ผู้เป็นแม่ทุกคน ย่อมหวังที่จะมีลูกที่สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง แต่บางครั้งโชคชะตาก็ไม่เข้าข้างกับคุณแม่บางท่าน ที่คลอดลูกออกมาแล้วพบว่า ลูกตัวเองเป็น “เด็กดาวน์ซินโดรม” แต่ก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะ อาการดาวน์ซินโดรม สามารถดีขึ้นได้ ถ้าได้รับการดูแลที่ถูกต้อง วันนี้
GedGoodLife จึงขอพาคุณแม่ไปทำความรู้จัก โลกของ เด็กดาวน์ซินโดรม ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจ และ แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี
อาการ ดาวน์ซินโดรม เกิดจากสาเหตุใด ?
กลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรม ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม โดยจะมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง (รวมเป็น 3 แท่ง) อันเป็นมาแต่กำเนิด และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ และมีความพิการทางสติปัญญาระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยกลุ่มอาการดาวน์ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอยู่ประมาณ 50 เทียบเท่ากับเด็กอายุ 8-9 ปี
อาการแสดงของ “เด็กดาวน์ซินโดรม”
อาการแสดงของเด็กดาวน์ซินโดรม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดปกติทางด้านร่างกาย และ. ความผิดปกติทางด้านสติปัญญา
1. ความผิดปกติทางด้านร่างกาย
- มีโครงสร้างทางใบหน้าที่แปลกกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ศีรษะ ใบหน้า และหูเล็กกว่าคนทั่วไป
- ตาเรียว หางตาเฉียงขึ้น
- ปากเล็ก ลิ้นมักจะจุกอยู่ที่ปาก พูดช้า ติด ๆ ขัด ๆ
- คอ แขน ขา นิ้วมือ และเท้า สั้นกว่าคนทั่วไป (และมีลายฝ่ามือตัดขวาง)
- นิ้วโป้ง และนิ้วชี้เท้าห่าง
- มีพัฒนาการทางร่างกาย หรือ ส่วนสูง ช้ากว่าคนในวัยเดียวกัน
- ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ไม่ค่อยดีนัก (ตัวอ่อนปวกเปียก ข้อต่อหลวม)
- เด็กหลายคนมักมีความผิดปกติอื่น ๆ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือลำไส้อุดตัน เป็นต้น
2. ความผิดปกติทางด้านสติปัญญา
- มีสมาธิสั้น
- เชาวน์ปัญญาต่ำ (ภาวะปัญญาอ่อน)
- มักจะตัดสินใจเองไม่ค่อยได้
- มีการเรียนรู้ช้า เช่น เรื่องภาษา
- มักมีอาการวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง
- นอนหลับยาก
ทั้งนี้เด็กกลุ่มดาวน์ มักจะมีนิสัยร่าเริง ยิ้มง่าย ใจดี จึงสามารถเข้ากับสังคมได้ง่าย เป็นที่รัก และเอ็นดูของคนรอบข้าง
ช่วงอายุของมารดากับความเสี่ยงมี… “ทารกดาวน์ซินโดรม”
คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ช่วงอายุของเราก็เป็นปัจจัยสำคัญมากทีเดียวในการทำให้ทารกเป็นดาวน์ซินโดรม ฉะนั้น เพื่อความมั่นใจ GedGoodLife แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่าน เข้ารับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่อายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ ไปจนถึง 14 -18 สัปดาห์
- อายุ 25 ปี เสี่ยงมีทารกดาวน์ 1 ใน 1,200
- อายุ 35 ปี เสี่ยงมีทารกดาวน์ 1 ใน 350
- อายุ 40 ปี เสี่ยงมีทารกดาวน์ 1 ใน 100
- อายุ 49 ปี เสี่ยงมีทารกดาวน์ 1 ใน 10
การวินิจฉัยอาการดาวน์ซินโดรม
การวินิจฉัยอาการดาวน์ซินโดรม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
1. การตรวจคัดกรอง
แบ่งเป็นการตรวจคัดกรองได้ในไตรมาสแรก กับ ไตรมาสสอง
– การตรวจการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก แพทย์จะวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นดาวน์ซินโดรมได้จากการตรวจหาความผิดปกติ ดังนี้
- การตรวจเลือด หาความผิดปกติของโปรตีนเอ (PAPP-A) และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ (HCG) อย่างเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน
- การตรวจอัลตราซาวน์ หากเด็กมีความผิดปกติ จะตรวจพบของเหลวสะสมอยู่ที่เนื้อเยื่อบริเวณลำคอของเด็กมากกว่าปกติ
– การตรวจการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สอง
- การตรวจเลือด หาความผิดปกติของระดับสารเคมีในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ คือ ตรวจหาอัลฟา-ฟีโตโปรตีน (Alpha Fetoprotein) อีสไทรออล (Estriol) ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน (hCG) และอินฮีบิน เอ ในเลือด (Inhibin A)
2. การตรวจวินิจฉัย
– การตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน โดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำขณะอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ ทำให้ทราบว่าทารกมีโครโมโซมผิดปกติหรือไม่ แต่การเจาะตรวจน้ำคร่ำมีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งบุตรประมาณ 1 ใน 350 ราย
ดังนั้นสูติแพทย์จึงแนะนำการเจาะตรวจน้ำคร่ำในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เช่น คุณแม่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, คุณแม่ที่คลอดลูกคนก่อนเป็นทารกดาวน์ซินโดรม, คุณแม่ที่ทำการตรวจคัดกรองเลือดแล้วได้ผลบวก, หรืออัลตราซาวด์พบความผิดปกติ
