ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกกำลังเกิดวิกฤตโรคระบาด Covid-19 เศรษฐกิจย่ำแย่ขั้นสุด! ข้าวยากหมากแพง ประชาชนตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ บางคนหมดตัว บางคนคิดสั้น บางคนร่ำรวยแต่หาสุขแท้จริงไม่ได้! แล้วเราชาวไทยจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร จะยึดหลักธรรมอันใดเป็นที่พึ่ง วันนี้GedGoodLife ขออ้างอิงถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้าเนื่องในวันวิสาขบูชา ว่าด้วยเรื่อง “บารมี 10” สร้างความสุขที่แท้จริง… จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกัน
บารมี 10 คืออะไร?
เชื่อว่าเมื่อพูดถึงบารมี หลายคนคงนึกถึงตำแหน่ง อำนาจ ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ยิ่งใหญ่ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีบารมี แต่ในทางศาสนาพุทธแล้ว คำว่าบารมีที่ถูกต้องตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้ คือ การใช้กำลังใจให้เต็มในความดี 10 ประการ
ฉะนั้น บารมี 10 ก็คือ กำลังใจ 10 ประการ ที่เราควรสร้างกำลังใจ ให้มันเต็มครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อความสุขของเราเอง
บารมี 10 ประการ มีอะไรบ้าง?
1. “ทานบารมี” เป็นการตัดความโลภ โดยจิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อสงเคราะห์ ไม่ใช่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย หรือฐานะ
2. “ศีลบารมี” ช่วยตัดความโกรธ การที่จิตของเราพร้อมในการรักษาศีล ศีลไม่บกพร่อง ไม่ทำศีลให้ขาด หรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีล
3. “เนกขัมมบารมี” เป็นการตัดอารมณ์ของกามคุณ คือการที่จิตพร้อมในการถือเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช
4. “ปัญญาบารมี” ช่วยตัดความโง่เขลา การที่จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหาร และ มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎสามัญลักษณะ ได้แก่ การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปกติ
5. “วิริยบารมี” มีไว้ตัดความขี้เกียจ การที่มีความเพียรทุกขณะ ในการที่จะทำความดีประหารกิเลส
6. “ขันติบารมี” ช่วยตัดความไม่รู้จักอดทน การที่มีความอดทน และ อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
7. “สัจจะบารมี” ตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก การที่ตั้งมั้นในคำพูดที่ได้รับปากไว้แล้ว เช่น ผู้ที่มีสัจจะบารมีเต็ม สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือตรงต่อเวลา ถ้าหากว่าใครนัดแล้วยังผิดนัด ไม่ตรงต่อเวลา ถือว่าสัจจะบารมียังพร่องอยู่
8. “อธิษฐานบารมี” อธิษฐาน คือการทรงกำลังไว้ให้สมบูรณ์ การที่ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ ตั้งใจว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร อธิษฐานบารมีถ้าเปรียบแล้ว ก็เหมือนกับการยิงปืนแล้วเล็งเป้า จะได้ถูกเป้าแน่นอน
9. “เมตตาบารมี” สร้างความเยือกเย็นของใจ การที่มีความเมตตา ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
10. “อุเบกขาบารมี” คือ การวางเฉยเข้าไว้ในเรื่องของกายเรา และอารมณ์ที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ
ทั้งนี้บารมีสามารถจัดได้เป็น 3 ชั้น คือ
บารมีต้น
บารมีต้นในขั้นเต็ม ท่านผู้นี้จะเก่งเฉพาะทาน กับ ศีล แต่การรักษาศีลของบารมีขั้นต้นจะไม่ถึงศีล 8 และจะยังไม่พร้อมในการเจริญพระกรรมฐาน กำลังใจไม่พอ อาจจะไม่ว่างพอหรือเวลาไม่มี
อุปบารมี
เป็นบารมีขั้นกลาง พร้อมที่ทรงฌานโลกีย์ ท่านพวกนี้จะพอใจการเจริญพระกรรมฐาน และทรงฌาน แต่ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา ยังไม่พร้อมที่จะไปและไม่พร้อมที่จะยินดีเรื่องพระนิพพาน พร้อมอยู่แค่ฌานสมาบัติ
ปรมัตถบารมี
ในอันดับแรกอาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนิพพาน พอสัมผัสวิปัสสนาญาณขั้นเล็กน้อย อาศัยบารมีเก่า ก็มีความต้องการพระนิพพาน จะไปได้หรือไม่ได้ในชาตินี้นั้นไม่สำคัญ เพราะการหวังนิพพานจริง ๆ ต้องหวังกันหลายชาติจนกว่าบารมีที่เป็นปรมัตถบารมีจะสมบูรณ์แบบ
จะสังเกตได้ว่า บารมีทั้ง 10 ประการนี้ เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกข้อ แต่วันนี้ GedGoodLife จะขอพูดถึงข้อที่ 2 คือ “ศีลบารมี” เป็นพิเศษเนื่องจากเป็นธรรมที่นำพาเราไปสู่ความสุขโดยแท้จริง ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
- สีเลนะ สุคติง ยันติ.. การรักษาศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุข สุขทั้งชาตินี้ สุขทั้งชาติหน้านะ
- สีเลนะ โภคสัมปทา.. ถ้ามีศีลชาตินี้ทรัพย์สมบัติก็ไม่ฝืดเคือง ชาติหน้าก็มีทรัพย์สมบัติมาก
- สีเลนะ นิพพุติง ยันติ.. ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานได้โดยง่าย
- “สุขํ ยาว ชรา สีลํ” – ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ที่ว่า “ศีล” นำสุขมาให้ตราบเท่าชรา เพราะเพราะศีลเป็นบทเริ่มต้นของการสร้างความดี และความงามให้เกิดขึ้นในจิตใจ ด้วยการฝึกควบคุมการกระทำทางกาย และวาจาให้เรียบร้อยอยู่เสมอ มีผลทำให้มีความสุขทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ หากฝึกตนให้รักษาศีลตลอดไปแล้ว ก็จะทำให้เรามีความสุขตราบจนชีวิตจะหาไม่
ศีล 5 คืออะไร และมีอะไรบ้าง?
ศีล คือการรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย เป็นหลักธรรมพื้นฐานเอาไว้ควบคุมการกระทำของคนให้อยู่ระเบียบแบบแผนที่ดีงามของสังคมโลก ผู้ที่รักษาศีลอยู่เสมอนั้น ย่อมพบเจอความสุขในชีวิต เพราะเป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ดังนั้นศีลจึงเป็นความดีที่ยอดเยี่ยมในโลก สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็น นิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า “สีลํ โลเก อนุตฺตรํ” – ศีล เป็นเยี่ยมในโลก
ศีล 5 ประการ มีดังนี้
1. ปาณาติปาตา เวรมณี – งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
2. อทินนาทานา เวรมณี – งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
3. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี – งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. มุสาวาทา เวรมณี – งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
5. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี – งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ประโยชน์และอานิสงส์ที่พึงเกิดแก่ผู้รักษาศีล 5 คือ
1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ร่างกายดี รูปร่างหน้าตาสวย ผู้ปฏิบัติเกิดจิตเมตตา เห็นอกเห็นใจ และชอบช่วยเหลือผู้อื่น
2. ทรัพย์สินไม่เสียหาย เพราะภัยธรรมชาติ และจากโจรผู้ร้าย ไม่ถูกโกงเงิน
3. คนที่อยู่ในปกครองว่าง่ายสอนง่าย พวกที่มีลูกดื้อหลานดื้อ เพราะพลาดศีลข้อที่ ๓
4. พูดอะไรใครก็เชื่อถือ เพราะเราพูดแต่ความจริง ไม่พูดโกหก
5. เมื่อไม่ดื่มเหล้า สติปัญญาก็เกิด ไม่เป็นโรคประสาท ใครที่ติดสุราอยู่ ถ้าเลิกได้ก็เกิดความสุขต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และบุคคลทั้งหลายที่อยู่ใกล้ชิด
วันวิสาขบูชา มีความสำคัญอย่างไร?
วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปุณฺณมีปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ
- การประสูติ
- ตรัสรู้
- และปรินิพพาน
โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย
อริยสัจ 4
คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
– ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือความยากจน เป็นต้น
– สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก “ตัณหา” อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
– นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้
– มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา
- ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
- จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
- ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
- ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
- จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัด และสถานที่ราชการ
- บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
อ้างอิง :
- https://www.facebook.com/175308146337513/photos/a.199767520558242/588070541727936/?type=3&theater
- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=23498
- https://www.facebook.com/ThakhanunMoralCommunity/posts/2687299364689175
- https://www.facebook.com/602134756594049/photos/a.604030383071153/1456067994534050/?type=1&theater
- https://www.facebook.com/groups/380866748706029/permalink/2501909059935110/
- http://www.larnbuddhism.com/grammathan/barame1.html
- https://th.wikipedia.org/wiki/วันวิสาขบูชา
- https://www.m-culture.go.th/chumphon/ewt_news.php?nid=907&filename=index
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี