ความรัก คือความรู้สึกดีดี ที่เกิดขึ้นระหว่างคน 2 คน เมื่อได้มาพบเจอกัน… แต่เมื่อคบกันไปเรื่อย ๆ บางคู่ก็ต้องแยกจากกัน บางคู่ก็ต้องถอยห่างกันคนละก้าว เพราะ รู้สึกว่าไม่สามารถไปกันได้… แล้วเราจะทำให้ “รักแรกพบ” ไปสู่ “ความรักนิรันดร์” ได้อย่างไร? … วันนี้ GedGoodLife มี “8 เคล็ดลับ เพื่อรักที่ยั่งยืน” พร้อมข้อธรรมดีดี สำหรับผู้ครองเรือน โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาฝากทุกคนที่กำลังมีความรักอยู่ มาติดตามกันเลย!
8 เคล็ดลับ เพื่อรักที่ยั่งยืน
การจะเริ่มต้นสานสัมพันธ์ความรักกับใครสักคน แน่นอนว่าใครก็อยากให้เป็นความรักที่ยืนยาวตลอดไป แต่การจะทำให้ความรักราบรื่น ชื่นใจได้นั้น ก็ต้องมีการเริ่มต้นที่ดีด้วย…
1. รู้จักเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ต้น
ความรักย่อมมีช่วงโปรโมชั่น ด้วยการพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี ปกปิดนิสัยที่แท้จริงไว้ เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดี และมีความสุข แต่การสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ใช่ตัวตนของเราจริง ๆ ก็เหมือนการทำให้อีกฝ่ายหลงชอบในสิ่งที่ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ความจริงตั้งแต่ต้น
ฉะนั้น ถ้าหากอยากให้มีความรักยืนยาว ควรแสดงความเป็นตัวเองตั้งแต่ต้น และอย่าลืม! ทำความดีให้เสมอต้นเสมอปลายด้วยนะ
2. ไม่คาดหวังอีกฝ่ายจนเกินไป
เคยได้ยินไหมกับประโยคสุดคลาสสิคที่ว่า “ไม่คาดหวัง ก็ไม่ผิดหวัง” เพราะการคาดหวังให้คู่รักของตัวเองดีกว่าที่เป็น พอไม่ได้ดั่งใจก็จะทำให้เป็นทุกข์ และผิดหวัง เช่น
- ฝ่ายชายต้องการให้ผู้หญิงทำกับข้าว แต่ผู้หญิงทำไม่เป็น หรือยังไม่อยากทำ ก็อาจทะเลาะกันได้
- ฝ่ายหญิงต้องการให้ฝ่ายชายไปส่ง-ไปรับ ที่ทำงานทุกวัน แต่ฝ่ายชายไม่สะดวก ก็อาจมีปัญหากันได้
- และข้ออื่น ๆ อีก เช่น อยากให้เชียร์บอลทีมเดียวกัน เล่นเกมส์เดียวกัน อยากให้ไปทำบุญวัดนั้นวัดนี้ด้วยกัน แต่ต่างฝ่ายต่างเห็นต่าง ปัญหาพวกนี้ก็มีให้เห็นกันบ่อย ๆ
สรุปได้ว่า ไม่มีใครที่ชอบทำอะไรเหมือนกันไปสะหมด และไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ สามารถทำได้ทุกเรื่องตามที่อีกฝ่ายต้องการ ทางออกที่ดี คือ ควรจะยอมรับในตัวตนของกันและกัน พูดคุยกันว่า พอจะทำอะไรให้กันได้บ้าง จะดีกว่า
3. มีเวลาให้กันอยู่เสมอ
อีกข้อสำคัญที่ทำให้คู่รักต้องเลิกลากันไป ก็เพราะ ไม่มีเวลาให้กัน ต่างฝ่ายต่างทำงาน บางคนก็ต้องเดินทางไปอาศัยต่างประเทศนาน ทำให้แยกกันอยู่เป็นเดือน ๆ สุดท้ายก็อยู่กันไม่รอด ต้องเลิกลากันไป…
ฉะนั้น เมื่อจะคบกันแล้ว ก็ควรคุยกันในเรื่องของ “เวลา” ให้ดี เข้าใจว่า วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ต่างฝ่ายต่างทำงาน ก็พอเข้าใจกันได้… แต่เสาร์-อาทิตย์ ก็ควรจัดสรรเวลาอยู่ด้วยกันบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่เจอกันเลย ส่วนคู่ไหนที่อยู่บ้านเดียวกัน เมื่อกลับมาบ้าน ก็หากิจกรรมทำกันบ้าง เช่น ดูหนัง-ดูทีวี ด้วยกัน เล่นเกมส์ด้วยกัน หรือจะปฏิบัติธรรมด้วยกัน ก็จะเป็นศิริมงคลต่อกันมากขึ้น
4. มีความ “ซื่อสัตย์” ต่อกัน
ความซื่อสัตย์ คือคุณธรรมขั้นพื้นฐาน ทำให้ความรักดำรงต่อไปได้ด้วยความราบรื่น ยิ่งในปัจจุบันที่มีหลายสิ่งยั่วยุให้อีกฝ่ายนอกใจไปมีคนอื่น หรือมือที่ 3 เช่น โลกออนไลน์ที่เปิดกว้าง ทำให้รู้จักคนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น แอพฯ หาคู่ แอพฯ แชทต่าง ๆ และแม้กระทั่งการเล่นเกมส์ออนไลน์ ก็เป็นช่องทางนึงที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับมือที่ 3 ได้อย่างง่ายดาย…
ฉะนั้น ความซื่อสัตย์ จึงเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี และถือเป็นกฏเหล็กที่ห้ามละเมิดโดยเด็ดขาด! ถ้าเราหนักแน่น รักเดียวใจเดียว ไม่เจ้าชู้ ก็ไม่มีอะไรต้องปิดบังกัน ชีวิตคู่ก็ราบรื่น คบกันได้ยาวนาน
5. ให้อภัยซึ่งกันและกัน
คนเราเกิดมาบนสังคมที่แตกต่างกันออกไป และย่อมมีนิสัย การแสดงออก ความคิด และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จูนเข้าหากัน หากอีกฝ่ายทำให้ไม่พอใจ ทำในสิ่งที่ไม่ชอบพอกัน ก็ต้องรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
และหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้ตัวว่า ทำในสิ่งที่ผิดพลาดไป หรือพูดจาไม่ดีออกไป โมโห ฉุนเฉียวเกินไป ก็ควรรีบขอโทษ และปรับปรุงตัวใหม่ เพื่อให้รักเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น
6. มีคำหวาน ๆ บอกรักกันเสมอ
รู้จักบอกรักแก่กันเสมอ หรือจะลองหาแคปชั่นหวาน ๆ ตามโลกออนไลน์ มาใช้ให้ถูกช่วงเวลา ก็จะสร้างรอยยิ้มให้แก่กันและกันได้มากทีเดียว บางคู่ก่อนแต่งงาน บอกรักกันเสมอ แต่พอหลังแต่งงาน เริ่มกลับไม่บอกรักกันเลย ทำให้ชีวิตคู่ดูเหี่ยวเฉา ไม่หวานฉ่ำเหมือนที่เคยเป็น
เราหมั่นเติมน้ำมันตะเกียง เพื่อไม่ให้ไฟดับมอดลงไปฉันใด การบอกรักบ่อย ๆ ก็เปรียบเสมือนเราเติมเต็มความรักให้สุขสว่างอยู่เสมอ ฉันนั้น…
7. แสดงความห่วงใย ใส่ใจกันอยู่เสมอ
รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา คอยดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ไม่ละเลยหน้าที่ ที่ควรทำให้แก่กัน เป็นกำลังใจให้แก่กันอยู่เสมอ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ร่วมกันคิดร่วมกันสร้างครอบครัวให้มีความสุข
8. มีศีลเสมอกัน
คนที่จะเป็นเนื้อคู่กันได้ พระท่านบอกว่าต้องมีศีลเสมอกัน ยกตัวอย่างเช่น มีศรัทธาเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ทั้งนี้ชีวิตคู่ที่ดี ก็ควรหมั่นชวนกันไปทำบุญ เสริมศิริมงคล ให้ชีวิตคู่รุ่งเรือง พบแสงสว่างที่ปลายทางไปด้วยกัน
ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน 4 ประการ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่า “คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ จะเจริญมั่นคงเมื่อมีคุณธรรมรองรับเป็นมาตรฐาน” การจะแสดงออกภายนอกในทางที่ดีงาม ย่อมต้องอาศัยมีคุณธรรมต่าง ๆ เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ ที่จะช่วยให้คงรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้ไว้ได้มั่นคง ยั่งยืน และด้วยความจริงใจ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ครองเรือนจึงต้องมีคุณธรรมสำหรับรักษาความสัมพันธ์อันดีนี้ไว้เป็นหลักในใจที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” หรือ “ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน 4 ประการ” คือ
1. สัจจะ – ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจ และไมตรีจิตสนิทต่อกัน
2. ทมะ – คือการรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจ ระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน
3. ขันติ – ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนัก และความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน
4. จาคะ – ความเสียสละ ความเผื่อแผ่แบ่งปัน ตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ชีวิตบุคคลที่จะมีความสุข จะต้องรู้จักความเป็นผู้ให้ด้วย มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว
จะเป็นคู่สร้างคู่สม เมื่อมีสมธรรม 4 ประการ
สมธรรม 4 ประการนี้ เป็นฐานรองรับชีวิตคู่ครองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าฆราวาสธรรม 4 อย่าง ที่กล่าวมาแล้ว เพราะแสดงถึงความมีคุณสมบัติสมกัน และความมีลักษณะนิสัยสม่ำเสมอกันของคู่ครอง ซึ่งจะทำให้คู่สมรสทั้งสองสมชีพหรือสมชีวี คือ มีชีวิตที่สมหรือเสมอกัน สมธรรม 4 ประการนั้น คือ
1. สมศรัทธา (to be matched in faith)
สมศรัทธา มีศรัทธาสม หรือเสมอกัน ศรัทธานั้น หมายถึงความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือ ความใฝ่นิยม เช่น ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และความใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดถือเข้าใจว่าเป็นความดีงามต่าง ๆ
ความมีศรัทธาสมกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญเบื้องแรกที่จะทำให้ชีวิตครองเรือนกลมกลืนสนิท สนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังชักจูงใจในการดำเนินชีวิต และกระทำกิจการต่าง ๆ
2. สมศีลา (to be matched in moral)
มีศีล คือความประพฤติสม หรือเสมอกัน คือ มีความประพฤติที่เข้ากันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจ ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน
3. สมจาคา (to be matched in generosity)
มีน้ำใจ เอื้อเฝื้อ เผื่อแผ่เสียสละ สมหรือเสมอกัน ในชีวิตของบุคคลที่ต้องติดต่อ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เริ่มแต่ญาติมิตรสหาย เป็นต้นไปนั้น ธรรมข้อสำคัญที่จะต้องแสดงออกอยู่เสมอ ก็คือ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ความมีใจกว้างขวาง การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน
4. สมปัญญา (to be matched in wisdom)
มีปัญญาสม หรือเสมอกัน ปัญญาหมายถึงความรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักดีชั่ว รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ความรู้จักคิด ความสามารถในการใช้ความคิด และเข้าใจในเหตุผล
ความมีปัญญาสมกันมิได้หมายความว่าคู่ครองทั้งสองฝ่าย จะต้องได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการ ทรง
ความรู้เชี่ยวชาญเหมือน ๆ กัน แต่หมายถึงการมีความคิด การรู้จักรับฟัง และเข้าใจในเหตุผลของ
กันและกัน และการช่วยเป็นคู่คิดของกัน และกันได้อย่างที่กล่าวกันง่าย ๆ ว่าพูดกันรู้เรื่อง
พระบรมศาสดาตรัสแสดงว่า สมธรรม 4 ประการนี้ จะเป็นเหตุให้คู่สามีภรรยาได้พบกันทั้งชาตินี้ และชาติหน้าตามความประสงค์ สมดังพุทธพจน์ที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า
“อากังเขยยุงเจ คะหะปะตะโย อุโภ ชานิปะตะโย” แปลความว่า ถ้าคู่สามีภรรยาหวังจะได้พบกันทั้งชาตินี้ และชาติหน้าแล้วไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาสมกัน มีศีลสมกัน มีจาคะสมกัน มีปัญญาสมกัน ดังนี้
อ้างอิง :
ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน : watnyanaves.net