– การอัลตราซาวน์ร่วมกับการเจาะเลือด สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ การอัลตราซาวน์จะดูลักษณะของทารกในครรภ์ และวัดความหนาของช่องทางเดินน้ำเหลืองบริเวณต้นคอ ส่วนการเจาะเลือดแม่ก็จะตรวจสารบ่งชี้ต่างๆ (PAPP-A) & (hCG) แต่ยังมีความแม่นยำต่ำเพียงแค่ 80% และมีผลบวกลวงสูงถึง 5%
การรักษา และ การป้องกันดาวน์ซินโดรม
การรักษา
การรักษาจะรักษาตามอาการ หรือภาวะที่ทารกคนนั้น ๆ เป็น เช่น
- หากมีความผิดปกติของหัวใจ จะผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม
- หากทางเดินอาหารอุดตัน จะทำการผ่าตัดเพื่อเคลียร์ทางเดินอาหาร
- หากมีภาวะระดับฮอร์โมนไธรอยด์ผิดปกติ จะมีการใช้ยาเพื่อรักษาระดับฮอร์โมน
วิธีป้องกัน
หากว่ากันตามหลักทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันได้ แต่การตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 25-30 ก็พอจะลดความเสี่ยงตั้งครรภ์ทารกดาวน์ได้มาก
การดูแลทางด้านจิตใจต่อ เด็กดาวน์ซินโดรม
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ ทราบว่าตัวเองมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ และ ท้อแท้จนเกินไปให้พึงระลึกไว้เสมอว่า เขาคือลูกของเรา เขาก็ต้องการ ความรัก ความอบอุ่นจากเราเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น และอดทนให้มากขึ้น ถ้าเขาได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เขาก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
ในปัจจุบันมีโรงเรียนที่สอนเฉพาะเด็กพิเศษมากมาย จะทำให้เด็กได้รับการดูแลอย่างถูกต้องทั้งจากที่โรงเรียน ที่บ้าน และทีมแพทย์เพื่อให้คุณภาพชีวิต พัตนาการด้านร่างกาย การสื่อสาร และความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วยกลุ่มนี้พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
วันดาวน์ซินโดรมโลก
วันดาวน์ซินโดรมโลก (WDSD) ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี ในวันนี้ องค์การดาวน์ซินโดรมทั่วโลกจะจัด และเข้าร่วมงานที่ต้องการให้สาธารณชนเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรม โดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ในประเทศสิงคโปร์ และปัจจุบัน มีการจัดงานขึ้นโดยสมาคมดาวน์ซินโดรม
รวมรายชื่อโรงเรียนเด็กพิเศษ สำหรับ เด็กดาวน์ซินโดรม
– โรงเรียนปัญญาวุฒิกร
เลขที่ 4 ซอย 7 ถนนเทศบาลนฤมาล ประชานิเวศน์ 1
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 0-2589-5762
– โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์
658/1 ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 0-2243-8565
เว็บไซต์ : http://www.tp-school.ac.th/
– โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
295 ราชสีมา แขวง ดุสิต เขต ดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 0-2241-4656
เว็บไซต์ : http://www.la-orutis.dusit.ac.th/
– โรงเรียนประถมนนทรี
66/1 พระรามที่ 3 ซอย 79 ยานนาวา
ช่องนนทรี ยานนาวา จ.กรุงเทพมหานคร 10120
โทรศัพท์ 0-2249-1446
เว็บไซต์ : http://www.prathomnonsee.ac.th/
– โรงเรียนพญาไท
306 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 0-2354-5251
เว็บไซต์ :http://www.phyathai.ac.th/
– โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภช
16 ถนน คลองวัดโส บางปรอก
เมืองปทุมธานี ปทุมธานี 12000
โทรศัพท์ 0-2978-2583
– ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก”
9/8 หมู่บ้านอมรพันธ์ 7 ซอย 7/1-5
สวนสยาม คันนายาว กทม. 10230
โทรศัพท์ 0-2919-9321
เว็บไซต์ : http://www.baanaunrak.com/
– บ้านอุ่นรักธนบุรี (สาขา)
99/92 ม.19 ซ.26 ถ.พุทธมณฑลสาย 2
แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. 10170
โทรศัพท์ 0-2885-8720
เว็บไซต์ : http://www.baanaunrak.com/
– โรงเรียนวัดสุวรรณาราม
375/2 ซ. จรัญสนิทวงศ์ 32 ถ.จรัญสนิทวงศ์
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700
โทรศัพท์ 0-2424-4087
เว็บไซต์ : http://www.wswnr.net
ติดตามรายละเอียดโรงเรียนเด็กพิเศษในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ –> สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
อ้างอิง :
- https://www.samitivejhospitals.com/th/ดาวน์ซินโดรม/
- https://healthsmile.co.th/ดาวน์ซินโดรม/กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม-downs-syndrome/
- https://www.parents.com/health/down-syndrome/are-you-at-risk-of-having-a-baby-with-down-syndrome/
- https://www.pobpad.com/ดาวน์ซินโดรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/วันดาวน์ซินโดรมโลก
- https://www.rakluke.com/school-zone/11/56/1410/รวมรายชื่อโรงเรียนเด็กพิเศษ
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี