อากาศร้อนระอุ ทะลุ 40 องศาขนาดนี้ แถมฝุ่นPM2.5 ก็ยังไม่หายไปไหน ยิ่งในภาคเหนือนี่ติดอันดับโลกเรื่องฝุ่นไปแล้ว ทำให้หลายคนมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง จมูกตัน คัดจมูก เป็นต้น ฉะนั้นอย่าประมาทอากาศร้อนในเมืองไทยเชียว! มาดูกันว่าหน้าร้อนนี้สามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้อะไรได้บ้าง และ วิธีเอาตัวรอดจากภูมิแพ้หน้าร้อน ตามคำแนะนำจากแพทย์กัน
- โรคภูมิแพ้คืออะไร พร้อมคลิปวิดีโอสาระภูมิแพ้ จากหมอกอล์ฟ
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ทำไงให้หายเสียที!? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- กินยาแก้แพ้เป็นประจำ อันตรายไหม? แบบกินแล้วง่วง กับไม่ง่วง เลือกแบบไหนดีกว่ากัน?
แพทย์เตือน! หน้าร้อนก่อโรคภูมิแพ้ และอาจถึงขั้นช็อคได้
แพทย์หญิง สวพร สิทธิสมวงศ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน รพ.ขอนแก่นราม กล่าวว่า
“จากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมลพิษทางอากาศในเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่ขอนแก่น ในระยะนี้ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ป่วยด้วย…
- โรคภูมิแพ้
- โรคหอบหืด
- โรคทางเดินหายใจ
- โรคผิวหนัง
ซึ่งอาการหนักที่สุด คือ มีอาการช็อคจากการเป็นโรคภูมิแพ้ ที่ต้องสูดดมฝุ่นละอองบ่อยครั้ง และอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว การเกิดโรคที่มากับหน้าร้อนในระยะนี้ ยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ในเรื่องของการรับประทานอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ ที่ทุกคนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังการบริโรคในระยะนี้อย่างเข้มงวดอีกด้วย”
กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในหน้าร้อน
1. มีอาการภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น
- จาม คัดจมูก
- น้ำมูกไหล
- คันจมูก
- เลือดกำเดาไหลบ่อย (อากาศร้อนจัดทำเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกได้)
2. มีอาการหอบหืด (Asthma) โดยอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ดังนี้
- มีอาการไอมีเสมหะ
- แน่นหน้าอก
- หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด
- เหนื่อยหอบ
3. โรคเกี่ยวกับผิวหนังต่าง ๆ (Skin allergies / Skin diseases) เช่น
- โรคแพ้เหงื่อตัวเอง
- ภูมิแพ้ผิวหนัง
- มีผื่น ผดร้อน คัน ขึ้นตามร่างกาย (โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ อาจมีผื่นคันตามผิวหนังมากขึ้น)
วิธีเอาตัวรอดจากภูมิแพ้หน้าร้อน และฝุ่นพิษPM2.5
เราสามารถป้องกันตัวเองจากโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากอากาศร้อน และฝุ่นPM2.5 ได้หากเตรียมตัวให้พร้อม ดังต่อไปนี้
1. อาบน้ำทันทีเมื่อถึงที่พัก หรือที่บ้าน หรืออย่างน้อยที่สุดคือการล้างหน้า เพื่อให้ระดับความร้อนในร่างกายนั้นลดลง
2. ทาครีมกันแดดทุกครั้ง หากจำเป็นต้องออกแดดในเวลากลางวัน หรือในช่วงที่มีแสดงแดดที่แรงจ้า เพื่อป้องกันผิวจากแสงแดด และเป็นการลดการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย
3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ร่างกายได้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงและควรเป็นเสื้อผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี
4. ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน เพื่อป้องกันแสงแดด PM2.5 และยังช่วยป้องกันไวรัสโควิดได้อีกด้วย
5. เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 26-27 องศาเซลเซียส สามารถเปิดพัดลมร่วมด้วยได้ เพื่อช่วยให้อากาศระบายถ่ายเทได้ดีขึ้น แถมยังประหยัดไฟกว่าการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่าอีกด้วย
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หากนอนน้อยในหน้าร้อน จะทำให้รู้สึกวิงเวียนหัว หมดพลังงาน และเป็นลมหรือเลวร้ายสุด คือ มีอาการช็อคแดดได้
7. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำจากภัยแดด แถมยังช่วยให้ร่างกายสดชื่นอีกด้วย แนะนำให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านไปเจอแดดร้อน ๆ
เลือดกำเดาไหลในหน้าร้อน ควรทำอย่างไร?
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดย นั่งก้มหน้าลง หายใจทางปาก แล้วใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที แล้วนอนพัก ยกศีรษะสูง หากมีถุงเย็น หรือน้ำแข็ง ก็นำมาประคบบริเวณหน้าผากประมาณ 10 นาที หรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
วิธีบรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากภูมิแพ้อากาศ
การรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และอาการจากโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ สามารถดูแลด้วยการกิน ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน เพื่อช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้อากาศ หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อนใช้ยา
วิธีบรรเทาอาการผด ผื่น คัน เนื่องจากภูมิแพ้ผิวหนังในหน้าร้อน
คนที่ผิวแพ้ง่ายเมื่อเจอกับอากาศร้อน จะมีอาการนานมาก หรือมีปฏิกิริยามากกว่าคนอื่น เพราะ คนเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่ ผิวค่อนข้างแห้งระคายง่าย มีอะไรมากระทบนิดหน่อยก็สามารถเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ผิวแห้ง ทำให้คัน ยิ่งคันก็ยิ่งผื่นขึ้น วิธีบรรเทา รักษาของกลุ่มคนที่มีอาการภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้
- กินยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการคันตามผิวหนัง ลมพิษเรื้อรัง สามารถปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนซื้อยา
- ทาโลชั่นสำหรับผิวเซนซิทีฟ (sensitive skin lotions) หลังอาบน้ำ และก่อนออกแดดทุกครั้ง
- กลับถึงบ้านรีบอาบน้ำล้างเหงื่อ หรือฝุ่นออก ใส่เสื้อใหม่ อย่าใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัด ยิ่งรัด ยิ่งถู ยิ่งคัน
- ประคบเย็น โดยใช้ผ้าเย็น หรือผ้าห่อก้อนน้ำแข็งประคบบนผิวบริเวณที่เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน และระคายเคืองประมาณ 2-3 นาที
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการรุนแรงมาก หรือรักษาด้วยยาแก้แพ้ไม่ได้ผล
- ไม่กินอาหารที่แพ้ เช่น แพ้อาหารทะเล ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้เกิดอาการทางผิวหนังรุนแรงขึ้น
อ้างอิง : 1. khonkaenram 2. phyathai 3. hellokhunmor