แสบตา เคืองตา ถือเป็นอาการผิดปกติทางร่างกายที่พบบ่อยมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา หรือแม้แต่นาฬิกาอัจฉริยะที่ต่างก็มีหน้าจอแสดงผลต่าง ๆ ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องใช้สายตาอยู่กับหน้าจอเหล่านั้นแทบจะตลอดเวลา จนกลายเป็นที่มีของอาการแสบตา เคืองตา
หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าอาการแสบตา และเคืองตานั้นยังมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในร่างกายอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ตา ที่มักจะแวะเวียนมาสร้างความรำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ่อย ๆ จนหลายท่านอาจเกิดความสับสนว่า อาการแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป หรือเป็นเพราะอาการภูมิแพ้ตากำเริบ ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจ วันนี้เราจึงอยากชวนทุกท่านมารู้จักสาเหตุ และวิธีการดูแลที่ถูกวิธี
แสบตา เคืองตา จากการใช้สายตามากผิดปกติ กับ โรคภูมิแพ้ตา แตกต่างกันอย่างไร ?
- แสบตา เคืองตา จากการใช้สายตามากผิดปกติ
อาการแสบตาเคืองตาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในคนปกติทั่วไป เมื่อมีการใช้สายตามากผิดปกติ หรือต้องเผชิญกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เช่น ลมแรง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ซึ่งโดยปกติแล้ว ลักษณะของการแสบตาเคืองตา และตาแห้งดังกล่าว จะเกิดขึ้นในช่วงที่เรามีการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือดูหน้าจอมือถือ ติดต่อกันนาน ๆ หรือต้องอยู่ภายในสภาวะแวดล้อมบริเวณที่มีอากาศแห้ง มีลมแรง มีฝุ่นละออง มีการพักผ่อนน้อย ดื่มน้ำน้อย
มักพบมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ต่อมน้ำตามีการผลิตน้ำตาที่ลดลง รวมถึงผู้ที่ต้องสวมใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานาน
- โรคภูมิแพ้ตา
ส่วนอาการ แสบตา เคืองตา ที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้นั้น เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองไวผิดปกติต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ โดยอาการภูมิแพ้ตานั้น สามารถพบได้บ่อยราวร้อยละ 10-20 ของคนปกติทั่วไป
ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ๆ หรือเขตชุมชน ที่มีคนอยู่อาศัยอยู่หนาแน่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคภูมิแพ้ที่ตาเป็นโรคที่ไม่อันตราย เพียงแค่ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดความพิการของสายตาได้
โรคภูมิแพ้ตา เกิดจากสาเหตุอะไร?
โรคภูมิแพ้ตา (Allergic Conjunctivitis) มีสาเหตุหลักคล้ายคลึงกับอาการภูมิแพ้อื่น ๆ คือการที่บริเวณนั้น ๆ ได้รับการกระตุ้นหรือรบกวนจากสิ่งแปลกปลอม ที่เป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา เป็นต้น
นอกจากนี้ การสวมใส่คอนแทคเลนส์ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ตาได้ และยังเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น จากกรรมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ได้เช่นกัน
และถ้าจะสังเกตให้ดี อาการภูมิแพ้ตา มักจะเกิดร่วมกับภูมิแพ้ที่ส่วนอื่นของร่างกาย เพราะในคนที่เป็นภูมิแพ้ อาจมีอาการแสดงออกได้หลายแห่ง ตั้งแต่ ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอจามเรื้อรัง น้ำมูกไหล บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดอาการอักเสบ ผื่นแดง หรือคันที่ผิวหนัง และที่บริเวณดวงตา
อย่างอาการโรคภูมิแพ้ตาดังที่กล่าวมา ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้บางรายมีอาการเพียงจุดเดียว ในขณะที่บางรายก็อาจจะพบว่าเป็นทุกส่วนร่วมกันพร้อมกัน ก็พบได้บ่อยเช่นกัน
โรคภูมิแพ้ตา มีกี่ลักษณะ และลักษณะใด ควรรีบไปพบแพทย์?
