โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ใครได้ยินก็ต้องนึกว่า มีแต่คนแก่เท่านั้นที่เป็น แต่ความจริงแล้ว สาเหตุของข้อเข่าเสื่อมไม่ได้มาจากเรื่องของอายุเท่านั้น จึงไม่ใช่มีแต่คนแก่เท่านั้นที่เป็น แต่คนวัยกลางคน หรือแม้แต่คนหนุ่มสาว ก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน มาทำความรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อมกัน และดูสิว่า วิธีดูแลรักษาข้อเข่า มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ระวังและป้องกัน ก่อนที่จะต้องมาทรมานกับอาการปวดเข่ากันไปตลอดชีวิต
อาการ และสาเหตุของ “โรคข้อเข่าเสื่อม”
ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้เสียดสีกันเมื่อมีการเคลื่อนไหว เพราะเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะลุก นั่ง ยืน หรือเดิน ข้อต่อทุกส่วนจะทำงานสอดประสานกัน เมื่อกระดูกอ่อนฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ผุพังหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกัน จนเป็นผลให้เกิดการอักเสบ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อ จนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ อาการสำคัญที่มักพบในผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม คือ
- หัวเข่าฝืดตึง
- ปวด หรือเจ็บแปลบที่ข้อเข่าเมื่อเคลื่อนไหว
- เคลื่อนไหวได้ลำบาก ไม่สามารถเดินไปเหมือนปกติ
- เข่าผิดรูป ช่วงขามีการโก่งงอ
- มีเสียงดังกรอบแกรบที่เข่า ขณะเคลื่อนไหว
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้
- อายุ เกิดการเปลี่ยนแปลงตามวัย ทำให้กระดูกสึกหรอตามธรรมชาติ
- ข้อเข่า / หัวเข่า ได้รับแรงกระแทก หรือมีการใช้งานข้อเข่าเกินปกติเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังที่ก่อนให้เกิดแรงกระแทกที่เข่า อย่างการวิ่งมาราธอน
- ทำพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อข้อเข่าเป็นเวลานาน เช่น การนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยองๆ
- ประสบอุบัติเหตุที่ข้อเข่า เข่าหลุด กระดูกหัก หรือผิวกระดูกเคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน
- โรคประจำตัว เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ รวมถึงการมีอาการข้ออักเสบบ่อย ๆ ก็อาจทำให้ข้อสึกและเสื่อมเร็วขึ้นได้
วิธีดูแลรักษาข้อเข่า เพื่อไม่ให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- คุมน้ำหนักตัว
การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรืออ้วน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าไร ข้อต่าง ๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น โดยเฉพาะข้อเข่า สะโพก และหลัง ที่เป็นจุดรับน้ำหนักหลักของร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก จึงเป็นการถนอมข้อกระดูกทางหนึ่ง แต่ควรเลือกออกกำลังกาย ที่ข้อไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน หรือปั่นจักรยาน
- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ
การนั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ผุดลุกผุดนั่งบ่อย ๆ หรือต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ สามารถทำให้ข้อเข่าของคุณเสียได้ การยืนทิ้งน้ำหนักข้างเดียว ก็เป็นการสร้างภาระให้กับข้อข้างนั้นมากกว่าปกติเช่นเดียวกัน
การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น การนั่งหลังงอ และก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ติดต่อกันหลายชั่วโมง ก็ส่งผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอวด้วย คุณจึงควรลุกขึ้นมาเดิน หรือยืดแขนยืดขาเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อบ้าง
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อ
แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไป ก็สร้างภาระให้กับข้อกระดูกได้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถป้องกันได้ โดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื่องจากเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหวรุนแรง กล้ามเนื้อจะเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออกกำลังแทบทุกประเภท
- ใส่ใจเรื่องอาหารและยา
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อกระดูกได้ เช่น สเตียรอยด์แบบฉีด เพื่อลดการอักเสบของข้อ หากใช้บ่อย ๆ ก็สามารถทำให้ข้อเข่าเสียได้ และแม้ว่าสเตียรอยด์แบบทานจะไม่ส่งผลต่อข้อต่อโดยตรง แต่ก็มีผลต่อกระดูกโดยรวม เนื่องจากจะทำให้กระดูกบางลง
ในส่วนของอาหารนั้น นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรีสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัวแล้ว อาหารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยสร้างคอลลาเจน สามารถช่วยชะลอการลุกลามของข้อเสื่อมได้เล็กน้อย
การรักษาโรคข้อเสื่อม
เมื่อเกิดอาการข้อเสื่อมขึ้นแล้ว ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคุณอย่างยิ่ง นอกเหนือไปจากการป้องกัน การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของโรค และหาแนวทางการป้องกันและรักษาตามอาการ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเช่นกัน
- ในกรณีที่ปวดไม่รุนแรงมาก
ในเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อข้อเข่า เช่น จากนั่งพื้น นั่งยอง ๆ พับเพียบ หรือคุกเข่า ก็ให้เปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ ลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงและช่วยรับน้ำหนักข้อเข่าให้ดีขึ้น ร่วมกับการประคบอุ่น ประคบร้อน
อาจมีการใช้ยาระงับปวดอย่างพาราเซตามอล หรือยาบำรุงกระดูกอ่อน เช่น กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน หรือ ยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน ร่วมด้วย แต่จะไม่แนะนำให้ทานยาแก้อักเสบติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างแผลในกระเพาะอาหาร หรือสงผลต่อการทำงานของไต
- ในกรณีที่ปวดรุนแรง
หากผู้ป่วยมีอาการข้อเสื่อมที่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัด หรือเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยยาฉีดเข้าข้อเข่า ปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ
- สเตียรอยด์ เป็นการใช้ยาฉีดเฉพาะที่กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาลดอักเสบชนิดหนึ่ง เมื่อฉีดตรงข้อเข่า จะช่วยลดการอักเสบเฉพาะจุด แต่ไม่นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เนื่องจากถ้าใช้บ่อย จะส่งผลให้ข้อเข่าสึกเร็วขึ้น
- น้ำไขข้อเทียม เมื่อเข่าเริ่มเสื่อม น้ำหล่อลื่นที่ปกติเคยมีก็จะเสื่อมสภาพ มีความหนืดน้อยลง ทำให้กระดูกเกิดการเสียดสี และเสียงต่อการเกิดไขข้ออักเสบได้ การฉีดน้ำข้อเทียม จะเป็นการช่วยเพิ่มการหล่อลื่นของข้อต่อให้ดีขึ้น แต่น้ำไขข้อเทียมนี้ จะใช้ได้ผลเฉพาะในผู้ที่มีอาการเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้นหรือปานกลางเท่านั้น
ข้อเสื่อม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
มีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า โรคข้อเสื่อม มีสาเหตุมาจากภาวะความผิดปกติที่ข้อต่อ มากกว่าเป็นการสึกหรอตามวัย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บริเวณกระดูกอ่อนข้อต่อและกระดูก เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน หากสามารถตรวจพบความผิดปกติ ก็สามารถหาวิธีการป้องกันหรือรักษาข้อเสื่อมได้
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า โรคข้อเสื่อมมีสาเหตุถมาจากพันธุกรรมถึง 60% แพทย์จึงอาจสามารถคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ความรู้และแนะนำ วิธีดูแลรักษาข้อเข่า และการป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี