การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง มาดูกันว่า 4 เทคนิคตรวจทารกในครรภ์ จะมีอะไรบ้าง และข้อควรรู้อื่น ๆ ที่แม่ตั้งครรภ์มือใหม่ควรศึกษาไว้
4 เทคนิคตรวจทารกในครรภ์ เช็กสุขภาพลูก
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจเช็กความสมบูรณ์ของการตั้งครรภ์ ทั้งตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์ สำหรับสุขภาพ ความแข็งแรงของลูก ลูกมีความเสี่ยงกับโรคพันธุกรรมอะไรบ้าง สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการดังนี้
1. อัลตราซาวด์ (Ultrasound)
อัลตราซาวด์ คือ คลื่นเสียงความถี่สูงที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน (มากกว่า 20,000 เฮิซร์ต) เมื่อมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาจากหัวตรวจ ผ่านลงสู่ผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ เมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อ เกิดการสะท้อน การดูดกลับของเสียง และถูกแปลผลออกมาเป็นภาพได้
การอัลตราซาวด์ เป็นวิธีการตรวจครรภ์ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่การอัลตราซาวด์ไม่ได้มีประโยชน์แค่การดูเพศลูก หรือ รูปร่างหน้าตาของลูกเท่านั้น
ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ สามารถตรวจได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก แต่หากไม่มีข้อบ่งชี้ความผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องตรวจก็ได้ ช่วงอายุครรภ์ที่แม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรตรวจ คือ ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์
วิธีการตรวจ
– การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นวิธีการที่ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ ยกเว้นในอายุครรภ์น้อย ๆ คือ กรณีอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน อาจต้องดื่มน้ำหลาย ๆ แก้ว และกลั้นปัสสาวะ เพื่อให้มีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น
– ส่วนใหญ่ การอัลตราซาวด์ จะเป็นการตรวจผ่านทางหน้าท้อง จะมีการทาเจลใส ๆ บริเวณที่จะวางหัวตรวจลงไป ทำให้เห็นภาพของมดลูก ทารก รก น้ำคร่ำ หรือ อวัยวะอื่น ๆ ปรากฏบนหน้าจอภาพ
ตรวจดูอะไรบ้าง
– ดูจำนวนทารก อายุครรภ์ ตำแหน่งการฝังตัวว่าในหรือนอกมดลูก การมีชีวิตของทารก
– ความผิดปกติบริเวณรังไข่ หรือท่อนำไข่
– ตรวจดูความพิการบางอย่าง เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ
– ดูความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายทารก ได้แก่ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง ใบหน้า โครงกระดูก แขนขา มือเท้า ทรวงอก เนื้อปอด หัวใจ ผนังหน้าท้อง ดูอวัยวะหลักภายในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
ใครบ้างที่ควรตรวจ
– แม่ตั้งครรภ์ที่ก่อนตั้งครรภ์ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือตั้งครรภ์ขณะใช้ยาคุมกำเนิด
– ตั้งครรภ์ มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก สงสัยว่าอาจจะแท้ง หรือท้องนอกมดลูกได้
– ต้องการคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ โดยวัดจากความหนาของผนังคอ
– แม่ตั้งครรภ์ทุกคน ในช่วงไตรมาสที่ 2
2. การตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis)
เป็นการนำเซลล์ของทารกที่ปนอยู่ในน้ำคร่ำไปตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค ได้แก่ โครโมโซมผิดปกติ โรคทางพันธุกรรม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ค่อนข้างแพร่หลายในการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ผลการตรวจมีความแม่นยำสูงกว่า 99%
ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ ช่วงอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ (ช้าสุด ไม่ควรเกิน 20 สัปดาห์)
วิธีการตรวจ
– อัลตราซาวด์วัดสัดส่วนของทารก และค้นหาความพิการแต่กำเนิดที่อาจพบได้
– เลือกตำแหน่งของการเจาะน้ำคร่ำให้เป็นบริเวณที่เป็นน้ำคร่ำล้วน ๆ โดยไม่มีส่วนของทารกมาขัดขวาง
– พยายามเลือกตำแหน่งการแทงเข็มไม่ให้ผ่านรก (ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้)
– จากนั้นจึงทำการเจาะโดยใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ โดยใช้เข็มชนิดเดียวกับที่ใช้เจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal needle) เจาะผ่านทางหน้าท้องมารดาโดยมองเห็นแนวเข็มที่เจาะอยู่ตลอดเวลาผ่านการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
– ขั้นแรกให้ดูดน้ำคร่ำทิ้งประมาณ 2 ซีซี เนื่องจากอาจปนเปื้อนกับเซลล์ของมารดาได้มาก และทำให้การแปลผลคลาดเคลื่อนได้
– จากนั้นจึงดูดน้ำคร่ำออกมาเป็นจำนวน 8 ซีซี ทั้งหมด 2 กระบอกฉีดยาเพื่อส่งตรวจโครโมโซม (รวมปริมาณน้ำคร่ำทั้งหมดที่ส่งตรวจเป็น 16 ซีซี)
ตรวจดูอะไรบ้าง?
– ตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่
– ตรวจโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่วินิจฉัยก่อนคลอดได้ เช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) (โรคโลหิตจางชนิดหนึ่ง)
– ตรวจสารเคมีบางอย่างในน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยหาโรค เช่น โรคไขสันหลังเปิด
ใครบ้างที่ควรตรวจ
– แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ณ วันกำหนดคลอด
– มีความเสียงสูงจากผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทารกดาวน์ซินโดรม
– เคยตั้งครรภ์ แล้วลูกมีความผิดปกติของโครโมโซม
– พ่อแม่เสี่ยงที่จะมีทารกเป็นโรคธาลัสซีเมียอย่างรุนแรงทั้งคู่
– อัลตราซาวด์พบว่าทารกมีความผิดปกติ
3. การตรวจ Non – Stress Test, NST
การตรวจ NST เป็นวิธีการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ที่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของทารก เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่มีข้อห้ามในการทำ และยังเชื่อถือได้ค่อนข้างมากในปัจจุบัน
ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ ช่วงอายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์ขึ้นไป ยกเว้นบางรายที่อาจทำตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์
วิธีการตรวจ
– คุณหมอจะนำเครื่องอิเลคโทรนิคสำหรับฟังเสียงหัวใจทารก และวัดการบีบรัดตัวของมดลูก
ตรวจดูการสนองของอัตราการเต้นหัวใจในขณะที่ทารกเคลื่อนไหว มาคาดติดไว้ที่หน้าท้อง เครื่องจะทำการบันทึกผล
– ระหว่างนี้จะมีการบันทึกการดิ้นของลูกด้วย โดยแม่จะเป็นเป็นคนกดเครื่องเองเมื่อลูกมีการดิ้น เคลื่อนไหว หรือให้เครื่องเป็นตัวบันทึก
– การตรวจ NST จะใช้เวลาวัด และบันทึกอย่างน้อย 20 นาที จึงนำผลมาอ่านค่าผลจากกราฟที่บันทึกได้ ผลการตรวจจะบอกได้ว่าทารกอยู่ในสภาวะปกติหรือผิดปกติ
ตรวจดูอะไรบ้าง ตรวจดูสุขภาพลูกว่าอยู่ในสภาวะปกติไม่ขาดออกซิเจน ออกซิเจนไปเลี้ยงทารกปกติหรือไม่
ใครบ้างที่ควรตรวจ Non – Stress Test, NST
- แม่ที่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้น
- ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์
- ตรวจพบว่าน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ
- ตั้งครรภ์เกินกำหนด (42 สัปดาห์)
- แม่ตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย
- มีประวัติทารกตายคลอด
- แม่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป
4. การตรวจชิ้นเนื้อรก (Chorionic Villus Sampling, CVS)
การเก็บตัวอย่างเนื้อรก เป็นการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่ทำได้เร็วกว่าการเจาะถุงน้ำคร่ำ โดยจะกระทำในระยะที่รกเริ่มเกาะแน่นพอที่จะไม่เกิดการแท้งได้ แต่การตรวจตัวอย่างเนื้อรกนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม คุณหมอจะพิจารณาทำในบางรายเท่านั้น เช่น กรณีที่ไม่สามารถเจาะถุงน้ำคร่ำได้
ตรวจดูอะไรบ้าง ตรวจหาความผิดปรกติทางพันธุกรรมของทารก เช่น ตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
ช่วงอายุครรภ์ที่ตรวจได้ สามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์
วิธีการตรวจ
– เจาะผ่านทางหน้าท้องมารดา โดยเริ่มจากหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะ ฉีดยาชาบริเวณนั้น
– จากนั้นใช้เข็มชนิดที่ใช้เจาะน้ำไขสันหลัง เจาะผ่านหน้าท้องมารดาไปยังตำแหน่งรก โดยไม่ให้เจาะผ่านถุงน้ำคร่ำและไม่โดนตัวทารกในครรภ์
– ต่อกระบอกฉีดยาซึ่งมีน้ำเกลืออยู่ภายในเล็กน้อย ประมาณ 1-2 ซีซี เข้ากับเข็ม ดึงกระบอกฉีดยาให้เกิดเป็นแรงดันสูญญากาศภายใน
– จากนั้นจึงทำการขยับเข็มขึ้นลง 2-3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อเยื่อของรกส่วนที่จะนำมาตรวจหลุดออกจากรกโดยรอบ แล้วจึงดึงเข็ม และกระบอกฉีดยาออกพร้อมกัน โดยยังรักษาให้เกิดแรงดันสูญญากาศภายในตลอดเวลา จะพบว่าได้ชิ้นส่วนของเนื้อรกติดมาในกระบอกฉีดยาด้วย
ใครบ้างที่ควรตรวจ
– แม่ตั้งครรภ์ที่อายุตั้งแต่ 35 ปี ณ วันที่คลอด
– มีความเสียงสูงจากผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทารกดาวน์ซินโดรม
– เคยตั้งครรภ์ แล้วลูกมีความผิดปกติของโครโมโซม
เทคนิคดูแลทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงโรคร้าย
นอกจากการตรวจทั้ง 4 วิธีแล้ว ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถทำได้ แต่นอกจากการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญคือ การดูแลตัวเองของแม่ท้องเองด้วย
– กินวิตามินให้ครบ วิตามินคนท้อง ที่หมอให้มาควรกินอย่างสม่ำเสมอ แม่หลายคนกิน ๆ หยุด ๆ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ช่วงตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องการวิตามิน แร่ธาตุ เพิ่มขึ้นจากคนทั่วไป เช่น โฟลิค ธาตุเหล็ก
– กินให้ดี กินให้ครบ 5 หมู่ อาหารบำรุงแม่ท้อง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตอนตั้งครรภ์ ต้องกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ ต้องการสารอาหาร และวิตามินแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากขึ้น
– ทำใจให้สบาย ไม่เครียด ความเครียดส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในท้องได้ ถ้าแม่ไม่เครียด อารมณ์ดี จะช่วยให้ลูกแข็งแรง รวมทั้งพัฒนาการ สมอง สติปัญญา คลอดออกมาเป็นเด็กฉลาดด้วย
– ออกกำลังกายสม่ำสเมอ ถึงจะตั้งครรภ์ แต่แม่ท้องก็สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และการออกกำลังกายยังช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี ลดความเครียด้วย
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่