วิธีดูแลแม่หลังคลอด ในต่างประเทศมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “Postpartum Care” ซึ่งช่วงหลังคลอดเป็นช่วงเวลา ประมาณ 6 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงเวลาที่แม่หลังคลอดต้องปรับตัวกับการเป็น แม่มือใหม่ ไปพร้อม ๆ กับการดูแลตัวเองให้ฟื้นตัว เพื่อเลี้ยงลูก หรือการดูแลตัวเองเพื่อกลับไปทำงานได้เร็วที่สุด
7 วิธีดูแลแม่หลังคลอด ฟื้นตัวเร็ว น้ำนมไหลดี
1. เดินไปเดินมา ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย
ในแม่ที่คลอดธรรมชาติ หลังคลอดควรขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกาย และเดินไปเดินมาให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ กลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้น้ำคาวปลาไหลดีกว่าการอยู่ในท่านอนตลอดเวลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้ดีขึ้น ลดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ถ้าหากยังมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ก็ให้พักผ่อนก่อน
2. หาเวลางีบหลับ
หลังคลอดร่างกายยังอ่อนเพลียจากการคลอด ไหนจะต้องดูแลลูกที่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่เป็นเวลาด้วย ดังนั้นหวังจะได้หลับยาว ๆ ตอนกลางคืนคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหลังคลอด ต้องพยายามหาเวลางีบหลับ เช่น ระหว่างที่ลูกหลับ แม่ก็งีบหลับไปด้วย แค่ช่วงสั้น ๆ ก็ยังดี อาจจะให้คุณพ่อช่วยดูแลเรื่องงานบ้าน หรือดูแลลูกในตอนกลางคืนบ้าง ในระหว่างที่แม่ขอหลับ เพราะหากไม่ได้นอนนาน ๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลียสะสม ไม่ฟื้นตัวสักที
3. อยู่ไฟหลังคลอด
การอยู่ไฟหลังคลอดในสมัยก่อนเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว มดลูกเข้าอู่ ขับน้ำคาวปลา ซึ่งมักทำกับแม่ที่คลอดเอง คลอดธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน ถ้าผ่าคลอดอาจจะไม่สามารถอยู่ไฟได้ทันที ต้องทิ้งช่วงให้แผลหายสนิทดีก่อน ซึ่งการอยู่ไฟในปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนทันสมัยมากขึ้น เน้นให้ร่างกายผ่อนคลาย คล้ายการทำสปา อบสมุนไพร ช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือด การนวดกระตุ้นน้ำนม เพิ่มน้ำนมไปด้วย
4. ดูแลแผล
ดูแลความสะอาดร่างกาย การรักษาความสะอาดของร่างกาย ควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรแช่ในอ่างน้ำ เพราะอาจทำให้เชื้อโรคอาจผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกทำให้เกิดการติดเชื้อได้
สำหรับแม่ที่ผ่าคลอด การดูแลแผลฝีเย็บ ให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกอุ่น ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างแผลเป็นพิเศษแต่อย่างใด เมื่อล้างเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีซับให้แห้งก็เพียงพอแล้ว โดนน้ำได้ระหว่างอาบน้ำ แต่ห้ามใช้ฝักบัวฉีดที่แผลโดยตรง อาจทำให้แผลฉีกขาดได้ พยายามซับแผลให้แห้ง หลังจากนั้น 5-6 วันแผลก็มักจะติดกันและแห้งดี
5. ออกกำลังกายเบา ๆ
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะหากออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่ก่อนคลอด แต่หลังคลอด อย่าเพิ่งออกกำลังกายหนักเกินไป โดยเฉพาะหากแผลฝีเย็บยังไม่แห้งสนิทดี
ให้ออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น เดินช้า ๆ หรือ การออกกำลังกายที่ช่วยกระชับกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น Kegel’s exercise หรือ การขมิบช่องคลอด ทำได้โดโดย ให้ใช้วิธีขมิบเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้ 5 วินาที และปล่อย 5 วินาที ทำสลับกันไป 4-5 รอบ เมื่อเริ่มคุ้นเคยแล้วอาจเปลี่ยนมาขมิบเกร็งกล้ามเนื้อคราวละ 10 วินาที และปล่อย 10 วินาทีก็ได้
6. ทำใจให้สบาย
ไม่เครียด วิตกกังวล เชื่อว่าหลังคลอด โดยเฉพาะแม่มือใหม่คงเกิดความเครียด วิตกกังวลขึ้นว่าจะเริ่มอะไรยังไง จะเลี้ยงลูกได้ไหม น้ำนมแม่จะมีพอสำหรับลูกไหม หลายคนมีภาวะที่เรียกว่า ซึมเศร้าหลังคลอด ได้ เป็นช่วงที่แม่หลังคลอด ต้องพยายามผ่อนคลาย พยายามเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กดดันจากเสียงคนรอบข้างมากเกินไป เมื่อสภาพจิตใจปลอดโปร่ง ก็ส่งผลให้ร่างกายกลับมาสดใส ฟื้นตัวได้รวดเร็ว น้ำนมไหลดีขึ้น
7. กินอาหารดี บำรุงร่างกาย
ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานเพียงพอ เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ โปรตีน จากเนื้อสัตว์ จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ธาตุเหล็ก จากเครื่องในสัตว์ ตับ เนื้อแดง ช่วยบำรุงเลือด เพราะหลังคลอด จะเสียเลือดไปในระหว่างคลอด ทำให้แม่อาจเกิดภาวะโลหิตจาง หรืออ่อนเพลียได้ สำหรับแม่ที่ต้องการกระตุ้นน้ำนม มีความเชื่อว่า อาหารบางชนิดก็ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ เช่น หัวปลี น้ำขิง แกงเลียง ตำลึง เป็นต้น
รู้หรือไม่! คุณแม่เสี่ยง COVID-19 ก็ให้นมลูกได้นะ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ! แม่หลังคลอดที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อ COVID-19 สามารถให้นมลูกได้
แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด พร้อมแนะผู้บริจาคปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3c9oEYU
เรื่องต้องรู้! ของแม่หลังคลอด
– กินอาหารอ่อน ๆ ป้องกันแผลแยก ระยะแรกหลังคลอด การทำงานของระบบทางเดินอาหารยังไม่ดีนัก ลำไส้เคลื่อนไหวช้าอาจเป็นสาเหตุให้ท้องผูกได้ อาหารในระยะนี้จึงควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย แต่ให้พลังงานสูง และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันอุจจาระแข็งซึ่งทำให้ถ่ายลำบาก ต้องเบ่ง มีผลทำให้เจ็บแผลฝีเย็บหรือแผลแยกได้
– เลี่ยงอาหารบางอย่าง ระหว่างให้นมลูก อาหารบางอย่างกินมากเกินไป อาจจะกระตุ้นให้ลูกแพ้ได้ผ่านทางน้ำนมแม่ เช่น นมวัว แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล หากกำลังให้นมลูก ไม่ควรกินอาหารเหล่านี้มากเกินไป
– กินวิตามินเสริมคนท้อง วิตามินเสริมที่กินตั้งแต่ตอนท้องบางชนิด บางครั้งยังสามารถกินได้ไปจนถึงหลังคลอด แต่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเมื่อต้องกินยา ขณะให้นมลูก เพราะยาบางชนิดอาจส่งผ่านทางน้ำนมแม่ และมีผลกระทบกับลูกได้
หลังคลอด ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปหาหมอ
- มีไข้ ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว
- มีเลือดสดๆ ออกทางช่องคลอดมาก
- น้ำคาวปลามีสีแดงไม่จางลง ออกจำนวนมากหรือมีกลิ่นเหม็นเน่า
- เต้านมอักเสบ บวม แดง แข็งเป้นก้อน กดเจ็บ
- น่องบวมแดง กดเจ็บ
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบขัดเวลาปัสสาวะ
- หลังคลอด 2 สัปดาห์แล้วยังคลำได้ก้อนทางหน้าท้อง