โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2563 นี้! วันนี้ GedGoodLife จึงขอรวบรวมคำถามสำคัญเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ประชาชนคนไทยควรรู้ โดยเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้จาก องค์การอนามัยโลก, สาธารณสุขไทย, และนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด เช่น นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ เป็นต้น… อย่ารอช้า มา “รอบรู้ สู้โควิด-19” ไปพร้อม ๆ กันเลย!
* ท่านสามารถทำ “แบบประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19” ได้ที่ท้ายบทความ
รอบรู้ สู้โควิด-19 : โดยกระทรวงสาธารณสุข
1. อาหารทะเลกินได้หรือไม่?
อาหารทะเลสามารถรับประทานได้ตามปกติ การป้องกันโรคที่สำคัญคือ ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพราะสามารถฆ่าเชื้อได้ รวมถึงเชื้อก่อโรคโควิด 19
2. สถานที่ในจังหวัดสมุทรสาคร มีสถานที่ใดบ้างที่มีคำสั่งปิดชั่วคราว?
มาตรการควบคุมโรค COVID-19 ในจังหวัด สมุทรสาคร ช่วงวันที่ 19 ธ.ค. 63 – 3 ม.ค. 64 (14 วัน)
- ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ให้เปิดเฉพาะซื้อกลับบ้าน ยกเว้น โรงแรม และโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอล
- ร้านสะดวกซื้อ กำหนดเวลาปิด 22.00 – 05.00 น. และจำกัดจำนวนคนเข้าร้านไม่ให้แออัด
- ตลาดนัด ตลาดสด เปิดขายได้ 6 ชั่วโมง
- ปิดให้บริการตลาดกลางกุ้ง และหอพักศรีเมือง และพื้นที่สาธารณะทั่วไป เช่น สนามกีฬา สนามมวย โรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
3. ประชาชนสามารถเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงได้หรือไม่?
ปัจจุบันมีการล็อคดาวน์ จังหวัดสมุทรสาครทั้งจังหวัด โดย…
- ห้ามออกนอกเคหะสถานช่วงเวลา 22.00 – 05.00 น.
- ห้ามคนต่างด้าวเดินทางข้ามจังหวัด
- คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ (แต่ต้องแจ้งปลายทางต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่) และหากมีความจำเป็นต้องเข้าพื้นที่ ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
4. ใครมีสิทธ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี?
มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์) ดังนี้
- เดินทางมาจากเขตติดโรค / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
- ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย / ผู้ป่วยยืนยัน
- เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
สอบถามเพิ่มเติม โทร 1330 : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
5. อาการที่เข้าข่ายโควิด-19 มีอาการอย่างไร?
ไอ, น้ำมูก, เจ็บคอ, หายใจเหนื่อยหอบ, จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
6. สามารถเข้ารับการตรวจรักษาโควิด-19 ได้ที่ไหน?
โรงพยาบาลตามสิทธิ์ (บัตรทอง ประกันสังคม ราชการ) หรือสอบถามข้อมูลสิทธิการรักษาเพิ่มเติมที่ สายด่วน สปสช. โทร 1330
ติดตามข้อมูลอัพเดทจากกระทรวงสาธารณสุขได้ที่ :
Facebook : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
Website : www.ddc.moph.go.th
7. สวมหน้ากากอนามัยให้ “เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ” ได้ไหม?
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “เด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้
ส่วนเด็กอายุมากกว่า 2 ปี สวมใส่หน้ากากได้ เพราะสามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง พ่อแม่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ”
รอบรู้ สู้โควิด-19 : โดยองค์การอนามัยโลก
1. โรคโควิด-19 คืออะไร?
โรคโควิด-19 คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด ไวรัส และโรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลย ก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019 ขณะนี้โรคโควิด 19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่ว ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก
2. อาการของโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง?
อาการทั่วไปของโรคโควิด-19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอ และอ่อนเพลีย อาการที่พบน้อยกว่าแต่อาจมีผลต่อผู้ป่วยบางรายคือปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนัก และค่อย ๆ เริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง
ผู้ป่วยส่วนมาก (80%) หายป่วยได้โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการหนัก และหายใจลำบาก ผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือมะเร็ง มีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถติดโรคโควิด-19 ได้ และอาจป่วยรุนแรง
คนทุกเพศทุกวัยที่มีอาการไข้ และ/หรือไอ ร่วมกับอาการหายใจลำบาก/ติดขัด เจ็บหน้าอก เสียงหาย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำ
- ซากเชื้อโควิด-19 คืออะไร มีโอกาสติดเชื้อมั้ย? พร้อมบทเรียนออนไลน์ Covid-19
- 9 วิธีดูแลปอด ให้แข็งแรงสุขภาพดี พร้อมสู้ภัยโควิด19
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดทั้งปี! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน
3. เด็กเล็กสวมใส่หน้ากากอนามัยได้หรือไม่?
เด็กควรเริ่มใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่อายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไป จึงจะปลอดภัย เพราะสามารถดึงหน้ากากออกจากใบหน้าได้ หากรู้สึกอึดอัด หรือปิดจมูก และปากมากเกินไป โดยควรสวมใส่หน้ากากผ้าที่เหมาะกับรูปหน้าทุกครั้งที่ออกไปพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรใส่หน้ากากแบบเฟซซิลด์ เพราะอาจอันตาย และเกิดการบาดเจ็บได้
สำคัญในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 2 ปี ไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะหายใจทางปากเองยังไม่ได้เหมือนผู้ใหญ่ เสี่ยงอันตรายต่อระบบปราสาทของทารก และเด็กได้ เพราะมีหลักฐานเกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ หากสวมใส่เป็นเวลานาน
4. เราจะสามารถติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้หรือไม่?
โรคโควิด-19 แพร่ทางละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยไอ หรือมีอาการอื่น เช่นไข้ หรืออ่อนเพลีย ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก มีอาการเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยที่ไอเล็กน้อย และไม่รู้สึกป่วยเลย
มีรายงานบางฉบับระบุว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเลยก็สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบกันว่ากรณีนี้เกิดมากน้อยเท่าใด องค์การอนามัยโลกกำลังทำการศีกษาวิจัยเรื่องการแพร่เชื้อ และจะได้มาเผยแพร่ข้อค้นพบในลำดับต่อไป
5. เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานแค่ไหน?
สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาบนพื้นผิวต่าง ๆ คือ สามารถทำความสะอาดได้อย่างง่ายดายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับงานบ้านทั่วไป งานศึกษาวิจัยระบุว่า เชื้อนี้อาจมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสเตนเลส และพลาสติกถึง 72 ชั่วโมง น้อยกว่า 4 ชั่วโมง บนทองแดง และน้อยกว่า 24 ชั่วโมงบนกล่องกระดาษแข็ง
เหมือนเช่นเคย เราควรทำความสะอาดมือ ด้วยการใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ เลี่ยงการสัมผัสตา ปากและจมูก
6. เราสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากอุจจาระของผู้ป่วยได้หรือไม่?
มีงานศึกษาวิจัยที่ระบุว่า อาจมีการพบไวรัสชนิดนี้ในอุจจาระได้ในบางกรณี แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านทางอุจจาระ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่า ไวรัสสามารถรอดชีวิตได้ในน้ำ หรือท่อระบายน้ำ
7. ยาปฏิชีวนะสามารถป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้ ยาปฏิชีวนะจะได้ผลดีในการรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น
โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้น ยาปฏิชีวนะจึงใช้ไม่ได้ผล ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกัน และรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ในโรงพยาบาลแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงควรใช้ยาปฏิชีวนะภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
8. เมื่อไรที่เราควรรับการตรวจหาเชื้อ?
หากเป็นไปได้ทุกคนที่มีอาการ หรือบุคคลที่ไม่มีอาการแต่เป็นบุคคลที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของท่าน
ในขณะที่คุณรอผลการตรวจหาเชื้อ คุณควรแยกกักจากผู้อื่น และรักษามาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ในบางพื้นที่ที่การตรวจอาจมีข้อจำกัด การตรวจหาเชื้อควรทำกับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ รวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ
รอบรู้ สู้โควิด-19 : โดย นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ
1. โควิด-19 ทำลายด้วยความร้อนได้ไหม?
