พาราเซตามอล หรือ ยาพารา ฯ เป็นยาแก้ปวดที่รู้จักกันดี แต่กลับมีหลายคนบอกกันว่าเป็นยาอันตราย เรื่องจริงเป็นยังไงกันแน่ จะกินยาพาราให้ปลอดภัยต้องทำยังไง GedGoodLife มาไขปัญหาให้แล้ว
พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ยาพารา ฯ เป็นยาแก้ปวดที่รู้จักกันดี เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านต้องมี ทุกคนต้องเคยกิน พาราเซตามอล หรือ ยาพารา ฯ มีสรรพคุณในการ แก้ปวด แก้ไข้ ลดไข้หวัด หาซื้อง่าย ไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
นอกจากนี้พาราเซตามอล ยังผสมอยู่ใน ยาแก้ไขหวัด ซึ่งใช้ รักษาไข้หวัด เพราะมีตัวยาพาราเซตามอลแก้ปวด และ ยาลดน้ำมูกผสมอยู่ด้วย รวมทั้ง ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ก็มียาพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วย
การออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล
– แก้ปวด กลไกการออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดของพาราเซตามอลนั้น เกิดจาก
ความสามารถในการยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ในระบบประสาท
ส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย
– ลดไข้ กลไกการออกฤทธิ์ในการลดไข้ เกิดจากความสามารถในการยับยั้งศูนย์ควบคุมเกี่ยวกับอุณหภูมิ ที่บริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamic heatregulating center)
รู้หรือไม่ ? ยาพารา ฯ เป็นยาที่ทุกคนเลือกใช้มากที่สุด
ในปี 2553 คนไทยกินยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณประมาณ 47,000 ล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 128 ล้านเม็ดต่อวัน เพื่อใช้บรรเทาอาการ ปวดหัว ตัวร้อน ลดไข้ แก้ไข้หวัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย และยาพาราเซตามอลก็เป็นอันดับ 1 ที่คนเลือกใช้
ยาพาราเซตามอล อันตรายจริงหรือ ?
ยาพารา ฯ โดยปกติ เป็นยาที่ปลอดภัย ถือว่าเป็น ยาลดไข้ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน บางคนกินแก้ปวด รักษาไข้หวัด ป้องกันหวัด ข้อดีของยาพาราเซตามอล คือ ไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่มีหลายคนบอกกันว่า ยาพารา ฯ นั้นอันตราย ซึ่งอันตราย หรือ ผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอลนั้น มักเกิดขึ้นจากการใช้ยาแบบผิด ๆ จนส่งผลทำให้เกิดความเสียหายกับ “ตับ” ได้นั่นเอง
เป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity) โดยปกติยาจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ แล้วเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ไม่มีฤทธิ์ แล้วขับออกทางปัสสาวะทางไตเป็นหลัก แต่หากได้รับยาปริมาณสูงเกินไป หรือได้รับยาเป็นเวลานาน ตัวยาจะไปสะสมอยู่ที่ตับ แล้วเกิดการอิ่มตัว ไม่สามารถกำจัดยาออกไปได้ทัน ทำให้เซลล์ตับตาย ซึ่งผลให้เกิด ภาวะตับวายอย่างเฉียบพลัน (acute liver failure) ได้
การแก้พิษของพาราเซตามอล
หากพบว่าในช่วงที่กินยาพาราเซตามอลเกิน 24 ชั่วโมง มีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย เจ็บบริเวณตับ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาจได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด ซึ่งทำให้เกิดเป็นพิษต่อตับ แพทย์จะให้ยาต้านพิษ คือ N-acetylcysteine (NAC) ซึ่งเป็นยาต้านพิษ (Antidote) ซึ่งมีทั้งแบบกิน และแบบฉีด
สารพัดปัญหาของการใช้ ยาพารา ฯ แบบผิดวิธี
อันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกินยาพาราเซตามอล มักเป็นผลมาจากการใช้ยาแบบผิด ๆ เอง ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มีดังนี้
– กินยาพารา ฯ ต่อเนื่องนานเกินไป
การกินยาพารา พร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง
– กินยาพารา ฯ เกินขนาด
การกินยาพารา ต่อครั้ง ไม่ควรกินเกิน 1-2 เม็ด โดยคำนวณได้จากน้ำหนักตัว โดยแต่ละครั้งต้องกินยาไม่เกิน 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ซึ่งหากใช้ยาเกินขนาด ต่อเนื่องนาน ๆ จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อตับ
– กินยาพารา ฯ ทั้งที่ไม่มีอาการ
หลายคนเห็นยาพารา ฯ เป็นยาครอบจักรวาล กลัวจะป่วย เป็นไข้หวัด ก็รีบกินยาพารา ฯ ดักไว้ก่อน เพื่อป้องกัน ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่วยในการรักษา และยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้
– กินยาพารา ฯ กับแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์มีพิษสะสมต่อตับในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ตับเป็นอวัยวะหลักในการสลายยาพาราเซตามอลออกจากร่างกาย ซึ่งหากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก พร้อมกับยาพาราเซตามอล อาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยควรลดขนาดยาพาราพารา ลง เพื่อให้ตับไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
การกิน ยาพารา ฯ ที่ถูกต้อง
– กินยาพารา ตามน้ำหนักตัว ในการกินยา 1 ครั้ง ให้น้ำหนักตัว คูณด้วย 10 หรือ 15 จะได้ขนาดยาเป็นมิลลิกรัมที่เหมาะกับตัวเรา (แต่ต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง) เช่น ถ้าคุณน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ขนาดยาที่เหมาะคือ (50 x 10) เท่ากับ 500 มิลลิกรัม หรือ (50 x 15) เท่ากับ 750 มิลลิกรัม
– กินไม่เกินวันละ 8 เม็ด การกินยาพารา ถึงคำนวณตามน้ำหนักแล้ว ก็ควรกินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4,000 มิลลิกรัม/วัน หากกินมากเกินไป ไม่ได้ช่วยให้หายเร็ว แต่เสี่ยงต่อตับวายมาก
– ไม่ต้องกินยาพารา ดักไว้ก่อน หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยาพาราเซตามอล
– ถ้าลืม กินยาพารา ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
– ไม่กินยาพารา กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงยาบางชนิดด้วย เช่น ยารักษาวัณโรค ยากันชัก เพราะอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น
– ไม่ควรกิน ยาพารา ติดต่อกันเกิน 5 วัน หากจำเป็นต้องใช้ยานานกว่านี้ ควรปรึกษาแพทย์
ขนาดการ กินยาพารา ฯ ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่
– คนทั่วไปไม่ควร กินยาพารา ฯ เกิน 4,000 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยรวมถึงยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลอยู่ด้วยเช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาบรรเทาหวัด เป็นต้น
– สำหรับคนตัวเล็ก ไม่ควรกินเกิน 3,000-3,250 มิลลิกรัม ต่อวัน
– สำหรับผู้ที่ต้องกินต่อเนื่องระยะยาว ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยทั่วไปไม่เกิน 2,500-2,600 มิลลิกรัม ต่อวัน
– ผู้ป่วยโรคตับ หรือดื่มสุราเป็นประจำ ต้องกินยาพารา ฯ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน
รู้อย่างนี้แล้ว อาจทำให้คลายกังวลถึงอันตรายของยาพาราเซตามอลลงได้บ้าง ขอเพียงระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี ก็ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด
อ้างอิง : https://www.thaihealth.or.th/
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี