จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวล ภาครัฐมีนโยบายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค กำหนดแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อ การรักษาระยะห่างทางสังคม การล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง การสวมใส่หน้ากากอนามัย การไอ จาม ที่ถูกวิธี การดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ส่งผลให้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจลดต่ำลง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอากาศประเทศไทยในช่วงเวลาปัจจุบันเปลี่ยนแปลงบ่อยตลอดทั้งปี นอกจากจะมีช่วงเวลาที่ฝนตก ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการไม่สบายได้แล้ว ช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด อุณหภูมิที่สูง ก็สามารถทำให้เกิดอาการไม่สบายได้เช่นกัน โดยอาจ ทำให้เกิด ไข้หวัดแดด หรือ Summer flu ได้
ไข้หวัดแดด (Summer Flu)
เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่มีปัจจัยทางด้านอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไข้หวัดแดด โดยร่างกายจะสะสมความร้อนเอาไว้ภายใน จนทำให้เกิดอาการป่วย โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้าออกระหว่างห้องแอร์ที่เย็นฉ่ำกับภายนอกที่อากาศร้อนจัดบ่อยครั้ง ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดแดดได้ง่าย เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดแดดได้มากกว่าคนปกติ คือ
- ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ต้องเข้าออกระหว่างห้องที่มีอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศ กับภายนอกที่มีอากาศร้อน
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีความแออัดเป็นเวลานาน
- เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่กำลังป่วย
ในช่วงเวลาปกติ อุณหภูมิร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส แต่หากเจอสภาพอากาศที่ร้อนมาก ๆ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้นไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเพลียแดด รู้สึกเหมือนเป็นไข้รุม ๆ ร่วมกับอาการเฉพาะของไข้หวัดแดด คือ
- ตัวร้อน ไข้รุม
- ปวดศีรษะ มึนศีรษะ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ตาแดงหรือมีการปวดแสบที่กระบอกตา
- ริมฝีปากแห้ง คอแห้ง
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- นอนไม่หลับ
- ขับถ่ายไม่เป็นปกติ
หวัดแดด กับ หวัดธรรมดา ต่างกันตรงไหน?
หากอยากรู้ว่า ตนเองป่วย เป็นหวัดธรรมดา หรือว่าเป็นไข้หวัดแดด กันแน่ ก็สามารถสังเกตอาการเด่นๆ เพื่อแยกโรคได้ โดย…
ไข้หวัดธรรมดา – มีไข้ ปวดศีรษะ เป็นหวัด เป็นหวัดปวดหัว คัดจมูกมาก อ่อนเพลีย และ มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล มีเสมหะร่วมด้วย
ไข้หวัดแดด – จะเกิดจากร่างกายสะสมความร้อนเอาไว้มาก จนระบายออกไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ไม่ค่อยคัดจมูก มีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใสเล็กน้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึกขมปาก คอแห้ง แสบคอแทน
เนื่องจากเชื้อที่ทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดแดด คือเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัด แนวทางการรักษา และดูแลตนเองจึงคล้ายกับไข้หวัด โดยอาจใช้ยาบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก และยาแก้คัดจมูก ซึ่งอาจพิจารณาการใช้ยาสูตรผสมเพื่อความสะดวกในการรับประทาน ที่ไม่ต้องรับประทานยาจำนวนหลายเม็ดในแต่ละครั้ง
ยาสูตรผสมในปัจจุบัน มักประกอบด้วยยาจำนวน 2-3 ชนิดใน 1 เม็ด ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้, ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก และอาจผสมยาแก้คัดจมูกในสูตรยาด้วย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. ยาสูตรผสม ชนิดที่มีตัวยา 2 ชนิด ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
- ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (DECOLGEN) สำหรับบรรเทาอาการแพ้และช่วยลดน้ำมูก โดยยาชนิดนี้ ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย สามารถโฆษณา และซื้อขายได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยผู้ใช้สามารถตัดสินใจซื้อได้ด้วยตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เหมาะกับผู้เป็นไข้หวัดที่มีอาการแพ้ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวด น้ำมูกไหล จาม
ขนาดรับประทานสำหรับยากลุ่มนี้คือ
- ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
- เด็กอายุ 7-12 ปี รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ควรใช้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องยังไม่มีข้อมูลในการใช้ยาในเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี
ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย คือ อาการง่วงนอน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเรียน และการทำงาน จึงอาจเปลี่ยนชนิดการใช้ยาเป็นยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ง่วงนอนในช่วงเวลากลางวัน และใช้ยาสูตรผสมในเวลากลางคืนแทน
