เคยรู้สึกไหมทำไมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เวลาเรามองออกไปรอบ ๆ ตัว วิสัยทัศน์ถึงไม่เหมือนเดิม การมองเห็นคล้ายมีอะไรขาว ๆ มาบัง หายใจเข้าไปแล้วรู้สึกร้อนตามลำคอ หายใจไม่สะดวก มีอาการคัดจมูก รู้สึกหิวน้ำคอแห้ง แต่ทานน้ำแล้วไม่ดีขึ้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นคือ ฝุ่นPM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้
บทความนี้ จะทำให้เรารู้จัก PM2.5 มากขึ้น รู้ว่าฝุ่นตัวนี้จะก่อให้เกิดอาการอะไร และเราจะสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไร และถ้ามีอาการแล้วเราจะจัดการเบื้องต้นได้อย่างไร โดย นพ. ธัญ จันทรมังกร
- ผื่น! แพ้! คัน! หน้าพังเพราะ ฝุ่นPM2.5
- PM2.5 ทำให้เกิด มะเร็งปอด ได้อย่างไร?
- เช็กด่วน! 7 อาการแพ้ฝุ่น PM2.5 พร้อมวิธีรับมือฝุ่นจิ๋ว
ทำความรู้จักกับฝุ่น PM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้
ฝุ่น PM2.5 ย่อมาจาก particulate matter with diameter less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถ้าใครนึกไม่ออกว่าเล็กขนาดไหน ให้ลองเทียบกับเส้นผมของคนปกติซึ่งมีขนาด 50-70 ไมครอน โดยฝุ่นจิ๋วจะเล็กกว่าเส้นผม ประมาณ 20-28 เท่า ความสำคัญคือ ฝุ่นจิ๋วตัวนี้สามารถที่จะซึมผ่านจากจมูกเข้าสู่ในสมองได้เลย และสามารถเข้าถึงทางเดินหายใจในระดับลึกสุดได้
PM2.5 เกิดได้อย่างไร?
PM2.5 สามารถเกิดได้จากสามสาเหตุใหญ่ ๆ คือ
1. ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร โดยเฉพาะ การเผาไหม้น้ำมันดีเซลร่วมกับการจราจรที่ติดขัด
2. อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และโรงผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหิน
3. การเผา โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือใช้ของการเกษตร การเผาขยะจะเห็นได้ว่าในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีสาเหตุ และความรุนแรงของ PM2.5 ที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย สาเหตุเกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ส่วนในกรุงเทพมหานครสาเหตุเกิดจากการจราจร
PM2.5 กับดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index; AQI)
ดัชนีคุณภาพอากาศของไทยได้มีการเพิ่มฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM2.5 เข้าไปในการคำนวณ AQI ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ทำให้ ดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาอากาศใน บรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ประกอบด้วย
- ก๊าซโอโซน (O3)
- ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
- ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
- ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
- ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
สามารถติดตามดัชนีคุณภาพอากาศได้จากหลายช่องทาง ช่องทางที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายคือ
- แอปพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็น หน่วยงานในกำกับของรัฐ
- แอปพลิเคชั่น Air visual เป็นของภาคเอกชน
และในปัจจุบันมีเครื่องวัด PM2.5 ออกมาจำหน่าย ทำให้ประชาชนมีการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังในการแปลผล เนื่องจากค่าที่วัดออกมาได้จะไม่ใช่ค่าเฉลี่ยใน 1 วัน และค่าที่ได้ไม่ใช่ AQI การแปลผลต้องนำค่า PM2.5 มาเปลี่ยนเป็นค่า AQIของไทย ดังนี้
PM2.5 มีอันตรายต่อใครบ้าง?
PM2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของทุกคน แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสุขภาพอย่างมาก ได้แก่
– ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยจะทำให้โรคที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงได้อย่างมาก
– เด็ก เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ หน้ากากส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับสรีระและกิจวัตรของเด็ก อีกทั้งเด็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ทำให้สูด PM2.5 ได้มากกว่าผู้ใหญ่ และเด็กยังมักวิ่งเล่น ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่ก็เปรียบได้กับการออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายหนักจะเพิ่มปริมาณอากาศที่เข้าปอด 6 เท่า ทำให้ได้รับฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น 6 เท่าเช่นกัน ทำให้เด็กมี IQ ต่ำลง, พัฒนาการช้า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
– ผู้สูงอายุเนื่องจากมักจะมีโรคประจำตัว และทำให้โรคประจำตัวแย่ลง เพิ่มโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เพิ่มโรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก โดยที่บางรายไม่ปรากฏอาการแสดง
– สตรีมีครรภ์ พบว่าการสูดดม PM2.5 จะสัมพันธ์กับทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ช้า มีน้ำหนักตัวน้อย และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง
ผลของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ผลระยะสั้น
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- ผิวหนังอักเสบ มีตุ่มแดงคันตามตัว
- เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล
- ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหล หายใจลำบาก บางรายมีอาการรุนแรงสามารถไอเป็นเลือด
- ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ
ผลระยะยาว
- ปวดศีรษะ โรควิตกกังวล ซึมเศร้า อัลไซเมอร์
- เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือด เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
- โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปอด
จะเห็นได้ว่า PM2.5 สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบและภูมิแพ้ได้ในอวัยวะที่สัมผัส ดังนี้ ผิวหนัง, เยื่อบุตา, ทางเดินหายใจ ตั้งแต่ทางเดินหายใจส่วนต้นไปจนถึงถุงลมในปอด
การป้องกันฝุ่น PM2.5
การป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก PM2.5 ที่ดีที่สุดคือ “การหลีกเลี่ยงการสัมผัส” และสูดดมอากาศที่มี PM2.5 ปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย สามารถทำได้ดังนี้
1. ก่อนออกจากบ้านให้ตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำตามตารางด้านบน
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้…
2.1 สวมใส่หน้ากากอนามัยที่เหมาะสม และกระชับพอดีกับใบหน้า
2.2 สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อลดการให้ผิวหนังสัมผัสกับฝุ่น PM2.5
2.3 สวมใส่แว่นตาที่ปิดมิดชิด รอบด้าน (goggles)
2.4 พยายามอยู่กลางแจ้งให้น้อยที่สุด
2.5 หลังจากทำกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อกลับเข้าบ้านแล้วแนะนำล้างจมูกด้วยน้ำเกลือล้างจมูก
3. อยู่ในห้องที่มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมกับขนาด และลักษณะของห้อง โดยคำนวนขนาดห้องออกมาเป็นปริมาตร โดยใช้ขนาด กว้างXยาวXสูง และเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศสมรรถนะสูง (HEPA)โดยดูค่าความสามารถในการผลิตอากาศสะอาด (Clean air delivery rate; CADR) ที่จะระบุไว้ที่เครื่องเป็นหลัก เช่น ห้องนั่งเล่น กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2.5 เมตร คำนวนออกมาได้ 30 ลูกบาศก์เมตร ห้องนั่งเล่นต้องการการแลกเปลี่ยน 5 รอบต่อชั่วโมง
ดังนั้นต้องเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA ที่มีค่า CADR = 30×5 = 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และถ้าจะสามารถป้องกัน และลดขนาดฝุ่นในห้องให้น้อยมาก ๆ ทำได้โดยการดัดแปลงห้องให้เป็นห้องแรงดันบวก (positive pressure room) โดยการติดเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ที่ตอนนี้มีหลายบริษัทรับติดตั้ง ซึ่งจะได้ประโยชน์นอกจากจะลดปริมาณฝุ่นPM2.5 ในห้องโดยการกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในห้อง ยังได้ประโยชน์ในด้านการลดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องอีกด้วย
การรักษา
การรักษาภาวะภูมิแพ้จมูกจากฝุ่น PM2.5 เน้นไปที่การป้องกัน แต่ถ้าป้องกันการสัมผัสแล้วยังมีอาการอยู่ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาหลักคือการให้ยาสเตียรอยด์ทั้งการสูดดมเข้าทางจมูก (Intranasal corticosteroids) และถ้ามีอาการมากอาจใช้สเตียรอยด์แบบฉีดเข้าเส้นเลือด หรือแบบรับประทาน (Systemic corticosteroids) แต่เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าใช้ผิดวิธี
ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์แบบฉีด หรือแบบรับประทานควรอยู่ภายใต้คำสั่งการรักษาโดยแพทย์ ยาลดอาการแพ้กลุ่มอื่นที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาคือ ยาต้านฮิสตามีน ซึ่งมีสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) เป็นกลุ่มที่สามารถออกฤทธิ์ลดอาการแพ้ได้ดี แต่มีข้อเสียคือ มีอาการง่วงซึมหลังจากรับประทาน ดังนั้นอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันถ้าต้องทานทุกวันในช่วงที่มีอาการภูมิแพ้จากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากในประเทศไทยจะมี 2-3 เดือนต่อปีที่มีค่าดัชนีอากาศเกินค่าปกติที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้
– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) เป็นยากลุ่มที่สามารถออกฤทธิ์ลดอาการแพ้ได้ดีเช่นกัน และสามารถออกฤืธิ์ได้มากกว่า 1 วัน ทำให้สามารถรับประทานวันละครั้ง และมีผลให้เกิดอาการง่วงซึมน้อยกว่ายาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม จึงเป็นที่นิยมใช้มากกว่า และ ยังมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ในการรักษาภูมิแพ้ในเด็กด้วย
ยารับประทานอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการแพ้โดยเฉพาะ การแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ คือยากลุ่ม มอนตีลูคัส (Oral montelukast) สามารถรับประทานร่วมกับยาต้านฮิสตามีนได้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ทาง ระบบทางเดินหายใจ และสามารถรับประทานได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
บทความโดย นพ. ธัญ จันทรมังกร
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่