เมื่อป่วย มีอาการจาม น้ำมูกใสไหล คัดจมูก คอแห้ง ไอแห้ง ๆ เราอาจจะคิดว่า ก็แค่อาการไข้หวัด ไอ หรือภูมิแพ้ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น แต่อาการดังกล่าว อาจบ่งบอกถึง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว แล้วเราจะดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างไร ? ไปติดตามกับ GedGoodLife กันเลย
- โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม
- ไซนัส คืออะไร? ไซนัสอักเสบ มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร?
- ต่อมทอนซิลอักเสบ รุมเร้า เจ็บคอทรมานมาก ทำยังไงอาการจะดีขึ้น?
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection) – เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่เกี่ยวกับ จมูก หู คอ กล่องเสียง หลอดลม จนถึงปอด โดยเชื้อจะเข้าสู่ทางจมูก และคอ ทำให้เยื่อบุจมูกบวมแดง และมีการหลั่งสารที่เป็นเมือกออกมา เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝน และ ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
กลุ่มโรคที่พบได้บ่อยเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
- ไข้หวัด (Common cold / Acute nasopharyngitis)
- โรคหูชั้นกลางอักเสบ (acute otitis media)
- ไซนัสอักเสบ (Sinussitis)
- กล่องเสียงอักเสบ (acute laryngitis)
- คออักเสบเฉียบพลัน (Acute Pharyngitis)
- ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (Acute Tonsillitis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (acute bronchitis)
- ปอดบวม (pneumonia)
สาเหตุของโรค
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีอยู่เกือบ 200 ชนิด โดยไวรัสที่พบได้มากที่สุด คือ ไรโนไวรัส (30-80%) ส่วนไวรัสชนิดอื่น ๆ มี…
- โคโรนาไวรัส
- ฮิวแมนพาราอินฟลูเอ็นซาไวรัส
- เรสไพราทอรีซินไซเตียลไวรัส
- อดีโดนไวรัส
- เอนเทอโรไวรัส
- และเมตะนิวโมไวรัส
ซึ่งบ่อยครั้งที่ไวรัสมากกว่าหนึ่งชนิดก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับ โรคไข้หวัด ซึ่งพบได้ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย การไอจามในแต่ละครั้ง จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้ประมาณ 3 ฟุต และมีชีวิตปะปนอยู่ในอากาศได้เป็นวัน หรือหลายวันเลยทีเดียว!
การแพร่กระจายติดต่อของเชื้อ
1. การติดต่อในระหว่างผู้ใกล้ชิด / ในสถานที่แออัด อากาศไม่ค่อยถ่ายเท เช่น โรงภาพยนตร์ รถโดยสาร อาคารบ้านเรือนที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
2. ติดจากการไอ จาม หรือติดมากับมือของผู้ป่วย รวมถึงไวรัส น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ติดมากับผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ เป็นต้น และเมื่อใช้นิ้วขยี้ตา หรือ แคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคน ๆ นั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้
ระยะฟักตัว และ ระยะติดต่อของโรค
ระยะฟักตัว – ประมาณ 1 – 3 วัน นับตั้งแต่รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จนเริ่มปรากฏอาการให้เห็น
ระยะติดต่อ – ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยมีเชื้อโรคในร่างกาย เมื่อหายป่วยจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นประมาณ 1 – 3 เดือน แต่ก็จะเป็นไข้หวัดได้อีก โดยเด็กเล็กจำเป็นต้องรักษาความสะอาด และผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด เพราะ ภูมิต้านทานโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่
อาการป่วยของ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มีอะไรบ้าง?
1. จาม น้ำมูกใสไหล คัดจมูก คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว เสียงแหบ อาการตามร่างกายทั่วไป คือ ปวดศีรษะบ้าง มีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เป็นต้น เด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียน เวลาไอ
2. อาการต่าง ๆ ในข้อ1 มักจะอยู่ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจมีอาการนานถึง 2 สัปดาห์ (อาจมีอาการไอร่วมด้วย ที่สามารถต่อเนื่องไปได้ถึง 3 สัปดาห์)
3. บางคนอาจสับสนอาการดังกล่าว กับไข้หวัดใหญ่ แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากกว่า และ มีไข้สูงกว่า ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์ เมื่อไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือ แค่ไข้หวัดทั่วไป
4. ถ้ามีอาการเกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลือง, เขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลือง เขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
การรักษา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
1. ทานยาลดไข้พาราเซตามอล ถ้ามีน้ำมูกไหลจนสร้างความรำคาญ อาจทานยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน เป็นต้น
2. นอนพักผ่อนให้มาก ๆ เป็นไปได้ควรนอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก และนอนห่มผ้า หรือ ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ กางเกงขายาว อาจใส่ถุงเท้าร่วมด้วยก่อนนอน
* ถ้าอาการไม่หนักมาก เพียงทำตาม 2 ข้อแรก อาการก็จะดีขึ้นได้ภายใน 2 – 3 วัน
3. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมโดยตรง และใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปากเสมอ เมื่อต้องออกไปเจอกับอากาศข้างถนน หรือในสถานที่แออัด
4. ถ้ามีอาการไอ เจ็บคอ ร่วมด้วย ควรใช้เสียงให้น้อยที่สุด และไม่กินของทอด รสจัด รสเผ็ด เป็นต้น และงดสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
5. ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ เช่น แปรงฟันหลังอาหารทันที กลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก หรือ เกลือ และอาจใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย เพราะ เศษอาหารมักตกค้างในช่องปาก และลำคอ ทำให้จำนวนแบคทีเรียในคอเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้คออักเสบมากขึ้นได้
6. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือ น้ำธรรมดา
7. ดื่มน้ำสะอาดอุณหภูมิห้องให้มาก ๆ งดน้ำเย็นไปก่อน
8. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 7 – 10 วัน แนะนำให้พบแพทย์
การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
การดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรค ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เช่น โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า การเดินข้างถนนที่มีฝุ่นควันมาก และควรใช้หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
2. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และไม่ควรเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะจะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 ชั่วโมง / วัน และหมั่นทำความสะอาดห้องนอนอยู่เสมอ
4. อย่าอยู่ใกล้ชิด และ อย่าใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ ของเล่น ร่วมกับผู้ป่วยโรคหวัด
5. ไอหรือจาม ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือ กระดาษปิดปากอยู่เสมอ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่