“ยาอายุวัฒนะ” คำที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกถึงสุขภาพกายที่แข็งแรง มีชีวิตยืนยาว สามารถคืนความเป็นหนุ่มสาวให้กับเราอีกครั้ง หลายคนเสาะหายาอายุวัฒนะจากที่ต่าง ๆ ที่ไกลตัว แต่รู้ว่าหรือไม่ว่า ยาอายุวัฒนะ แท้ที่จริงไม่ได้อยู่ไหนไกลตัวเราเลย… งั้นมาดูกันดีกว่า 4 ยาอายุวัฒนะ ที่อยู่ใกล้ตัวเรา และไม่ต้องใช้เงินด้วย จะมีอะไรบ้าง
4 ยาอายุวัฒนะ ของดีใกล้ตัวไม่ต้องใช้เงิน มีอะไรบ้าง ?
1. น้ำ
น้ำถือเป็น 1 ในยาอายุวัฒนะที่สำคัญที่สุด โดยน้ำถือเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสรรพสัตว์ และพืชพรรณทั้งหลาย และรู้หรือไม่ว่า คนเรามีชีวิตอยู่โดยขาดน้ำได้ไม่เกิน 3 วัน! และร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยน้ำถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า น้ำนี่แหละ คือฮีโร่ที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ โดยปกติคนเราควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว / วัน และควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น ไม่ควรดื่มน้ำเย็น หรือน้ำที่ใส่น้ำแข็ง
ประโยชน์ของการดื่มน้ำนั้นมีมากมาย ดังนี้
- ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
- ทำให้คุณรู้สึกกระฉับกระเฉง
- ช่วยให้ผิวนุ่มแลดูอ่อนเยาว์ลง ชะลอความแก่
- ช่วยย่อยอาหาร
- บรรเทา อาการท้องผูก
- บรรเทา อาการเจ็บคอ
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ปรับสมดุลในร่างกาย
- น้ำช่วยให้สมองทำงานได้ไวและดียิ่งขึ้น
- ช่วยลดอาการปวดข้อต่าง ๆ และช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต
- ช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติและมีประสิทธิภาพ
- น้ำมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักตัว
- ช่วยลดอาการเครียด
- ช่วยกระตุ้นการนอนหลับ
ดื่มน้ำอย่างไรให้ถูกวิธี
1. การดื่มนั้นที่ถูกต้องนั้น ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือวันละ 14 แก้ว หรือโดยเฉลี่ยแล้วควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับน้ำหนักตัวของคุณ เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 60 kg. ก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือประมาณ 10 แก้วนั่นเอง (กรณีนี้ให้นับรวมปริมาณอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำจากผักผลไม้ แกง และก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ)
2. น้ำที่ดื่มถ้าจะให้ดีต้องเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนมากหรือเย็นจัด
3. ควรดื่มน้ำอุ่นในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือก่อนแปรงฟัน เพราะน้ำอุ่นจะช่วยในการขับถ่ายให้ดียิ่งขึ้น ลำไส้ก็จะสะอาดมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
4. ในระหว่างวันควรดื่มน้ำ 1 แก้วทั้งก่อน และหลังมื้ออาหารทุก ๆ มื้อ และในระหว่างช่วงสาย บ่าย เย็น ก็ควรดื่มน้ำอีกครั้งละ 1 แก้ว
ข้อห้ามในการดื่มน้ำ
1. ไม่ควรดื่มรวดเดียวหลาย ๆ แก้ว อาจทำให้เกิดภาวะ “น้ำเป็นพิษได้”
2. ในระหว่างรับประทานอาหารไม่ควรดื่มน้ำตลอดเวลา เพราะจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเจือจาง ทำให้ระบบย่อยทำงานได้ไม่ดี
3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นและน้ำอัดลม เพราะน้ำเย็นจะไปดึงความร้อนในร่างกายมาทำให้น้ำที่เราดื่มเข้าไปมีอุณหภูมิเท่ากับร่างกายจึงจะดูดซึมได้ ทำให้ร่างกายเสียเวลาในการปรับสมดุล และสูญเสียพลังงาน
4. ช่วงที่มีประจำเดือนควรงดดื่มน้ำเย็น เพราะน้ำเย็นจะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น
2. การนอน
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้ เพราะว่าการนอน คือ ช่วงเวลาที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และปรับสมดุลของสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่สมอง ได้ทำการเรียบเรียงข้อมูลต่าง ๆ ที่รับมาระหว่างวัน แล้วนำไปเรียบเรียงจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ ทําให้คุณมีความจําที่ดี และเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย
เคล็ดลับหลับสบาย กับ การนอนเพื่อสุขภาพ
– ควรตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้วงจรการนอนหลับสมดุล และไม่ควรตื่นนอนหลัง 8 โมงเช้า เพราะนาฬิกาของร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการนอนของคุณนั้น สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกดิน
