ทุกวันนี้ ถ้าสาว ๆ ไม่ได้แต่งหน้าออกจากบ้าน อาจจะไม่มั่นใจเหมือนลืมใส่บราออกจากบ้านกันเลยทีเดียว แบรนด์เครื่องสำอางจึงผุดขึ้น เกิดใหม่ทุกวันในท้องตลาด มีให้เลือกเยอะไปหมด หลายครั้งเราก็ลองจิ้มซื้อเครื่องสำอางกันแบบไม่ได้ดูให้ดีก่อน แล้วถ้าเกิดวันนึงแจ็คพ็อต หน้าผื่นแพ้ หน้าพังขึ้นมาเพราะ แพ้เครื่องสำอาง จะต้องรับมือกันยังไงดี
แพ้เครื่องสำอาง อาการเป็นยังไง?
อาการแพ้เครื่องสำอาง ที่พบบ่อยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การระคายเคือง และการแพ้
1. เกิดผื่นระคายเคือง พบได้บ่อย มีอาการการระคายเคือง รู้สึกแสบหรือมีอาการคัน โดยมักจะเกิดขึ้นเร็วหรือทันทีที่ใช้ เกิดจากส่วนประกอบที่เข้มข้น มีความสามารถในการลอกผิวหนังกำพร้าส่วนบน พบได้ในทุกสภาพผิว แต่อาจจะพบบ่อยกับคนที่ สภาพผิวแห้ง หรือ ใช้เครื่องสำอางมานาน จนทำให้ผิวบาง โดยเฉพาะรอบดวงตา ลักษณะผื่นระคายเคือง ผิวแสบ ร้อน แดง ทนแสบจากเหงื่อไม่ได้ ปวดแสบ ปวดร้อนเวลาถูกแดดหน้าแดงง่าย ถ้ารุนแรงอาจเป็นหนองหัวเล็ก ๆ
2. เกิดผื่นแพ้สัมผัส รู้สึกคัน มีผื่นแดง หลังใช้ไปสักระยะ ใช้เวลานานกว่าการระคายเคือง เกิดจากการเกิดปฎิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกายต่อสารประกอบของเครื่องสำอาง ลักษณะผื่นแพ้สัมผัส จะมีผื่นแดง คัน อาจจะมีตุ่มใสน้ำเหลืองได้
อาการแบบนี้ สงสัยได้เลยว่าแพ้เครื่องสำอาง
- อาการปวดแสบ ปวดร้อน
- อาการคัน รู้สึกคันยิบ ๆ ที่ผิว
- มีผื่นแดงคัน เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ มีขุย
- มีผื่นแดง บวมแบบลมพิษ
- มีผื่นดำ หมองคล้ำ หน้าเริ่มด่าง
แพ้เครื่องสำอาง แพ้อะไรได้บ้างในเครื่องสำอาง ?
– น้ำหอม เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เพราะน้ำหอมประกอบด้วยสารเคมี และ สารธรรมชาติหลายชนิด เครื่องสำอางที่ติดฉลากว่าปราศจากน้ำหอม อาจจะไม่ใส่น้ำหอมจริง ๆ แต่บางผลิตภัณฑ์ก็ยังมีการปรุงแต่งด้วยน้ำหอมเล็กน้อย เพื่อกลบกลิ่นไข และสารประกอบอื่น ๆ
– สารกันเสีย ในเครื่องสำอาง สารกันเสีย เป็นอันดับสองรองจากน้ำหอมที่ทำให้ผิวหนังแพ้ได้ ซึ่งสารกันเสีย ทำหน้าที่กันเชื้อแบคทีเรีย และรา ไม่ให้เจริญเติบโตในผลิตภัณฑ์ และยังป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสีย เมื่อได้รับแสงแดดและความร้อน ตัวอย่างสารกันเสีย เช่น พาราเบน
– สี สารแต่งสีในผลิตภัณฑ์มักก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อย เช่น Paraphenylenediamine (PPD) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้แต่งสีผม
– สารในผลิตภัณฑ์กันแดด ในพวกครีมกันแดด จะมีสารเคมี เป็นสารกันแดดที่มีความสามารถดูดซับพลังงานของแสงแดดไว้ก่อนที่แสงแดดจะผ่านไปที่ผิวหนัง เช่น PABA และ cinnamate ดูดซับเฉพาะ UVB Benzophenone ดูดซับได้ทั้ง UVB และ UVA บางส่วน สารกันแดดในกลุ่มนี้จะละลายได้ดีในตัวทำละลายบางชนิด โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ และน้ำมัน ซึ่งข้อเสีย คือ อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองต่อผิวหนังได้
ทำอย่างไร เมื่อแพ้เครื่องสำอาง มีผื่นขึ้นหน้า?
– หยุดใช้เครื่องสำอางทันที เมื่อมีอาการแพ้ ถ้าใช้เครื่องสำอางแล้วมีผื่นคัน ระคายเคือง หรือ มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรหยุดใช้เครื่องสำอางนั้นทันที ดังนั้นหากจะลองเครื่องสำอางใหม่ๆ จึงควรเลือกใช้ทีละชนิด ไม่ควรใช้เครื่องสำอางใหม่ ๆ พร้อมกันหลายชนิด เพราะเวลาแพ้ขึ้นมาจะไม่รู้ว่าแพ้เครื่องสำอางชนิดไหน
– ใช้ยาทาแก้แพ้ หรือ ยาพวกสเตอรอยด์ ที่เป็นยาแก้แพ้ในรูปของยาทา เพื่อรักษาบรรเทาอาการแพ้ ผื่นคัน ที่ผิวหนัง
– กินยาแก้แพ้ที่ปลอดภัย นอกจากทายาแก้แพ้ แก้ผื่นคันแล้ว อาจกินยาแก้แพ้ หรือ ยาแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) ที่ปลอดภัย ไม่ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ลอราทาดีน (Loratadine) ที่ใช้แก้อาการแพ้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สารอื่นๆ รวมทั้งแพ้เครื่องสำอาง ซึ่งทำให้มีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้ดียิ่งขึ้น
– ไม่เกา ไม่จับหน้าบ่อย ๆ ถ้ามีผื่นคันที่บริเวณหน้า คงห้ามยากที่จะไม่แกะเกา สัมผัส จับหน้า แต่จำไว้เลยว่า ถ้าเกาบริเวณที่แพ้ ผื่นคัน จะทำให้เกิดระคายเคือง รอยไหม้ รอยแผลเป็นได้ และยิ่งเกาอาจทำให้เป็นแผลติดเชื้อ ลุกลามได้อีก
– ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า ถ้าแพ้ควรงดแต่งหน้า ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี ให้ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า หรือสบู่อ่อน ๆ สำหรับเด็กเท่านั้น รอจนอาการแพ้หายก่อน
– หากมีอาการแพ้รุนแรงควรไปพบแพทย์ หากมีอาการแพ้รุนแรง กินยาแก้แพ้ หรือทายาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปหาหมอให้หมอวินิจฉัยต่อไปว่าเกิดจากสาเหตุใด และควรรักษาอย่างไร
สวยได้ไม่แพ้ ต้องทำยังไง?
– ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น เครื่องสำอางเป็นของที่ต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง จึงควรหลีกเลี่ยงใช้ร่วมกับคนอื่น เพราะอาจจะการแพ้จากเชื้อโรคที่ติดต่อกันผ่านทางผิวหนังได้
– ทำการทดสอบการแพ้ที่ท้องแขน ก่อนใช้เครื่องสำอางใหม่ ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ควรทดสอบการแพ้ โดยทาผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ขนาดเท่าเหรียญสิบ ทาเช้า-เย็น ที่ตำแหน่งเดิม เพื่อสังเกตอาการภายใน 24 ชั่วโมง
– เลือกซื้อเครื่องสำอางที่ระบุรายละเอียดบนฉลากอย่างครบถ้วน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก แต่จะต้องแสดง “เลขที่ใบรับแจ้ง” บนฉลากภาษาไทย ซึ่งจะมีรายละเอียด เช่น ชื่อการค้า ชื่อเครื่องสำอาง ส่วนผสม วิธีใช้ คำเตือน ชื่อ ที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณ วันเดือนปีผลิต วันหมดอายุ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิตเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง
– หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ระคายเคือง หากรู้ว่าตัวเองแพ้อะไร หรือมีผิวแพ้ระคายเคืองง่าย ควรเลี่ยงสารเคมีที่ระคายเคืองต่อผิว น้ำหอม สารแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ
– เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ อาจจะไม่ยืนยันได้ 100% ว่าเครื่องสำอางจากธรรมชาติ จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าสารเคมี น้ำหอม ในเครื่องสำอาง
“Expert ดีดี” ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!