ผื่นกุหลาบ หรือที่บางครั้งก็เรียกว่า โรคขุยดอกกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายอะไร แต่กลับเป็นโรคที่สร้างความอับอาย สร้างปมด้อยให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้พอสมควร เพราะ จะเกิดผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ไม่เป็นที่น่ามองนั่นเอง มาทำความรู้จักกับโรค ผื่นกุหลาบ นี้กันเลยดีกว่า ว่าจะมีสาเหตุ อาการ วิธีรักษา อย่างไรบ้าง
ผื่นกุหลาบ คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร?
ผื่นกุหลาบ Pityriasis rosea (PR) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะ และมีอาการเฉียบพลัน เป็นโรคที่ไม่อันตราย และไม่ทำให้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายจากโรคนี้ได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และเมื่อเป็นแล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก (หรือโอกาสเกิดขึ้นซ้ำค่อนข้างน้อย)
ผื่นกุหลาบเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบใน 0.3-3% ของคนทั่วไป โดยพบมากในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ อาจพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย และพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่น่าจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัส และการใช้ยาบางประเภท ก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นกุหลาบได้ เช่น แอสไพริน Barbiturates, Bismuth, Captopril, Clonidine, D-penicillamine, Ketotifen, Isotretinoin เป็นต้น โดยโรค ผื่นกุหลาบ ที่เกิดจากยากระตุ้น จะหายได้ช้ากว่าผื่นที่ไม่ได้เกิดจากยากระตุ้น
อาการของโรคผื่นกุหลาบ
1. มีผื่นขึ้นตามตัว โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี และมักไม่มีอาการไข้ แต่ในบางรายก็อาจพบอาการนำก่อนมีผื่นขึ้น ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ แต่พบได้น้อยมาก
2. ในระยะแรกเริ่ม จะมีผื่นอันแรกเกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ก่อนที่จะมีผื่นขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นตามมาในภายหลัง โดยผื่นปฐมภูมิ มักมีจำนวนเพียง 1 ผืน มีขนาดประมาณ 2-6 เซนติเมตร เป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือวงกลม ตรงกลางของผื่นมีลักษณะย่น มีสีชมพู สีส้ม หรือสีเนื้อปลาแซลมอน ส่วนบริเวณรอบนอกของผื่น จะเป็นสีแดงเข้ม เห็นขอบผื่นชัดเจน ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะแยกจากกันด้วยขุยหรือเกล็ดบางๆ ที่ขอบของผื่น มักเกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณลำตัว (หน้าอก ต้นคอ) แต่ก็พบขึ้นที่หลัง คอ แขน หรือขาได้เช่นกัน
3. ต่อมาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีผื่นลักษณะเดียวกันที่เรียกว่า “ผื่นทุติยภูมิ” แต่มีขนาดเล็กกว่า ค่อย ๆ ทยอยขึ้นตามมา โดยผื่นจะขึ้นหมดในช่วง 2 สัปดาห์แรก และเป็นอยู่นานประมาณ 2-6 สัปดาห์ ก่อนจะค่อย ๆ จางจนหมดไปในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย
ผื่นทุติยภูมิมักขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกายเท่า ๆ กันตามลำตัว และส่วนที่ติดกับลำตัว คือ ลำคอ ต้นแขน ต้นขา ท้อง หน้าอก และหลัง ผื่นเป็นรูปวงรี มักจะขึ้นเรียงขนานกันไปตามแนวลายเส้นของผิวหนัง มีลักษณะคล้ายรูปตัว T
4. ผื่นมักจะหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางราย อาจมีผื่นอยู่นานถึง 3-4 เดือนหรือนานกว่า ทำให้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “โรคผื่นร้อยวัน” เพราะผู้ป่วยจะหายเองได้โดยเฉลี่ยที่ 3 เดือน หรือภายใน 100 วัน
ผลข้างเคียงของโรคผื่นกุหลาบ
นอกจากอาการหลักตามที่กล่าวไปแล้ว ผื่นกุหลาบ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น
- โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคัน และบางส่วนอาจมีอาการคันรุนแรงมาก
- ในบางราย เมื่อผื่นค่อย ๆ หายไป ผิวหนังตรงรอยผื่นอาจมีสีดำคล้ำ คล้ายกับเมื่อเป็นสิวได้ แต่รอยดำคล้ำจะค่อย ๆ จางลงและหายไปเอง โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็นแต่อย่างใด
- เมื่อผื่นหาย อาจพบการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังเป็นรอยขาว หรือรอยคล้ำดำ และมักพบการเปลี่ยนสีผิวเป็นรอยดำคล้ำ ในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม
- ผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบ ที่มีผื่นขึ้นนานกว่า 3 เดือน อาจเป็นโรค Pityriasis Lichenoides Chronica (PLC)
- มีรายงานการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผื่นกุหลาบ โดยเฉพาะการเกิดผื่นกุหลาบในขณะที่อายุครรภ์ไม่เกิน 15 สัปดาห์
- ผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบ มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ โรคเซ็บเดิร์ม โรคสิว และรังแค สูงกว่าคนทั่วไป และมักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้นในผู้ที่มีความเครียดสูง
- ทำให้เกิดความกังวลในภาพลักษณ์จากการมีผื่นที่ผิวหนัง
วิธีรักษาผื่นกุหลาบ
โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ โดยแพทย์จะให้การรักษาตามอาการไปจนกว่าจะหายเอง โดยผู้ป่วย สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้น ตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยทำให้ผื่นหายเร็วยิ่งขึ้นได้
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง และโรคมีอาการกำเริบ เช่น หลีกเลี่ยงการถูกน้ำ มีเหงื่อออก และสัมผัสสบู่ยาหรือสบู่หอม ควรใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เด็ก สบู่เหลว ไปก่อนระหว่างที่ยังมีอาการ
2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น หรือน้ำร้อนจัด เพราะสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อขึ้นได้
3. พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
4. ตากแดดทุกวันในช่วงเวลา 10 -14.00 น. วันละ 3-5 นาที เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว แสงแดดจะมีรังสี UVB ในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยในการรักษาโรคผื่นกุหลาบอย่างได้ผลดี
5. ผื่นกุหลาบ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ว่าจะทั้งจากการสัมผัส กิน ดื่ม หรือหายใจร่วมกัน ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องแยกตัวออกจากผู้อื่น และไม่จำเป็นต้องให้หยุดเรียน หรือไปทำงาน แม้ว่าผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นกระจายตามตัวมาก
6. ในรายที่เป็นไม่มาก เช่น มีอาการคันเพียงเล็กน้อย อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา และรอให้ผื่นหายเองภายใน 2-6 สัปดาห์ได้
7. ทานยาแก้แพ้ ในกลุ่ม antihistamines เช่น Loratadine (ลอราทาดีน) เป็นยาที่รักษาภูมิแพ้กลุ่มใหม่ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่ายาต้านอีสทามีน กลุ่มที่ ไม่ทําให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines) ออกฤทธิ์นานถึง 24 ชั่วโมง ใช้ลดอาการที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันตา บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ใช้รักษาลมพิษ และ โรคผิวหนัง ที่เกิดจากภูมิแพ้
7. ถ้ามีอาการคัน ให้ทายาแก้ผดผื่นคัน เช่น คาลาไมน์โลชั่น หรือ ซิงค์ออกไซด์ เป็นต้น
8. ในกรณีที่ผื่นขึ้นกระจายตัวมาก หรือขึ้นทั้งตัว อาจรักษาด้วยการกินยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลด์ กินยาต้านไวรัส ทายาสเตียรอยด์ หรือฉายรังสีอัลตราไวโอเลตบี เพื่อช่วยให้ผื่นกระจายตัวน้อยลง ช่วยลดอาการคัน และช่วยทำให้ผื่นหายเร็วยิ่งขึ้น
9. ในกรณีที่ได้ยารักษาตามอาการแล้ว แต่ยังมีอาการคันมาก ผื่นขึ้นกระจายตัวมากขึ้น หรือผื่นยังไม่ทุเลาลงภายใน 6 สัปดาห์ หรือมีความกังวลใจในอาการ ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้งก่อนนัด โดยแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตบี เป็นต้น
การป้องกันโรค ผื่นกุหลาบ
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคผื่นกุหลาบ แต่ผู้ที่เป็นโรคผื่นกุหลาบแล้ว มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก เนื่องจากโรคนี้เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเคยเป็นแล้วครั้งหนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ถาวร ทำให้มักไม่เป็นโรคนี้ซ้ำได้อีก แม้ว่าจะโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่ก็พบได้น้อยกว่า 3%
อ้างอิง : 1. www.hfocus.org 2. medthai.com 3. www.thairath.com