– พยายามจัดเวลาสำหรับการพักผ่อนก่อนนอน เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ให้สมองโล่งปลอดโปร่ง เช่น ฟังเพลงบรรเลงที่ช่วยปรับให้นอนหลับได้ดีขึ้น หรือ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ให้จิตใจสบาย อ่านหนังสือที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย
– ไม่ควรรู้สึกกังวล หรือเครียดเกินไป หากเข้านอนแล้ว 30 นาทีแต่ยังไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาหากิจกรรมผ่อนคลายทำ จนกว่าจะรู้สึกง่วงนอน แล้วจึงกลับเข้าไปนอนอีกครั้ง
– อย่าวิตกกังวล แล้วดูนาฬิกาบ่อย ๆ เพราะเป็นการกดดันตัวเอง ทำให้เครียด และนอนไม่หลับในที่สุด
– เมื่อเอนตัวลงนอนแล้ว ให้หยุดคิดเรื่องที่เครียด ไม่สบายใจ ก่อนนอน อาจเขียนหรือจดบันทึก ถึงสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจลงไปบนกระดาษ การเขียนที่ชัดเจน จะทำให้สมองโล่งขึ้น และจิตใจจะสบายขึ้น
– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมง
– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนก่อนเข้านอน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือช็อกโกแลต
ผลเสียของการอดนอน ที่ส่งผลต่อร่างกายโดยตรง คือ
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
- ระบบจัดเก็บความทรงจำ หรือระบบประสาท มีประสิทธิภาพลดลง
- รู้สึกเครียด มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
- ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
- อ้วนง่าย
- สูญเสียโอกาสที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน
3. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคที่ดีได้ และบุคคลตัวอย่างที่เราจะพึงเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทยนั่นเอง โดยในหลวง ร.๙ จะมีพระดำรัสถึงพสกนิกรชาวไทยถึงความสำคัญของการออกกำลังกายอยู่เสมอครั้ง ดังเช่น
“ …ร่างกายของคนเรานั้นธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉย ๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะเจริญคล่องแคล่ว อดทน ยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงไปไม่ได้ แต่จะค่อย ๆ หมดแรงลง และหมดสภาพไปก่อนเวลาอันควร
ดังนั้นผู้ที่ปกติมีการทำงานโดยไม่ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังให้พอเพียง ต่อความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เขาจะใช้สติปัญญา ความสามารถของเขา ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ… ”
พระราชดำรัสในโอกาสประชุมสัมมนาเรื่อง การออกกำลังเพื่อสุขภาพ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำรัสถึงความจำเป็น ความสำคัญ และหลักของการออกกำลังกายว่า
“ … การออกกำลังกาย ถ้าทำน้อยไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา แต่ถ้าทำมากไป ร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ การออกกำลังแบบมีระบบ ทำให้ร่างกายแข็งแรงตลอดเวลา… ”
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การออกำลังกายเป็นยาวิเศษ ถือเป็นสูตรเด็ดพิชิตโรคเพื่อสุขภาพ ที่ไม่ต้องเสียเงินเลย และยังสามารถทำได้ที่บ้าน เช่น การทำความสะอาดบ้าน การเดิน การได้ขยับตัวอยู่บ่อย ๆ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายแล้ว ฉะนั้นจงอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และอายุที่ยืนยาว
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลด…
- ลดการเสียชีวิตและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหน้าอกซ้ำซ้อนได้ถึงร้อยละ 50
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 60
- ลดการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้ถึงร้อยละ 40
- ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 27
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 58
- ช่วยให้การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 มีประสิทธิภาพถึง 2 เท่า เทียบกับการได้รับอินซูลินแบบมาตรฐาน
- ลดภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการบำบัดด้วยยาและพฤติกรรม
- ผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในระดับต่ำถึงร้อยละ 20 และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งน้อยกว่าถึงร้อยละ 33
