“กินไก่ ทำให้เป็น เกาต์” ประโยคที่ถูกบอกต่อ ๆ กันจนคุ้นหู บางคนถึงกับเลิกกินไก่ไปเลย เพราะ กลัวจะเป็นเกาต์! ส่วนบางคนก็บอกว่า “กินไก่ไม่ได้ทำให้เกาต์” และ “เป็นเกาต์ก็กินไก่ได้” เริ่มสับสนแล้วสิ ว่าเราควรเชื่อใครดีนะ? วันนี้ GedGoodLife มาไขข้อข้องใจให้แล้วว่า “กินไก่ ทำให้เป็น เกาต์” จะเป็นเรื่องจริง หรือแค่มั่วนิ่มกันแน่ มาดูคำตอบกันเลย
ทำความรู้จักกับ โรคเกาต์
เกาต์ (Gout) คือ โรคปวดตามข้อ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบ โดยโรคนี้มีโอกาสเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 9 – 10 เท่า เลยทีเดียว! และจัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ในเพศหญิงจะพบมากในวัยหมดประจำเดือน หรืออายุ 50 ปีขึ้นไป
ถึงแม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงอะไร สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วย ถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษา ก็จะเกิดการสะสมของกรดยูริก ทำให้ข้อที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เกิดเป็นปุ่มก้อนใหญ่น่าเกลียดขึ้นมาตามร่างกาย และท้ายสุดอาจพิการทางข้อ หรือไตวายเรื้อรังได้เลยทีเดียว
อาการของโรคเกาต์ คือ มีปุ่มก้อนขึ้นตามข้อต่าง ๆ ที่มีอาการอักเสบ เช่น ที่ตาตุ่มของเท้า หัวแม่เท้า ข้อศอก เข่า ข้อมือ เป็นต้น ปุ่มเหล่านี้ คือก้อนผลึกยูเรท (urate crystals) ที่สะสมมากขึ้น ๆ บางครั้งจะแตกออกเป็นสารขาว ๆ คล้ายยาสีฟันไหลออกมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
โรคเกาต์ มีสาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุของโรคเกาต์ เกิดจากการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate; MSU) ในน้ำไขข้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพราะ มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (มีค่ากรดยูริกมากกว่า 6 – 7 มิลลิกรัม / เดซิลิตร) แล้วมีอาการปวดบวมที่ข้อ หรือพบก้อนโทฟัส (tophus) ร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบขึ้น
ปัจจัยกระตุ้นทำให้กรดยูริกในเลือดสูง ได้แก่
- การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส
- อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) โรคสะเก็ดเงิน โรคทาลัสซีเมีย
- อาการเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกขึ้นมามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ลดความสามารถในการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต
- การดื่มสารที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
- การใช้ยาบางชนิด ที่ส่งผลให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น แอสไพริน aspirin, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide, ยารักษาโรคพาร์กินสัน levodopa, ยารักษาวัณโรค, ยากดภูมิคุ้มกัน cyclosporin
อย่างไรก็ตาม ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นเก๊าต์เสมอไป แต่เป็นแค่หนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยเท่านั้น
“กินไก่ ทำให้เป็น เกาต์” จริงหรือมั่วนิ่ม!?
คนไทยเรามักจะพูดกันต่อ ๆ กันว่า “กินไก่ทำให้เป็นเกาต์” ไก่จึงตกเป็นผู้ต้องหาของโรคนี้ทันที และทำให้หลาย ๆ คน กังวลไม่กล้ากินไก่ไปเลย แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร เรามาไขข้อสงสัยนี้กันเลย
อาหารจำพวกโปรตีน หรือพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดหน่อไม้ฝรั่ง สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ หากรับประทานมาก ๆ จะทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นเพียง 1-2 มก./ดล. เท่านั้น และร่างกายคนเรายังรับกรดยูริกมาจากอาหารอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ถ้ามีสุขภาพที่แข็งแรงดี ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกรดยูริกเท่าไหร่ เพราะ ร่างกายสามารถจัดการกับกรดนี้ได้ดีอยู่แล้ว
ดังนั้น การกินไก่ หรือสัตว์ปีกอย่างเช่น เป็ด ห่าน จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกาต์แต่อย่างใด แต่การกินไก่ หรือสัตว์ปีก จะมีผลเฉพาะกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์โดยตรง ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูงนั่นเอง
และหากจะเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ใด ๆ ก็ตาม ควรเลือกเนื้อส่วนที่ไขมันน้อยถึงปานกลาง เช่น อก สะโพกลอกหนัง เป็นต้น เพราะมีกรดยูริกน้อยนั่นเอง
ทั้งนี้โปรตีนจากอกไก่ มีราคาถูก และยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมากอีกด้วย สังเกตได้ว่า ผู้ที่ออกกำลังกาย เล่นเวท เพาะกล้ามเนื้อ เพาะกาย มักจะเน้นกินอกไก่เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงนั่นเอง
สรุปได้ว่า การกินไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ แต่ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น ไก่ สัตว์ปีก และอาหารแสลงอื่น ๆ เพื่อไม่ให้กรดยูริกขึ้นสูงนั่นเอง
ผู้ป่วยโรคเกาต์ หรือมีกรดยูริกสูงควรลดอาหารอะไร?
ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไปพบแพทย์ตามนัด ดื่มน้ำมาก ๆ และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูง (Purine) เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย
1) กลุ่มอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ตับอ่อน, ไส้, ม้าม, หัวใจ, สมอง, กึ๋น, เซ่งจี๊
- น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์
- ปลาดุก, กุ้ง, หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน
- ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา
- ชะอม, กระถิน, เห็ด
- ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
- สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน
- น้ำสะกัดเนื้อ, ซุปก้อน
2) กลุ่มอาหารที่มีพิวรีนปานกลาง ได้แก่
- เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว
- ปลาทุกชนิด (ยกเว้น ปลาดุก ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน) และ อาหารทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู
- ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา
- ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
- ข้าวโอ๊ต
- เบียร์ เหล้าชนิดต่างๆ เหล้าองุ่น ไวน์ (ทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)
3) อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ มีพิวรีนน้อย ได้แก่
- ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต
- ถั่วงอก, คะน้า
- ผลไม้ชนิดต่าง ๆ
- ไข่
- นมสด, เนย และเนยเทียม
- ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
- ไขมันจากพืช และสัตว์
สุดท้ายนี้ ผู้มีเป็นโรคเกาต์ ควรสังเกตตัวเองว่า อาหารชนิดใดที่ทานแล้วทำให้อาการเรากำเริบ (เรียกว่า อาหารแสลง) ก็ให้ลดอาหารชนิดนั้น ๆ ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นเกาต์ สามารถกินไก่ได้เป็นปกติ ไม่ต้องกังวลเรื่องโรคเกาต์แต่อย่างใด แต่จำไว้สิ่งหนึ่งว่า อาหารทุกอย่าง ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่กินเยอะจนเกินไป นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง
อ้างอิง :
- www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess
- www.siphhospital.com
- www.disthai.com
- www.bangkokhealth.com
- www.thonburihospital.com
- oryor.com
- www.si.mahidol.ac.th
- pantip.com
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี