มีคนไข้หลายคนที่ป่วยเป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไมเกรน เป็นต้น ไปหาหมอด้วยอาการ ไอเรื้อรัง เมื่อรับยาแก้ไอมากินแล้วก็ไม่หายจากอาการไอ ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่นานแรมเดือน โดยไม่รู้สาเหตุว่า อาการไอที่เกิดขึ้นนั้นมาจากผลข้างเคียงของยาลดความดันกลุ่ม ACEI นั่นเอง งั้นเรามาไขข้อสงสัยกันเลยดีกว่าว่า ยาลดความดันทำให้ไอเรื้อรัง ได้อย่างไร…
ยาลดความดันกลุ่ม ACEI คืออะไร?
ยาลดความดัน ACE inhibitor (เอซีอี อินฮิบิเตอร์ – ACEI) เป็นยาขยายหลอดเลือด และลดการทำงานของหัวใจ เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษา ป้องกัน และบรรเทาภาวะ หรือโรคหลายชนิด เช่นความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังบางชนิด ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหนังแข็ง ไมเกรน เป็นต้น
โดยยานี้ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนแองจีโอเทนซิน 2 (Angiotensin II) ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ตีบตัน จนมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นนั่นเอง เมื่อปริมาณ Angiotensin II ในร่างกายลดลง ก็ทำให้หลอดเลือดหดตัวน้อยลง เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจทำงานน้อยลง ความดันโลหิตก็ลดลงเช่นกัน
ยากลุ่มนี้ได้แก่ Enalapril Captopril Ramipril Benazepril (ให้สังเกตว่ายากลุ่มนี้ลงท้ายด้วย pril ทุกตัว) เป็นยากลุ่มที่ลดความดันได้ดี แพทย์นิยมจ่ายให้ผู้ป่วย และมีราคาที่ไม่แพง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่ม ACEI
- ไอแห้ง ๆ
- อ่อนเพลีย
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- สูญเสียการรับรสอาหาร
- ทำให้เกิดการสะสมโพแทสเซียมในไต
- มีอาการบวมที่คอ ใบหน้า และลิ้น
- อาเจียน ท้องเสีย อย่างรุนแรง
- ชาที่มือ เท้า และริมฝีปาก
จะเห็นได้ว่ายาลดความดันในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากทีเดียว จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น และหากประสบอาการแพ้ยาดังกล่าวมา ควรรีบกลับไปพบแพทย์ท่านเดิม เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนกลุ่มยา
ยาลดความดันทำให้ไอเรื้อรัง ได้อย่างไร?
ผู้ป่วยที่ใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่ แล้วมีอาการไอเรื้อรัง ไอแห้ง ๆ (ไม่มีเสมหะ) ไอกลางคืน คันคอ ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่า อาการไอมาจากยาลดความดันโลหิต ที่ชื่อ Enalapril (อีนาลาพริล)
เพราะยาตัวนี้มีผลทำให้สาร Bradykinin (แบรดดีไคนิน) เพิ่มสูงขึ้น โดยสาร Bradykinin นั้นมีฤทธิ์ในการกระตุ้นศูนย์เกิดการไอ จึงทำให้มีอาการไอแห้ง ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งอาการไอแห้งนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือนเลยทีเดียว
หากผู้ป่วยไอมากจนทนไม่ได้ ให้เข้าพบแพทย์ เพื่อแจ้งถึงอาการไอที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา Enalapril อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันกลุ่มอื่นทดแทน
กล่าวโดยสรุปคือ การหยุดยาลดความดันในกลุ่ม ACEI เช่น Enalapril เป็นหนทางเดียวในการรักษาภาวะไอแห้งที่เป็นอาการข้างเคียงจากยาได้ แต่… ไม่ควรหยุดใช้ยาลดความดันเอง เพราะ มีผลต่อโรคได้ ควรพบแพทย์เท่านั้น
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง
นอกจากผลข้างเคียงของ ยาลดความดันทำให้ไอเรื้อรัง ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ไอเรื้อรังได้อีกมากมาย เช่น
- โรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อวัณโรค ทำให้น้ำหนักลด มีไข้ได้
- ภูมิแพ้ เช่น ภูมิแพ้จมูกอักเสบ หอบหืด (เป็นสาเหตุที่เจอได้บ่อย)
- กรดไหลย้อน
- สูบบุหรี่
- น้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ
- ไซนัสอักเสบ เรื้อรัง
- หลอดลมอักเสบ
- โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมโป่งพอง
ควรรีบพบแพทย์ หากมีอาการไอเรื้อรังดังต่อไปนี้
ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่ ไอมีเสมหะ หรือมีเลือดปน และอาการดังต่อไปนี้ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ
- เสียงแหบ
- เบื่ออาหารน้ำหนักลด
- เหนื่อยเฉพาะกลางคืน หรือขณะพัก
- มีประวัติปอดอักเสบบ่อย ๆ
การป้องกันอาการไอเรื้อรัง
- งดสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เพื่อป้องกันการติดโรค
- ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการทานผักผลไม้ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่อาจเป็นโรคหลอดลมอักเสบ หรือปอดปวม
อ้างอิง :
1. www.pobpad.com 1 / 2
2. cities.trueid.net
3. Rational Drug Use
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife