ใครบ้างที่มีอาการหอบเหนื่อยอยู่บ่อย ๆ ทั้งที่กินยาก็แล้ว ไปรักษาที่โรงพยาบาลก็แล้ว ก็ยังไม่หายเสียที ต้องอ่านบทความนี้! เพราะ นิสัยการใช้ชีวิตประจำวันของคุณอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบได้โดยไม่รู้ตัว วันนี้ Ged Good Life จึงได้รวบรวม 11 พฤติกรรมกระตุ้นอาการหอบเหนื่อย ที่คุณอาจทำเป็นอยู่เป็นประจำทุกวัน แต่คาดไม่ถึงว่าจะกระตุ้นอาการหอบเหนื่อยได้… จะมีพฤติกรรมอะไรบ้าง มาเช็กกันเลย!
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก สัญญาณเตือนโรคร้าย! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และประโยชน์ของแสงแดด ลดหอบเหนื่อย
- ระวังลูกป่วย โรคหอบหืด ภูมิแพ้กำเริบ เพราะอากาศเย็น!
- โรคหอบหืด รู้ทันอาการ เซฟชีวิตคุณได้!
11 พฤติกรรมกระตุ้นอาการหอบเหนื่อย
ข้อมูลจาก นายแพทย์วินัย โบเวจา โรคปอดและทางเดินหายใจ ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ป่วยของคุณหมอมักมาด้วยอาการหอบเหนื่อย จาก 11 พฤติกรรมเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึงว่าจะทำให้เป็นปัญหากับสุขภาพได้ ดังนี้
พฤติกรรมที่ 1 ชอบก้มต่ำ
ผู้ป่วยหลายรายโดยเฉพาะผู้สูงวัยมักจะบ่นว่า “ก้มทีไรจะเหนื่อยทุกที” เพราะ ยิ่งก้มยิ่งกระตุ้นให้เหนื่อยได้ เนื่องจากการก้มจะทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น ทำให้ดันขึ้นมาที่อก ยิ่งถ้าเป็นคนไข้โรคหัวใจ หรือโรคปอด มันก็จะบีบช่องอก บีบหัวใจ หรือช่องปอดให้แคบลง อาจทำให้เราหายใจลำบากได้ ผู้สูงอายุบางรายมาด้วยเรื่องสลบ หน้ามืด เกิดอุบัติเหตุศีรษะ อันเนื่องมาจากก้มแล้วหายใจไม่ได้ วูบไปเลยก็มี จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
พฤติกรรมที่ 2 ชอบขึ้นลงบันได
ผู้ป่วย และผู้สูงอายุหลายราย มีนิสัยชอบขึ้นลงบันไดอยู่บ่อย ๆ คุณหมอวินัย จึงแนะนำว่าพยายามขึ้นลงบันไดวันละครั้ง ถ้าหากมีอะไรที่ต้องการอยู่อีกชั้น ควรเลือกใช้คนในบ้านให้ไปหยิบแทน หรือมีห้องนอนไว้ที่ชั้น 1 และวางแผนการขึ้นลงบันไดดีดี ว่าใน 1 วัน จะต้องทำอะไรบ้าง จะได้ไม่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
พฤติกรรมที่ 3 ชอบทำอะไรเร็ว ๆ
คุณหมอวินัยกล่าวว่า เจอคนไข้แทบจะ 8 ใน 10 คน โดยเฉพาะในคนไข้โรคปอดและทางเดินหายใจ การจะต้องทำอะไรเร็ว ๆ จำเป็นต้องอาศัยกลไกการหายใจ จังหวะการหายใจจะเชื่อมโยงไปกับการสั่งสมอง เช่น ลุกขึ้น เปลี่ยนท่าหันหลัง เดินซ้าย เดินขวา กลับหลัง เป็นต้น คนไข้เหล่านี้ จำเป็นต้องระมัดระวัง พยายามลดความเร็วลง เพื่อไม่ให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้ง่ายนั่นเอง
พฤติกรรมที่ 4 ชอบก้มยกของหนัก
ผู้ป่วยหลายคนชอบไปตลาด ยกของหนัก ๆ กลับมาจากตลาด มือซ้ายบ้าง มือขวาบ้าง เดินจากตลาดมาถึงบ้าน ไม่นั่งรถกลับเพื่อประหยัดเงิน อยู่บ้านก็ยกตะกร้าผ้าบ้าง เป็นต้น การยกของหนัก ๆ หรือยกของเบาแต่เป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้เหนื่อยได้ พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ ผู้ป่วยก็ต้องระวังเช่นกัน
พฤติกรรมที่ 5 ชอบอาบน้ำช่วงอากาศเย็น
บางคนติดนิสัยตื่นตี 4 จะต้องอาบน้ำ หรือชอบอาบน้ำตอนดึก ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ จะทำให้มีอาการไอ หอบ มีเสมหะ และมีอาการกำเริบของโรคได้ จึงควรระวังการอาบน้ำในช่วงเวลาเหล่านี้ไว้ คุณหมอวินัย แนะนำเสมอว่า ควรอาบน้ำตอนพระอาทิตย์ขึ้น และอาบตอนกลางคืนก่อนพระอาทิตย์ตก
พฤติกรรมที่ 6 ชอบอาบน้ำใต้ฝักบัว
การอาบน้ำใต้ฝักบัว (overhead shower) คุณหมอวินัยให้ระวัง แต่ไม่ได้ห้าม เพราะ การอาบน้ำใต้ฝักบัว จะทำให้เราขาดออกซิเจนในช่วงเวลานึง สำหรับผู้ที่เป็นหอบเหนื่อยเยอะ ๆ ควรใช้ฝักบัวต่ำกว่าหู หากจะสระผมก็ควรนอนแล้วสระ แต่ถ้าไม่ได้เป็นมาก ก็ไม่เป็นไร สามารถอาบได้ปกติ
พฤติกรรมที่ 7 ชอบปีนที่สูง
การปีนหลังคา ปีนบันได เปลี่ยนหลอดไฟที่สูง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องปีน หรือขึ้นที่สูง ต้องระวัง เพราะจะทำให้หายใจเหนื่อยได้ เนื่องจากทุกครั้งที่ทำ จะทำให้ต้องกลั้นหายใจก็จะเหนื่อยได้
พฤติกรรมที่ 8 ชอบกินจุ กินเกินปริมาณ
นิสัยที่ชอบกินดึก กินจุ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มแป้ง คาร์โบไฮเดรต เป็นอาหารที่ย่อยยาก จะยิ่งทำให้การเผาเผลาญเยอะขึ้น ทำให้ปอดทำงานหนักขึ้น ก็จะเหนื่อยง่าย ลองสังเกตว่าหากกินข้าวเสร็จใหม่ ๆ แล้วเดินขึ้นบันได จะรู้สึกได้เลยว่าเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือในวัยรุ่นก็ตาม
พฤติกรรมที่ 9 ชอบกินอาหารกระตุ้นเสมหะ
อาหารที่กระตุ้นให้มีเมือก มีเสมหะในลำคอ เช่น อาหารเผ็ด เครื่องแกง อาหารทอด อาหารมัน พวกนี้จะกระตุ้นให้ไอ พอไอก็จะตามด้วยหายใจแรง เมื่อหายใจแรงบ่อย ๆ ก็จะหอบเหนื่อยได้ง่าย จึงควรระวังอาหารเหล่านี้ไว้
พฤติกรรมที่ 10 ชอบเสพข่าวเชิงลบ
การเสพ หรือรับรู้ข่าวเชิงลบเป็นประจำ จะทำให้อยู่ในภาวะตึงเครียดได้ เมื่อตึงเครียดเยอะ ๆ ก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยได้ง่าย เพลียง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
พฤติกรรมที่ 11 เป็นห่วงกังวลอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ มักจะเป็นห่วงลูก หลาน ของตัวเองตลอดเวลา (overconcern) เมื่อห่วงมากเกินไปก็จะมีเป็นโทษต่อร่างกายได้ คนไข้บางคนรักษาแล้วเหมือนจะดี ติดตามอาการก็ดี แต่พอมาหาหมอทีไรก็จะบอกหมอว่ารู้สึกเพลียทุกครั้ง เมื่อหมอซักปัญหาไปมา ก็เกิดจากความรู้สึกเป็นห่วงลูกจนเกินไป จนทำให้เพลียนั่นเอง ฉะนั้น ผู้สูงอายุก็ต้องระวังในเรื่องนี้เช่นกัน
อ้างอิง : หมอวินัย โบเวจา