ภูมิแพ้อาหารในเด็ก จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กมักจะมีอาการแพ้บ่อยกว่าเด็กโด พ่อแม่-ผู้ปกครอง อาจคิดว่าภูมิแพ้อาหารไม่ใช่โรคอันตราย แต่ในความจริงภาวะการแพ้อาหาร อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว! ฉะนั้น GED good life จึงขอฝากข้อควรรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับภูมิแพ้อาหารในเด็ก เพื่อให้พ่อแม่-ผู้ปกครอง ได้เรียนรู้เท่าทัน ป้องกันได้
- ภูมิแพ้อาหาร ต้องใส่ใจกว่าที่คิด กินผิดอาจถึงชีวิตได้! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- ภูมิแพ้อาหารในเด็ก vs ผู้ใหญ่ ต่างกันอย่างไร จะรู้ได้ไงว่าแพ้อาหารอะไรบ้าง?
- เคล็ดลับ! ชนะภูมิแพ้ เสริมภูมิลูกด้วยนมแม่ และ 8 ประโยชน์ดีดีจากนมแม่
ภูมิแพ้อาหารในเด็ก มีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของภูมิแพ้อาหารในเด็ก มีปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ
1. คนในครอบครัวมีประวัติเคยแพ้อาหาร พบว่าหากในครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หากมีสมาชิกในครอบครัวสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้ 2 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80
2. การขาดวิตามินดี มีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหาร
3. ตอนท้องกินอาหารไม่หลากหลาย หรือกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ลูกก็เสี่ยงแพ้อาหารชนิดนั้นมากขึ้น
อาการแพ้อาหารสามารถหายได้หรือไม่?
อาการแพ้ในเด็กเล็ก 50-80 เปอร์เซ็นต์ จะค่อย ๆ ดีขึ้น และกลายเป็น ‘ไม่แพ้’ ได้หลังจากอายุ 18-24 เดือน หรือหลัง 2 ขวบ โดยเฉพาะ นม ไข่ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี ยกเว้นเด็กที่แพ้อาหารทะเล ถั่วเปลือกแข็ง และถั่วลิสง ส่วนใหญ่ก็แพ้ไปตลอดชีวิต แต่ก็มีคนที่รักษาแล้วดีขึ้นประมาณ 5- 10 %
เรื่องสำคัญ! อาหารที่เด็กมักแพ้ มีอะไรบ้าง?
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช เปิดเผยว่า ชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ได้มากที่สุดทั่วโลก ได้แก่
- นมวัว
- ไข่ขาว
- ไข่แดง
- ถั่วลิสง
- ถั่วเหลือง
- ถั่วเปลือกแข็ง
- แป้งสาลี
- อาหารทะเล
โดยในประเทศไทยพบว่า…
- นมวัวและไข่ เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารมากที่สุดในเด็กเล็ก
- ส่วนอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง เป็นสาเหตุการแพ้อาหารที่พบมากในเด็กโต
และในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยที่แพ้แป้งสาลีมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทยทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
อาการแพ้อาหารในเด็ก มีอะไรบ้าง?
แบ่งตามอาการที่แสดงตามอวัยวะของร่างกาย
– ทางผิวหนัง เช่น อาการคัน ผื่นแดง ผื่นลมพิษ ผิวหนังบวม
– ทางตา เช่น อาการคัน น้ำตาไหล ตาแดง อาการบวมรอบตา
– ทางเดินหายใจ เช่น อาการคัน แน่นจมูก น้ำมูกไหล จาม อาการไอ เสียงหวีดในลำคอ เสียงแหบ กล่องเสียงบวม นอนกรน หายใจเสียงดังเหมือนมีเสมหะ หลอดลมตีบแคบ แน่นหรือเจ็บหน้าอก เป็นต้น
– ทางเดินอาหาร เช่น อาการคันในช่องปาก อาการบวมของริมฝีปาก ลิ้น หรือ เพดานปาก คันหรือแน่นในคอ ปวดท้องเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
– หัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นเร็ว มึนงง สลบหรือเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ
แบ่งตามเวลาที่แสดงอาการ
แสดงอาการแบบฉับพลัน คือ มีอาการแพ้ทันทีหลังรับประทานอาหาร ภายใน 30 นาที-6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษขึ้นทั้งตัว หน้าแดง รอบปาก รอบตาบวมแดง หลอดลมตีบ อาจรุนแรงถึงขั้นความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่ในกรณีที่ไม่รุนแรงมากอาจมีอาการเพียงระบบใดระบบหนึ่ง เช่น เป็นผื่นเม็ดทรายขึ้นตามตัว มีน้ำมูกหรือคัดจมูก เป็นต้น
แสดงอาการแบบล่าช้า คือ อาการแพ้อาหาร หลังรับประทานอาหารไปแล้ว มากกว่า 12-24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นอาการทางระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก เช่น มีอาเจียน หรือมีท้องเสียอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน เป็นต้น
ความรุนแรงของอาการแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่น้อย ปานกลาง จนถึงชนิดรุนแรง เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุด และเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาการอาจเกิดขึ้นทันทีที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไป อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด เวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กแพ้อาหารอะไรบ้าง?
หากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สงสัยว่าเด็กแพ้อาหาร แต่ไม่รู้ว่าแพ้อะไรกันแน่ ต้องลองสังเกตดู อย่างเช่น ทานนมวัวเข้าไปแล้วมีอาการ วันถัดมาเมื่อทานก็ยังมาอาการอีก ก็ต้องสงสัยแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเล็กเกิดอาการแพ้รึเปล่า
เบื้องต้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด สามารถทำการทดสอบด้วยวิธีสะกิดผิว (Skin Prick Test) หรือการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับการแพ้ที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น ๆ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว แม่นยำ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ
การสะกิดผิวหนัง หรือ Skin Prick Test
คือ การนำสารสกัดของอาหารที่สงสัยว่าแพ้มาสะกิดที่ผิวหนัง สังเกตดูอาการนูนแดงที่ 15-20 นาที โดยการตรวจวิธีนี้เด็กต้องหยุดยาแก้แพ้ต่าง ๆ อย่างน้อย 7 วันก่อนทำการทดสอบ หากมีลักษณะนูนแดง และสัมพันธ์กับอาหารและเวลาที่กิน แสดงว่าแพ้อาหารชนิดนั้น
สถานที่เสี่ยงที่มักพบ ภูมิแพ้อาหารในเด็ก
โรคแพ้อาหารในเด็ก มักพบขณะที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน เพราะเด็กส่วนใหญ่อาจพลาดไปกินอาหารที่ตนเองแพ้ได้โดยง่าย ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็มักจะรับมือด้วยการทำอาหารพิเศษให้ลูกโดยเฉพาะ เพื่อนำไปกินที่โรงเรียน หรืออาจแจ้งครูประจำชั้นให้รับรู้ถึงอาการแพ้อาหารของเด็ก เพื่อจะได้ช่วยจัดมื้ออาหารที่เหมาะสมกับเด็กได้
3 วิธีรับมืออาการแพ้อาหารในเด็กที่โรงเรียน
- นัดคุยกับครูประจำชั้นและครูผู้ช่วยเกี่ยวกับการแพ้อาหารของลูก
- เตรียมยาแก้แพ้ และเข็มอดรีนาลีน Epi-pen ใส่ไว้ในกระเป๋าลูกเสมอ หรือฝากไว้ที่ครูประจำชั้น
- พูดคุยกับลูกซ้ำ ๆ เกี่ยวกับอาหารที่เค้าแพ้ และสิ่งที่เค้าต้องทำเมื่อไปโรงเรียน
วิธีรักษา-ป้องกันไม่ให้เด็กเป็นภูมิแพ้อาหาร
วิธีรักษา
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เด็กแพ้ คือ การรักษา และป้องกันภูมิแพ้อาหารในเด็กได้ดีที่สุด
- หากมีอาการ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย รักษาตรงจุด
วิธีป้องกัน
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่ต้องการ
- เริ่มอาหารเสริมตามวัยอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- เริ่มจากอาหารเสี่ยงแพ้น้อย เช่น ข้าว ผักเขียวอ่อน ผักเขียวเข้ม ผักสีเหลือง เนื้อสัตว์ เช่น ปลาน้ำจืด ไก่ หมู
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนอายุ 1 ปี ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง เสี่ยงแพ้และสำลักได้ อาหารทะเลยกเว้นปลาทะเล
- อ่านฉลาก และเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ บนฉลาก และเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสม
- ให้ลูกลองกินอาหารใหม่ ๆ ทีละอย่างทุก 3-5 วัน จะช่วยให้พ่อแม่สามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้ของลูก
อ้างอิง : 1. greenery 2. pharmacy.mahidol 3. mamamap 4. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 5. wattanapat