โรคภูมิแพ้ตา สามารถแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
กลุ่มที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง คือ เยื่อบุตาอักเสบเป็นหลัก ยังไม่มีผลกระทบต่อกระจกตา อาการที่พบโดยทั่วไปก็จะมี ระคายเคืองตา แสบตารู้สึกเหมือนมีเศษฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่บริเวณเปลือกตาตลอดเวลา มีน้ำตาไหล ตาพร่ามัว มีขี้ตาเหนียวข้น หรือเป็นเมือกคลุมกระจกตาทำให้อาจมองเห็นไม่ชัดเป็นบางขณะ ซึ่งโดยมากมักเกิดจาก ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือเป็นตามฤดูกาล เช่น ช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นต้น
กลุ่มที่มีอาการแพ้ค่อนข้างรุนแรง คือ มีอาการกระจกตาอักเสบร่วมด้วย โดยอาจมีอาการเจ็บเคืองตาที่รุนแรงจนรู้สึกผิดปกติ อาจมีอาการปวดหัว หรือปวดลูกนัยน์ตาร่วมด้วย การมองเห็นถูกรบกวน ไม่ใช่แค่คันตา หรือตาแดงเท่านั้น
โดยนอกจากสาเหตุปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว อาจเกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ ที่ไม่ถูกวิธี หรือใช้งานไม่เหมาะสม หรือแม้แต่การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ก็อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ตาที่ค่อนข้างรุนแรงได้ และควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
โรคภูมิแพ้ตา แสบตา เคืองตา อันตรายแค่ไหน?
ความเสี่ยง และผลกระทบในระยะยาวของโรคภูมิแพ้ตา ขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีอาการแพ้เป็นหลัก โดยหากเป็นบริเวณเยื่อบุตาขาว ซึ่งเป็นบริเวณที่พบอาการภูมิแพ้ตาได้บ่อยมากที่สุด ความเสี่ยง และผลกระทบในระยะยาวก็จะน้อยกว่าภูมิแพ้ที่พบบริเวณกระจกตา
เพราะหากอาการเกิดขึ้นที่กระจกตา ส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง อาจทำให้การมองเห็นลดลง หรือมองเห็นไม่ชัดได้ และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง การเกิดภูมิแพ้ที่กระจกตา ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังที่กระจกตา อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งจะรักษาได้ยากขึ้น
นอกจากนี้แม้ว่าแผลที่รักษาจะหายแล้ว แต่ก็อาจกลายเป็นแผลเป็นที่กระจกตา ส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้ จึงควรมีการดูแล และรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวดังที่กล่าวมานี้
วิธีป้องกัน และการดูแลโรคภูมิแพ้ตาอย่างถูกต้อง
โรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบริเวณใด อย่างที่ทราบว่า “สามารถรักษาได้ แต่อาจไม่หายขาด” หรือ เรียกตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่าเป็นการ “รักษาตามอาการ” นั่นเอง คือมีอาการก็ดูแล และบรรเทาให้อาการดีขึ้น อยู่กับอาการได้อย่างไม่รบกวนการใช้ชีวิตมากนัก
สิ่งสำคัญสำหรับคนเป็นโรคภูมิแพ้ทุกประเภท คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และรักษาตามอาการ อย่าปล่อยให้อาการแย่ลงจนเกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา
โดยปัจจุบันมีการรักษาโดยการใช้ยาแก้คันเพื่อรักษาอาการคันที่ดวงตา หรือให้ยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการตาแดง ในบางรายมีอาการตามฤดูกาล แพทย์อาจให้ยาป้องกันไว้ก่อน เรียกว่ายาป้องกันภูมิแพ้ หากผ่านฤดูนั้นไป สามารถหยุดใช้ยาได้ตามคำแนะนำของแพทย์
วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ตาอย่างมีประสิทธิภาพ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสมดุล และแข็งแรง
- นอนหลับพักผ่อน อย่างมีคุณภาพ และเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอม จากภายนอกที่รู้ว่ากำลังแพ้
- ปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้เหมาะสม เช่น พักสายตาทุก ๆ 30 นาที จากหน้าคอมพิวเตอร์
- สวมแว่นตากันแดด กันลม เมื่อต้องออกสู่ที่แจ้ง ลมแรง
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตา อยู่เป็นประจำ
ซึ่งทั้งหมดนี้ฟังดูเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการละสายตาจากหน้าจอ แต่เพื่อถนอมดวงตาคู่สำคัญ ที่เป็นประสาทรับสัมผัสการมองเห็น ที่สำคัญที่สุดช่องทางหนึ่งของมนุษย์ให้อยู่คู่กับคุณไปนานที่สุด การลงทุนเรื่องพื้นฐานสุขภาพที่ว่ามานี้ ก็คงเรียกว่าคุ้มค่าอย่างที่สุดแน่นอน!
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี