายทอย ทำให้เกิดการกระชากอย่างรุนแรงของประสาทรับกลิ่นที่ผ่านลงมาในช่องจมูก นอกจากนี้หากมีการแตกหักของกระดูกบริเวณรอบ ๆ ประสาทรับกลิ่น ก็อาจทำให้ปลายประสาทขาดได้
ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสลบ ก็อาจรู้สึกทันทีว่ามีการสูญเสียการดมกลิ่นอย่างฉับพลัน หรือทราบภายหลังอุบัติเหตุไม่นานนักเมื่อเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้กลิ่น เป็นการสูญเสียการรับกลิ่นแบบปลายประสาทเสื่อม
2. การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด
การสูญเสียการรับกลิ่นจากการติดเชื้อไวรัสหวัด จะเป็นพร้อม ๆ การเป็นหวัด อาจเป็นการเป็นหวัดที่รุนแรง หรือเป็นนาน ระหว่างที่เป็นหวัดนั้น ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น และเมื่ออาการหวัดหายไปแล้วผู้ป่วยก็ยังคงไม่ได้กลิ่น เป็นการสูญเสียการรับกลิ่นแบบปลายประสาทเสื่อมเหมือนข้อที่ 1
3. โรคทางช่องโพรงจมูก และไซนัส
อาจเกิดจากการอักเสบของโพรงจมูกจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เยื่อบุช่องโพรงจมูกบวม หรือ ริดสีดวงจมูก และเนื้องอกของช่องจมูก และโพรงไซนัสที่อุดตันบริเวณรับกลิ่น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการทางจมูกอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการอื่น ๆ ของโรคนั้น ๆ
อาการไม่ได้กลิ่นจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อาจมีบางครั้งได้กลิ่นดี และแย่ลงสลับกันไปมาขึ้นอยู่กับอาการคัดจมูก การสูญเสียการรับกลิ่นจากสาเหตุนี้สามารถทำการรักษาได้ดี โดยทำการรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้ช่องโพรงจมูกบวม และอุดตัน ทั้งโดยการใช้ยา และวิธีผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุนั้น ๆ
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง เช่น
- การสูดรับสารพิษอย่างรุนแรง
- โรคทางระบบประสาท
- และโรคพันธุกรรมบางอย่าง โรคทางเมตะบอลิสม เช่น เบาหวาน ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- นอกจากนี้อาจเป็นการเสื่อมสภาพของประสาทรับกลิ่นไปตามอายุอีกด้วย
การรักษา จมูกไม่ได้กลิ่น
ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่มีคุณสมบัติในการรักษาเรื่องการกลิ่นในจมูกโดยตรง การรักษาให้ดูที่สาเหตุเป็นหลัก เช่น
1. ถ้ามีสาเหตุมาจาก อุบัติเหตุทางศีรษะ หรือการติดเชื้อไวรัสหวัด ส่วนใหญ่จะรอเวลาเพื่อให้เส้นประสาทดีขึ้นมาเอง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าประสาทรับกลิ่นนั้นถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อย ๆ อาจช่วยให้เส้นประสาทการรับกลิ่นที่เสียไปกลับมาทำงานได้
2. ถ้ามีสาเหตุจากโพรงจมูกอุดตัน เช่น โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หากให้การรักษาที่สาเหตุก็จะทำให้การรับกลิ่นของผู้ป่วยดีขึ้น และหายขาดได้ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยา และการผ่าตัด
- ภูมิแพ้ คืออะไร มีสาเหตุ อาการอะไรบ้าง หายขาดได้หรือไม่? พร้อมวิธีรักษาภูมิแพ้
- ไซนัสอักเสบ หายได้ถ้ารู้เท่าทัน!
ลิ้นไม่รู้รส (Loss of taste) เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
การที่เราสามารถบอกความแตกต่างของรสชาติอาหารที่รับประทานได้ เกิดจากลิ้นมีความสามารถบอกความแตกต่างของรสชาติอาหารที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น รสเปรี้ยว หวาน. เค็ม เผ็ด ขม เป็นต้น ก็เพราะ ลิ้นมีปุ่มรับรสเล็ก ๆ จำนวนมากมายบนลิ้นเรียกว่า ปาปิลา (papilla)
พื้นที่แต่ละส่วนของลิ้น จะรับรสต่างกันออกไป ดังนี้
- ปลายลิ้น รับรู้รสหวาน จากสารให้รสหวาน เช่น น้ำตาล แอลกอฮอล์ กรดอะมิโน
- ปลายลิ้น และด้านข้างของลิ้น รับรู้รสเค็ม จากเกลือที่มีไอออนบวก
- ด้านข้าง 2 ข้างของลิ้น รับรู้รสเปรี้ยว จากสารที่มีความเป็นกรด
- โคนลิ้น รับรู้รสขม จากสารอัลคาลอยด์เช่น คาแฟอีน ควินิน
ลิ้นไม่รับรส หรือรับรสได้น้อย มีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. ปลายประสาทที่ลิ้นอักเสบ เกิดได้จากลิ้นรับสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ปรอท หรือ ว่ารับประทานอาหารมันมากเกินไป แล้วทำให้หลอดเลือดอุดตัน
2. อาจเกิดจากการขาดสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามินบางชนิด เช่นสังกะสี ควรเสริมด้วยแร่ธาตุ และวิตามิน เช่น สังกะสี เหล็ก วิตามินบีรวม เป็นต้น
3. แพ้สารบางอย่าง เช่น แพ้ผงชูรส หรือแพ้สารบางอย่างในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือจากการที่ต่อมรับรสบาดเจ็บจากความร้อนจากอาหาร
4. อายุที่มากขึ้น เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ต่อมรับรสก็จะรับรสได้น้อยลง และยังทำให้รับรสยากขึ้นอีกด้วย แต่ในกรณีนี้ ลิ้นยังคงรับรู้รสชาติอยู่ แค่น้อยลงไปตามวัย ไม่ถึงกับไม่รู้ชาติอะไรเลย
5. ยารักษาโรค การสูบบุหรี่ และ การรักษาโรคมะเร็ง ก็มีส่วนทำให้ลิ้นสูญเสียการรับรสได้เช่นกัน
ความสามารถในการรับรสอาหารเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากจะช่วยป้องกันร่างกายจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยถ้าตุ่มรับรส รู้รสอาหารที่ไม่ต้องการ หรือไม่ปลอดภัย เช่น อาหารบูดเสีย สมองจะสั่งการตอบสนองให้พ่นออกมาทันที เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีกับเซลล์ในตุ่มรับรส เรียกว่า ขบวนการทรานดักส์ชัน (transduction)
แพทย์ทั่วโลกพบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เป็นข้อบ่งชี้ว่าติด COVID-19
สำหรับใครที่มีอาการป่วย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส และคิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโควิด-19 ต้องเข้าพบแพทย์ทันที โดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ฯ แนะแพทย์ให้ความสำคัญอาการ “สูญเสียการได้กลิ่น” เผยพบ ถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิด-19
และเมื่อช่วงต้นปี 2563 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ International Forum of Allergy & Rhinology ในต่างประเทศ ได้อธิบายเกี่ยวกับ “อาการสูญเสียการรับกลิ่น และการรับรส” เอาไว้ว่า เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคโควิด-19
ทีมงานวิจัยชุดนี้ ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยนำ “ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด” มาทดสอบเปรียบเทียบการได้กลิ่น และการรับรู้รสกับ “ผู้ป่วยจากไข้หวัดอื่น ๆ” ผลการทดสอบพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้น
- สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นถึง 68%
- สูญเสียความสามารถในการรับรสถึง 71%
- ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากโรคไข้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 จะมีอาการเหล่านี้ไม่เกิน 17% เท่านั้น
อ้างอิง :
1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. มหาวิทยาลัยมหิดล 3. medthai 4. bangkokbiznews
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่