อาหารทะเลสามารถบริโภคได้ถ้าปรุงสุก ความร้อนสามารถทำลายไวรัสได้อย่างแน่นอน
- โควิด-19 สามารถทำลายด้วยความร้อน 56 องศา นานครึ่งชั่วโมง
- ถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศา ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้
- ถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา ไวรัสจะถูกทำลายทันที
2. โควิด-19 กับอาหารทะเล
อาหารทะเลโดยมากจะต้องทำความเย็น หรือแช่แข็งเพื่อให้คงคุณภาพได้ดี ถ้าชาวประมง ผู้ขาย มีการติดเชื้อโควิด-19 โอกาสที่จะเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเล และไวรัสคงชีวิตอยู่ได้นาน จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะตรวจพบไวรัสในอาหารทะเลแช่เย็น เช่นการตรวจพบในปลาแซลมอน กุ้งนำเข้าในประเทศจีน
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคจึงไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบ หรือไม่สุก สิ่งที่จะต้องคำนึง คือการจับต้องกับอาหารทะเล ที่แช่เย็นมา จะต้องล้างมือให้สะอาด และชำระล้างอาหารทะเล โดยใช้น้ำสะอาดให้มีปริมาณมากพอ และจะต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่
ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงมือ และล้างถุงมือ หรือใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทุกครั้งต้องล้างมือก่อนจับต้องใบหน้า
3. โควิด-19 วัคซีนคือความหวังที่จะยุติการระบาด
ข้อมูลปัจจุบันการติดโรค หรือการสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม ต้องให้ได้อย่างน้อย 60% ของประชากร จึงจะยุติการระบาดของโรคได้ วัคซีนสร้างภูมิต้านทานแทนการติดโรคเป็นความหวังที่จะยุติการระบาดของโรค
โควิดวัคซีน จึงมีการเร่งรีบในการพัฒนาภายในไม่ถึง 1 ปี มีมากกว่า 13 ชนิด เข้าสู่ระยะที่ 3 การศึกษาในมนุษย์ และมี 4 ชนิดที่สรุปผลเบื้องต้นแล้ว ผลการรายงานเบื้องต้นจึงเป็นการศึกษาประสิทธิภาพระยะสั้น หลังให้วัคซีนไม่เกิน 3 เดือน
การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันระยะยาวเช่น 6 เดือนถึง 1 ปี การป้องกันโรคยิ่งนานขึ้น ประสิทธิภาพอาจน้อยลง หรือเท่าเดิมหรือมากกว่า อาการข้างเคียงวัคซีนจำเป็นต้องติดตาม ผลข้างเคียงระยะยาวเช่นเดียวกัน
การดำรงชีวิตในชีวิตวิถีใหม่ยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างมีระเบียบวินัย ความอดทน เห็นกับส่วนรวมหรือสังคม รวมทั้งการแบ่งปัน ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินต่อไป
4. โควิด-19 กับอากาศเย็น และสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อของโรค
เชื้อไวรัสจะชอบอากาศเย็น และอยู่ได้นานมากกว่าอากาศที่ร้อน สถานที่ปกปิด เช่น สถานบันเทิงต่าง ๆ จะเป็นแหล่งแพร่กระจายได้ง่ายว่าสถานที่อยู่โล่งแจ้ง การติดต่อของโควิด-19 จะพบได้ง่ายในบุคคลในบ้านเดียวกัน มากกว่าการติดในที่ทำงานถึงเกือบ 10 เท่า ผู้ที่มีอาการจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าผู้ไม่มีอาการ 3-4 เท่า
แบบประเมินความเสี่ยงโควิด-19 สำหรับประชาชนทั่วไป
แบบประเมินความเสี่ยงโควิด-19 สำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร —> http://bkkcovid19.bangkok.go.th
รายงานสถานการณ์ และทำแบบประเมินความเสี่ยงโควิด-19 สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทุกจังหวัด โดยกรมควบคุมโรค –> https://covid19.ddc.moph.go.th
อ้างอิง :
1. who.int
2. ddc.moph.go.th
3. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
4. ch3plus.com
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่