2. ยาสูตรผสมที่มีตัวยา 3 ชนิด ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
- ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการแพ้ และช่วยลดน้ำมูก เช่นเดียวกับยาสูตรแรก
- โดยจะเพิ่มตัวยา ฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl) ปริมาณ 10 มิลลิกรัม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ดีคอลเจน พริน ชนิดเม็ด (DECOLGEN PRIN TABLET) สรรพคุณเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก ยาสูตรนี้ จะถือเป็นยาอันตราย ไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้ และสามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น เหมาะกับผู้ที่เป็นไข้หวัดที่มีอาการคัดจมูกร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวด น้ำมูกไหล จาม ร่วมกับอาการคัดจมูก
ขนาดรับประทานสำหรับยากลุ่มนี้ คือ
- ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
3. ยาสูตรผสมที่มีตัวยา 3 ชนิด โดยมีสูตรแตกต่างจากสูตรที่สอง คือ
- ตัวยาแก้คัดจมูก จะเป็นตัวยาซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Pseudoephredrine HCl) ปริมาณ 30 มิลลิกรัม
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
- ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการแพ้ และช่วยลดน้ำมูกเช่นเดียวกันกับสูตรที่สอง
โดยยาชนิดนี้จะถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งสามารถใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาล และสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น จึงไม่สามารถหาซื้อยาสูตรนี้ในร้านขายยาแผนปัจจุบันได้
สำหรับขนาดการรับประทานยาทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ควรใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาสูตรผสม ได้แก่
1. ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยา หรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ ควรระมัดระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก) และหญิงให้นมบุตร ซึ่งการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยห้ามหาซื้อยามารับประทานด้วยตัวเอง
2. ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็ก และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี การใช้ยาจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากเด็ก และผู้สูงอายุจะมีการตอบสนองต่อยาที่ไวมากขึ้น ทำให้อาจจะมีอาการง่วงนอน วิงเวียน ประสาทหลอน ความดันโลหิตต่ำ นอนไม่หลับ ปากแห้ง ปัสสาวะคั่ง และบางรายอาจมีอาการชักได้
3. ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน สับสน ปากแห้ง ตาพร่า เสมหะเหนียวข้น ปัสสาวะขัด และเม็ดเลือดผิดปกติได้ หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยง หรือเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง โดยหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อการเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง และเหมาะสม
การปฏิบัติตนเมื่อเป็น ไข้หวัดแดด
- ควรลดอุณหภูมิร่างกายโดยการอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก
- ใช้ผ้าเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด และความร้อนโดยตรงเป็นเวลานาน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เนื้อผ้าไม่หนาเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี
- อย่าหลบร้อนโดยการเข้าห้องแอร์เย็นในทันที เพราะจะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน
- ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนการรับประทานอาหาร
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ซึ่งโดยปรกติแล้ว อาการไข้หวัดแดดจะใช้เวลาในการรักษา และฟื้นฟูร่างกายไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากเชื้อโรคสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นในสภาวะอากาศที่ร้อนชื้น
ถึงแม้มาตราการต่าง ๆ ในช่วงเวลาปัจจุบันสำหรับโรค COVID-19 (โควิด-19) ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม จะช่วยให้โรคต่าง ๆที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจลดน้อยลงไปด้วย
แต่อย่าลืมโรค ไข้หวัดแดด ที่มักจะมาพร้อมกับปัจจัยทางด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย จนทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยจะมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว คอแห้ง แสบคอ และอาจมีน้ำมูกใสร่วมด้วย
ในด้านการรักษา อาจจะเลือกบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยยาเม็ดสูตรผสม เพื่อความสะดวกในแง่ของการไม่ต้องรับประทานยาจำนวนหลายเม็ดในคราวเดียวกัน แต่มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ง่วงนอน จึงควรระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยป้องกันและรักษาอาการที่เกิดจากไข้หวัดแดด