4. การทำสมาธิ
คนทำงานมากมายต่างก็ประสบกับปัญหาเกี่ยวกับความเครียด นอกจากจิตใจจะไม่เป็นสุขแล้ว บ่อยครั้งยังทำให้สุขภาพแย่ลงตามไปด้วย การทำ สมาธิ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ยอดเยี่ยม! เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้สงบ นอกจากนี้การทำสมาธิ ยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย เพราะมีงานวิจัยในต่างประเทศได้พิสูจน์แล้วว่า การทำสมาธิ สามารถช่วยในการรักษาโรค ต่าง ๆ ได้ดีทีเดียว
ประโยชน์ที่น่าทึ่งของการทำ สมาธิ
การทำ สมาธิ ช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจแจ่มใส
เนื่องจากการทำสมาธิเป็นการช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย และกระตุ้นให้สมองยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ด้านลบ คนที่ทำสมาธิเป็นประจำ จึงมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ที่มั่นคงกว่าคนที่ไม่ค่อยนั่งสมาธิ หรือไม่เคยนั่งสมาธิเลย
รู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่อ่อนล้า
ขณะทำสมาธิ ระบบไหลเวียนโลหิต และการเผาผลาญอาหารในร่างกายจะทำงานดีขึ้น ทำให้สร้างพลังงานได้เต็มที่ มีเรี่ยวแรงกระฉับกระเฉง ไม่เหนื่อยง่าย มีอารมณ์แจ่มใส
สมองไบร์ทขึ้น
หลายงานวิจัยที่มีความเห็นตรงกันว่า การทำสมาธิติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ ส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง ช่วยให้มีความจำที่ดีขึ้น สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้ดีขึ้น ซึ่งอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ คือสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพสมองให้ถดถอยลงเรื่อย ๆ
ช่วยลดความดันโลหิต
การทำสมาธิ สามารถช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ หลาย ๆ โรงพยาบาลในต่างประเทศ เริ่มมีการปรับใช้การทำสมาธิรวมเข้ากับการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคความดันสูง เพื่อช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ
ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น
ความเครียดคือศัตรูตัวฉกาจของสุขภาพหัวใจ เพราะทุก ๆ ครั้งที่เรารู้สึกเครียด ความดันโลหิต ในร่างกายจะพุ่งสูงขึ้น และทำให้สุขภาพหัวใจแย่ลงตามไปด้วย ผลการวิจัยของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกายังเผยด้วยว่า การทำสมาธิสามารถลดระดับฮอร์โมนความเครียดในร่างกายได้ และยังส่งผลโดยตรงต่อการลดความดันโลหิต ซึ่งช่วยให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักขึ้นนั่นเอง
ช่วยลดอาการวัยทอง
การทำสมาธิสามารถช่วยลดอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัยทองได้ เช่น ช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น มีอารมณ์ที่มั่นคงขึ้น และยังสามารถช่วยลดความเจ็บปวดกล้ามเนื้อ และข้อต่อได้อีกด้วย
ช่วยลดความเจ็บปวดของผู้ที่เจ็บป่วย
ผู้ป่วยจำนวนมากต้องพบกับความเจ็บปวดจากโรคของตนเอง มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่า การทำสมาธิสามารถช่วยลดความทรมานในผู้ที่ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวนได้ แม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม
วิธีทำสมาธิแบบง่าย ๆ สำหรับผู้ฝึกใหม่
1. จับลมหายใจ เข้า – ออก หายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รู้ว่าหายใจออก
2. อย่าฝืนลมหายใจ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
3. ถ้ารู้สึกฟุ้งซ่าน เผลอไปคิดเรื่องอื่น ให้รู้ตัวเองแล้วดึงอารมณ์กลับมารู้ลมหายใจแบบข้อ 1 ใหม่
4. ควรทำสมาธิตอนตื่นนอนใหม่ ๆ เพราะร่างกายยังสดชื่นอยู่ ส่วนก่อนนอน ลองฝึกรู้ลมหายใจ จนหลับไป จะทำให้นอนหลับได้ลึก และผ่อนคลายได้ดีทีเดียว
นอกจาก 4 ยาอายุวัฒนะ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การรับประทานอาหารแต่พอควร ลดแป้ง น้ำตาล ของทอด ของมัน ทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ก็จะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างยอดเยี่ยมเลยนะ!
อ้างอิง
1. ประโยชน์ และวิธีดื่มน้ำ – http://www.kasemrad.co.th / https://medthai.com/
2. การนอน – https://www.gedgoodlife.com/
3. การออกกำลังกาย – https://www.hsri.or.th
4. การทำสมาธิ – https://www.gedgoodlife.com
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี